โรงงานไม้ยางใต้ ร้องรัฐขอนำเข้าแรงงานอินเดีย-ปากีสถาน

โรงงานไม้ยางพาราใต้ร้องขาดแคลนแรงงานต่างด้าวหนัก วอนนำเข้าแรงงานอินเดีย-ปากีสถานทดแทนแรงงานเมียนมา-ลาว-กัมพูชาลดลง

นายสุทิน พรชัยสุรีย์ กรรมการผู้จัดการ 3 โรงงานผลิตไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งส่งออกรายใหญ่ในภาคใต้ บริษัท เขามหาชัยพาราวู้ด จำกัด จ.นครศรีธรรมราช บริษัท พาราโดม จ.กระบี่

และบริษัท เค.เอส.พี.พาราวู้ด จ.สตูล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งประสบปัญหาหลายด้านตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด

โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพราะติดปัญหาการห้ามโยกย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัด และแรงงานต่างด้าวบางส่วนเดินทางกลับบ้าน ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตภายใน 3 โรงงานอย่างมาก

“ปกติ 3 โรงงานใน 3 จังหวัด แบ่งเป็น 1.บริษัท เขามหาชัย พาราวู้ดจ.นครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิต 100 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน 2.บริษัท พาราโดม จ.กระบี่ กำลังการผลิต 150 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน

3.บริษัท เค.เอส.พี.พาราวู้ด จ.สตูล กำลังการผลิต 50 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน มีพนักงานรวมกัน 1,000 คน แบ่งเป็นคนไทย 600 คน แรงงานเมียนมา 400 คน ซึ่งแรงงานเมียนมาส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เลื่อยไม้

ซึ่งเป็นงานที่แรงงานไทยไม่ทำ หากโรงงานในจังหวัดใดมีไม้ยางพาราเข้ามามาก จะมีการโยกย้ายแรงงานจากอีก 2 โรงงานไปช่วย แต่ตอนนี้โยกย้ายข้ามเขตจังหวัดไม่ได้

เลยทำให้กระทบกับการผลิตภายในโรงงาน ปกติก่อนโควิดส่งออกอยู่ 400 ตู้ เคยพีกสุด 500 ตู้ ปัจจุบันเหลือ 300 ตู้”

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีในหลายธุรกิจทั่วประเทศ แต่รัฐบาลให้นำเข้าแรงงานเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมากัมพูชา ลาว ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอ รัฐบาลไทยควรทำแบบประเทศมาเลเซีย

โดยอนุญาตให้นำแรงงานอินเดียและปากีสถานเข้ามาได้ เพราะ 2 ประเทศนี้แรงงานพูดภาษาอังกฤษได้ สามารถสื่อสารภาษากันรู้เรื่อง เป็นแรงงานมีคุณภาพ และราคาค่าแรงถูกกว่าแรงงานเมียนมา

แต่ประเทศไทยไม่ให้นำเข้ามา บอกเป็นนโยบายเรื่องความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำเรื่องขอให้นำเข้าแรงงานจากอินเดียและปากีสถานเข้ามาตลอด แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล บอกเป็นเรื่องความมั่นคง

นายสุทินกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การที่รัฐบาลปรับนโยบายจากที่เคยให้งบประมาณสนับสนุนเจ้าของสวนยางตัดโค่นต้นยางพาราอัตราไร่ละ 16,000 บาท รวม 4 แสนไร่ต่อปี

แต่ปีนี้รัฐบาลงบประมาณไม่พอ จึงกำหนดให้เหลือ 2 แสนไร่ต่อปี ทำให้วัตถุดิบหายไปครึ่งหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไม้ยางพาราต้องแย่งกันรับซื้อไม้ยางในตลาด ส่งผลให้เพิ่มต้นทุนการผลิต

ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือไปยังการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ทบทวนปรับเพิ่มงบประมาณ

จำนวนไม้ยางพาราที่ลดลง ทำให้โรงงานแปรรูปไม้ยางต้องแย่งกันซื้อวัตถุดิบ ทำให้ราคาไม้ยางในตลาดไม่ตกลงไปมาก ทั้งที่ตอนนี้ผู้นำเข้าในตลาดหลักจีนได้ชะลอการสั่งซื้อไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งจากประเทศไทย

เนื่องจากรัฐบาลจีนมีคำสั่งให้แต่ละสินค้าลดกำลังการผลิตลง โดยเฉพาะโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราจากที่ผลิต 7 วันต่อสัปดาห์ลดลงมาเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า

เนื่องจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศจีนไม่เพียงพอ ทำให้ราคาส่งออกไม้ยางปรับตัวลดลง ยกตัวอย่าง ไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง ขนาดความหนา 28 มิลลิเมตร ลดจาก 720 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตร เหลือ 680-690 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตร ราคาลดลงไปประมาณ 30-40 เหรียญ

“ฝั่งผู้นำเข้าจีนก็กดราคาลงเช้า-เย็น แต่เราปรับราคาในประเทศไม่ลง ราคาไม้รวม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้วขึ้นไป อยู่ที่ 1.80 ต่อกิโลกรัม หรือ 1,800 บาทต่อตัน

และมีแนวโน้มราคาจะปรับลงเหลือ 1.70 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 1,700 บาทต่อตัน เราก็กระอักเลือดพอสมควร เราต้องซื้อแพงขายถูก เราในฐานะผู้ส่งออกอยากไปคุยกับชาวสวน


ตอนนี้โรงเลื่อยต้องเผชิญสถานการณ์ส่งออกที่ชะลอตัว หากใครสายป่านยาวก็อยู่ได้ ใครไม่มีสายป่านก็ต้องชะลอการส่งออกไปก่อน ซึ่งทางฝั่งผู้นำเข้ายังบอกไม่ได้ว่า โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในจีนจะชะลอการผลิตไปนานแค่ไหน”