“เฮือนหลวงพระบาง” คึกคักรับนักท่องเที่ยวแห่เที่ยวเชียงคาน

“เฮือนหลวงพระบาง” ร้านอาหารเมืองเชียงคาน จ.เลย ชี้สถานการณ์คึกหลังปลดล็อกมาตรการคุมโควิด-19 ตั้งแต่1 กันยายน 2564 ระบุลูกค้ากลับมานับร้อยคนต่อวัน ฟื้นรายได้กว่า 50% คาดทิศทางผู้ประกอบการธุรกิจและการท่องเที่ยวดีขึ้นในช่วงไฮซีซั่นเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

นายธเนศ หาญถนอม เจ้าของร้านอาหารเฮือนหลวงพระบาง หนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหาร จ.เลย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ของร้านอาหารเฮือนหลวงพระบางดีขึ้นตามลำดับ โดยมาจากลูกค้าที่ได้รับการฉีดแล้วเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทั้งในกลุ่มวันรุ่น คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว รวมไปถึงผู้สูงอายุ

จากสถานการณ์ช่วงเกิดการระบาดโควิดที่ได้รับผลกระทบและลูกค้าไม่ถึง 30 คน/วัน รายได้ไม่เกิน 10% ปัจจุบันเริ่มมีลูกค้ามานั่งที่ร้านและเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 100 คน/วัน

ขณะที่การรับลูกค้าเต็มอัตราอยู่ที่ 500-600 คน/วัน แบ่งเป็น 150 ที่นั่งต่อรอบที่สามารถรับคนได้ รายได้ปกติ 1-2 ล้านบาท/เดือน ก็คาดว่าฟื้นกลับมากว่า 50% แล้ว

ทั้งนี้ ช่วงที่ต้องชะลอกิจการไปตามสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มมีโควิดระบาดรอบ 1-รอบที่ 4 ทางร้านได้ปรับตัวทำดีลิเวอรี่แต่ชุมชน อ.เชียงคาน อาศัยการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งการทำดีลิเวอรี่นั้นไม่ตอบโจทย์ สร้างรายได้ไม่มากนัก

ฉะนั้นทางร้านจึงเตรียมพร้อมและให้ความรู้พัฒนาบุคลากรตลอดไม่ได้ปิดร้านหรือหยุดความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ เปิดตัวไปตามมาตรการที่รัฐบาลผ่อนคลายมากขึ้นอย่างระมัดระวัง ด้วยความพร้อมเกือบเต็มร้อย เนื่องจากกราฟการท่องเที่ยวของเชียงคานน่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย

ลูกค้าน่าจะมีมากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติที่เคยมีมา เพราะผู้คนจะเริ่มออกนอกบ้านและเดินทางมาท่องเที่ยวมากกว่าปกติ หลังจากถูกกักตัวและจำกัดพื้นที่มานาน

“ในมุมมองของผู้ประกอบการในเรียกได้ว่าตอนนี้มีปัจจัยบวกอย่างมาก นอกจากมีการปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ แล้วยังมีฤดูกาลเป็นตัวส่งเสริม ช่วยเร่งการฟื้นธุรกิจและเศรษฐกิจให้กลับมา

เพราะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ แม้ว่าในจังหวัดหรือภายในอำเภอต่าง ๆ จะมีคลัสเตอร์การติดเชื้อโควิด-19 อยู่บ้าง แต่อยู่ในวงจำกัดขนาดเล็ก ไม่เป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจมากนัก”

นายธเนศเปิดเผยว่า เฮือนหลวงพระบางเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นของเชียงคานที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือน หรือมากินอาหารสักมื้อในแผนการท่องเที่ยวของลูกค้า

ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นและเป็นวัฒนธรรมการกินของคนเชียงคาน ที่เปิดมานาน 10 กว่าปีแล้ว โดยสูตรอาหารเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นย่าที่ สปป.ลาว ก่อนอพยพมายังเชียงคาน สืบทอดมายังรุ่นแม่ถึงรุ่นลูก ถือว่าเป็นเจ้าแรกและต้นตำหรับของเมืองเชียงคาน

“เราหวังว่าหลังโควิดอยากเผยแพร่อาหารพื้นเมืองเชียงคานหรืออาหารจากหลวงพระบางไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย หรือเมืองที่มีบริบทการท่องเที่ยวคล้ายคลึงกับอำเภอเชียงคาน

ในอีกทางหนึ่งอาจจะไปปักหมุดในต่างประเทศ มองไว้ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟจากจีนตอนใต้ไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในเขตสิบสองปันนา หรือเมืองเชียงตุง เมียนมา ซึ่งเราถือว่าเป็น SMEs เป้าหมายยังต้องไปศึกษาพื้นที่และความร่วมมือจากคนในพื้นด้วย”


อย่างไรก็ตาม แผนที่วางไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ยังขาดแพสชั่นในการลงทุน แม้อาจจะประสบความสำเร็จได้กำไร แต่ชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับอาหารไทยได้ง่ายกว่าคนไทยที่ทำอาหารกินไทยกินเองได้ทุกบ้านอยู่แล้ว