ตราดดัน “บ้านท่าเส้น” จุดผ่านแดนถาวร ปลุก เศรษฐกิจการค้า-ท่องเที่ยวหมื่นล้าน

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ ทวิภาคี (The Joint Commission : JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 และมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิด-ระงับ

หรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ ครั้งที่ 2/2560 สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ได้เห็นชอบตรงกันในการยกระดับ “ช่องทางธรรมชาติบ้านท่าเส้น” ขึ้นเป็น “จุดผ่านแดนถาวร”

และให้จังหวัดตราดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาผลกระทบเรื่องเขตแดนที่มีปัญหา มอบฝ่ายความมั่นคงประสานกัมพูชาเพื่อยุติการรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย

สมช.ชี้ติดปมล้ำเขตแดน

กว่า 4 ปีแล้วที่ ครม.มีมติให้ยกระดับช่องทางธรรมชาติบ้านท่าเส้นขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร แต่มีปัญหาสำคัญคือการก่อสร้างรุกล้ำเขตแดนไทยระยะ 300 เมตรจากสันปันน้ำ

ขัดกับข้อกำหนดของ สมช. ประเด็นปัญหานี้ต้องรอการพิจารณาจากการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission : JBC) ไทย-กัมพูชา ที่ยังไม่มีกำหนดการประชุม

ขณะที่ จ.ตราดได้เตรียมความพร้อม ก่อสร้างถนน 4 เลนเชื่อมต่อด่านท่าเส้นที่ชายแดนระยะทาง 2 กิโลเมตรเสร็จเมื่อต้นปี 2564 ด้วยงบประมาณ 52 ล้านบาท เหลือเพียงระยะห่างที่เป็นเขตพรมแดนที่ไม่มีผู้ครอบครอง (no mans’ land) 300 เมตร

และมีการออกแบบผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ขนาด 63 ไร่ เพื่อการบริหารจัดการด้านพิธีศุลกากรและตลาดการค้าชายแดน ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุมัติใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จ.ตราด (กรอ.จังหวัด) มีมติให้จังหวัดตราดเสนอให้กระทรวงมหาดไทยผลักดันเรื่องนี้เร่งด่วน

ปลุกการค้า-ท่องเที่ยวหมื่นล้าน

นางวิยะดา ซวง รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ศักยภาพด่านท่าเส้นมีความเหมาะสมทั้งการค้า การท่องเที่ยว อยู่ในเส้นทางการขนส่งเชื่อมต่อกันได้ทั้ง จ.โพธิสัตว์ พระตะบอง เกาะกงทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำ

ด้านท่องเที่ยวด่านทมอดา เชื่อมโยงเส้นทางจาก จ.โพธิสัตว์-ทะเลสาบน้ำจืด (โตนเลสาบ) ระยะทาง 200 กิโลเมตรเศษ และจ.โพธิสัตว์เชื่อมต่อพนมเปญ ระยะทาง 360 กิโลเมตร

หรือเส้นทางทมอดา-พระตะบอง ระยะทาง 109 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับเสียมเรียบ 220 กิโลเมตร ซึ่ง จ.โพธิสัตว์เป็นจังหวัดท่องเที่ยวอันดับ 6 ของกัมพูชา มีนักท่องเที่ยวปีละ 400,000 คนเศษ

ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามา จ.ตราด 10% หรือ 100,000 คน สามารถสร้างรายได้ 300-500 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าสินค้าที่ซื้อกลับนับล้านบาท หากรวมนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเสียบเรียบ พระตะบอง อีก 10% คาดการณ์นักท่องเที่ยวปีแรกประมาณ 500,000 คน และเพิ่มขึ้น 20% ในปีที่ 2 ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง

“ปี 2558-2561 จ.ตราดรายได้ 50% มาจากการท่องเที่ยว แต่ตัวเลขที่ไม่ได้เก็บเป็นทางการน่าจะสูงถึง 60-70% ถ้าเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้า ต้นทุน บุคลากร เข้ามาทำหน้าที่เหมือนกันจึงควรยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร

เพราะการยอมรับในระดับสากลต่างกัน ระยะแรกอาจจะเปิดเป็นจุดผ่อนปรนให้มีการค้า การท่องเที่ยว ใช้เอกสารบอร์เดอร์พาส ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด เพราะยุทธศาสตร์จังหวัดโพธิสัตว์เชื่อมโยง‘เมืองน้ำจืด-เมืองน้ำเค็ม’

จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเล สวนผลไม้ ท่องเที่ยวชุมชนใน จ.ตราด นอกจากค่าใช้จ่ายแพ็กเกจ 3 วัน 2 คืน คนละ 5,000 บาทแล้ว มูลค่าสินค้าที่ซื้อกลับเป็นคันรถปิกอัพจำนวนมากในแต่ละทริป

เมื่อพร้อมเปิดจุดผ่านแดนถาวรประทับวีซ่าได้เป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวจากเสียมเรียบจะมา และอนาคตเส้นทางหมายเลข R10 ชายแดนของกัมพูชาเชื่อม 3 จังหวัด พระตะบอง โพธิสัตว์ เกาะกง ระยะทาง 200 กิโลเมตร ทางไปเสียมเรียบจะสั้นลงไม่ต้องผ่านโพธิสัตว์”

นายสุทธิรักษ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด กล่าวว่า มูลค่าการค้าช่องทางธรรมชาติบ้านท่าเส้นก่อนมีโควิด-19 ตัวเลขทางการ มีมูลค่า 10-20 ล้านบาท/ปี ช่วงโควิด-19 ลดเหลือ 2 ล้านกว่าบาท

แต่การค้าขายจริง ๆ มีมูลค่าเดือนละ 30 ล้านบาทและตลาดนัดที่เปิดซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคที่วัดท่าเส้น ห่างจากชายแดน 6 กม. สัปดาห์ละ 3 วัน มูลค่า 700,000-1,000,000 ล้านบาท/สัปดาห์ ถ้าช่วงเทศกาลมีมากกว่า 1 ล้านบาท/สัปดาห์

รวมมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาทเศษ/ปี หากยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 700-1,000 ล้านบาท ผลพวงจากการท่องเที่ยวรวมการค้าเป็นมูลค่าสูงถึง 70-80%

ส่วนด้านท่องเที่ยวก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีการอนุโลมเป็นครั้งคราวไม่มีข้อมูลประมาณ 300-400 ล้านบาท หากมีนักท่องเที่ยวจากเสียมเรียบปีละ 6-7 ล้านคน ได้ส่วนแบ่งจากนักท่องเที่ยว 500,000-1,000,000 คน/ปี ระยะ 3 ปี รายได้ 5,000-15,000 ล้านบาท/ปี มูลค่าด้านท่องเที่ยวสูงกว่าการค้า

“ชายแดนไทยมีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค ถนนลาดยาง 4 เลน ไฟฟ้า ระบบ WiFi หากเปิดจุดผ่านแดนถาวรมูลค่าการค้าน่าจะเพิ่มขึ้น 1,000-2,000 ล้านบาท/ปี เพราะทางกัมพูชาชายแดนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษทมอดามีชาวจีนมาอยู่จำนวนมาก

ประชากร 50,000-80,000 คน อนาคตจะเพิ่มขึ้น 100,000-300,000 คน ต้องการซื้อสินค้าไทย อาหารทะเล และการขนส่งชายแดนจากบ้านทมอดา จ.โพธิสัตว์ เพียง 175 กิโลเมตร

หรือไปพนมเปญอีก 220 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้หากขนส่งสินค้าทางเรือ ทางบกไปพนมเปญ สีหนุวิลล์ สามารถออกด่านท่าเส้นเชื่อมต่อกับชายแดนบ้านหาดเล็ก ระยะทาง 60-70 กิโลเมตร”

นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออก 2 กล่าวว่า การยกระดับจุดผ่านแดนถาวรมีปัญหาเขตแดนเป็นเรื่องยาก และมูลค่าการค้ายังน้อย

ระหว่างรอยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร ขอเปิดจุดผ่อนปรนการค้าก่อน เป็นข้อตกลงระหว่าง จ.โพธิสัตว์กับ จ.ตราด ที่จะทำการค้า ท่องเที่ยวระหว่าง 2 จังหวัด และเดินทางได้ทุกอำเภอ

โดยใช้บอร์เดอร์พาส เพื่อให้กัมพูชาเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.ตราด เพราะระยะทาง 100 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าปรับให้นักท่องเที่ยวได้แสตมป์วีซ่าได้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาด้วย

เมื่อมีความพร้อมจึงยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร จะเป็นผลดีต่อด้านแรงงานกัมพูชาที่ไทยต้องการ สามารถเดินทางเข้ามาได้สะดวกขึ้น ส่วนด้านการค้าเกรงว่าหากยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร

จะเหมือนจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกว่า 30,000 ล้านบาท น่าจะเป็นการค้าข้ามแดน เพราะเป็นรายได้ในท้องถิ่นเพียง 1,000 ล้านบาท หรือ 5% เท่านั้น