ปลัด มท. ตรวจน้ำท่วมจันทบุรี พบ 6 อำเภอ พืชสวนเสียหายเกือบ 4 พันไร่

มท. น้ำท่วม จันทบุรี

ปลัด มท. ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม จ.จันทบุรี พบประสบภัย 6 อำเภอ กระทบ 5,777 ครัวเรือน พืชสวนเสียหาย 3,640 ไร่ พืชไร่ 550 ไร่ สั่งจังหวัดเร่งช่วยเหลือ

วันที่ 16 ตุลาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดจันทบุรีตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัย และมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในจังหวัดจันทบุรี โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี

พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัดจันทบุรี นายอำเภอทุกอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

โดยได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่ส่วนใหญ่คลี่คลายแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงเยียวยา สำรวจความเสียหายก่อนช่วยเหลือฟื้นฟู ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ปภ.จังหวัดจันทบุรีได้สรุปประเมินสถานการณ์เบื้องต้นมีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 6 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ท่าใหม่ อ.ขลุง อ.มะขาม อ. แหลมสิงห์ และ อ.เขาคิชฌกูฏ รวมจำนวน 44 ตำบล 251 หมู่บ้าน 11 ชุมชน ได้รับผลกระทบ 5,777 ครัวเรือน 26,316 คน

สถานที่ราชการได้รับผลกระทบ 2 แห่ง วัด 1 แห่ง ถนนชำรุด 256 สาย ฝายน้ำชำรุด 5 แห่ง สะพานชำรุด 3 แห่ง เกิดดินโคลนสไลด์ 2 จุด พืชสวนได้รับผลกระทบ 3,640 ไร่ พืชไร่ 550 ไร่ สัตว์เลี้ยง วัวได้รับผลกระทบต้องขนย้ายออกจากฟาร์ม 30 ตัว บ่อปลาเสียหาย 2 บ่อ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการและติดตามพร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งให้ความช่วยเหลือ และลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงเวลาเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน คนไทยเรียกกันว่า “ปลายฝนต้นหนาว” จึงขอให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกท่านอย่าได้ประมาท ช่วยกันติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ ฟังข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านทางหอกระจายข่าว ทีวี และเตรียมพร้อมยกข้าวของเครื่องใช้ที่จะต้องเก็บไว้ในที่สูง”

“ขณะเดียวกันต้องดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่จะมากับน้ำท่วมและภัยจากอุบัติเหตุ ต้องระมัดระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และรักษาสุขอนามัย สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนบ้านในชุมชน อย่าประมาท ต้องป้องกันไว้ก่อน”

หากต้องการขอรับความช่วยเหลือจากสถานการณ์อุทกภัย ติดต่อสายด่วนนิรภัย 1784 หากเจ็บไข้ได้ป่วยกะทันหันหรือเจอคนประสบอุบัติเหตุ โทร. 1669 และหากมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ถูกทวงหนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โทร. 1567 ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที