สุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำกระเสียวล้นสปิลเวย์ในรอบ 10 ปี 10 อำเภอน่าห่วง

สุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำกระเสียวล้นสปิลเวย์ในรอบ 10 ปี 10 อำเภอน่าห่วง
ภาพจากเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุพรรณบุรี

อ่างเก็บน้ำกระเสียว สุพรรณบุรี ล้นสปิลเวย์ในรอบ 10 ปี ผู้ว่าฯสั่งประชาชนติดตามข่าวสาร เก็บของขึ้นที่สูง

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุพรรณบุรี แจ้งเตือน ประชาชนเนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำกระเสียว ล้นสปิลเวย์ในรอบ 10 ปี ระบุว่า

ศูนย์บัญชาการอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม จ.สุพรรณบุรี ได้ประกาศแจ้งเตือนการระบายน้ำออกจากเขื่อนกระเสียว อ.ด่านช้าง จังหวัด สุพรรณบุรี โดยระบุว่า ปัจจุบัน ได้มีการพร่องน้ำด้วยการระบายน้ำออก 74 ลบม./วินาที หรือ วันละ 6.5 ล้าน ลบม. และอาจมีการระบายเพิ่มขึ้นส่งผลให้หลายพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับผลกระทบ คือ

  • ตลอดสองฝั่งลำห้วยกะเสียว
  • คลองกระเสียว -ท่าระกำ
  • อ.หนองหญ้าไซ
  • อ.เดิมบางนางบวช
  • อ.สามชุก
  • อ.ศรีประจันต์
  • อ.เมือง
  • อ.บางปลาม้า
  • อ.สองพี่น้อง
  • อ.อู่ทอง

โดยเฉพาะ อ.สองพี่น้อง น้ำคลองสองพี่น้องล้นทะลักเข้าท่วมวัดดงตาล โรงเรียนวัดดงตาล รถยนต์ของชาวบ้านและรถยนต์ของวัดเกือบ 10 คันถูกน้ำท่วมเกือบทั้งคันบ้านเรือนชาวบ้านชุมชนบ้านดงตาล ตำบลบางพลับ และบ้านเรือนประชาชน หมู่ 3 ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง ถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร

นอกจากพื้นที่ อ.สองพี่น้องแล้ว ยังมีพื้นที่ ต.กระจัน ต.เจดีย์ ต.ยุ้งทะลาย ต.ดอนมะเกลือ อ.อู่ทอง ต.สวนแตง อ.เมืองสุพรรณบุรี ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนอยู่ สูงกว่าถนนพระพันวษา ประมาณ 54 ซม.ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเขื่อนกระเสียว ที่ อ.ด่านช้าง มีน้ำเกินความจุจนล้นสปิลเวย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี จึงต้องเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน อีกทั้งยังต้องรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ประกอบกับ อุตุนิยมวิทยาจังหวัดสุพรรณบุรีรายงานว่า ยังคงมีฝนตกหนักในพื้นจังหวัดสุพรรณบุรีต่อเนื่องไปจนถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม ที่ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จนเข้าสู่ภาวะวิกฤตหลายพื้นที่อยู่ในขณะนี้

นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนโดยขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เคลื่อนย้ายทรัพย์สินไว้บนที่สูงเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

พร้อมกับได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย จำนวน 10 อำเภอ 2 เทศบาล 106 ตำบล 28 ชุมชน 934 หมู่บ้าน 38,004 ครัวเรือน 70,620 คน โดยเน้นไปที่ เรื่องเร่งด่วนสำคัญคือ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ สุขาลอยน้ำ ถุงยังชีพ และการสำรวจความเสียหาย ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด