SMEs ภูเก็ตลุ้นเปิดประเทศ 1 พ.ย. สะท้อน 3 เดือน “แซนด์บอกซ์” ไม่ฟื้น

นักท่องเที่ยว

วันหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-25 ต.ค. 2564) หลายจังหวัดเริ่มคึกคักจากการที่คนไทยภายในประเทศเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยว ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มดีขึ้นในบางจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก

โดยเฉพาะ “ภูเก็ต” ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกนำร่องเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ “แซนด์บอกซ์”

โดยวางมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดในการเปิดรับคนเดินทางเข้า-ออกจังหวัด ทำให้ช่วงกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา คนไทยไม่นิยมเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต นอกจากมีภารกิจจำเป็น

แต่หลังการผ่อนคลายมาตรการ นางสาวนันทาศิริ รณศิริ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นผลดีต่อจังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา

บรรยากาศการท่องเที่ยวเป็นไปด้วยความคึกคัก รวมทั้งภูเก็ตแซนด์บอกซ์ มีสายการบินเพิ่มขึ้นจาก 6 สายการบิน เป็น 8 สายการบินต่อวัน นักท่องเที่ยวเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่า 800-900 คน

ถือว่าตลาดท่องเที่ยวเริ่มกลับมา รวมทั้ง “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวภูเก็ต และเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 สายการบินฟินแอร์ จากสวีเดน

บินปฐมฤกษ์เข้ามาที่ภูเก็ต นำนักท่องเที่ยวเกือบ 200 คน เข้ามาในเที่ยวบินนี้ หลังจากปิดไป 2 ปี และจะมีชาร์เตอร์ไฟลต์เพิ่มเข้ามาอีกในเส้นทางจากยุโรป

ทางด้านชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กลับมาจัดงานถนนคนเดิน หลาดใหญ่ภูเก็ต อีกครั้งในช่วงเย็นวันนี้ หลังจากปิดไปเป็นเวลาหลายเดือนจากวิกฤตโควิด-19

ผู้ประกอบการต่างดีใจที่ได้กลับมาค้าขายกันอีกครั้ง รวมทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและคนต่างชาติเดินเที่ยวชมกันจำนวนมาก แต่ยังคงยึดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

แซนด์บอกซ์ 3 เดือนไม่ฟื้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในตัวเมืองภูเก็ต ปรากฏว่าผู้ประกอบการหลายธุรกิจได้สะท้อนภาพให้เห็นว่า ช่วงกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ในการดำเนินนโยบายนำร่องเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว

ภายใต้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 24 ตุลาคม 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 55,772 คน จำนวนคืนของผู้เข้าพักโรงแรม-รีสอร์ต SHA Plus ยอดการจองเดือนกรกฎาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 913,739 รูมไนต์ (คืน) แบ่งเป็น

  • เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน 541,925 รูมไนต์
  • เดือนตุลาคม 2564 จำนวน 233,866 รูมไนต์
  • เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 จำนวน 134,086 รูมไนต์

เงินสะพัดกว่า 6,000 ล้านบาท แต่รายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าวยังไม่ถึงมือผู้ประกอบการรายย่อย

โดย นางสาวโชติกา รุจิภากร เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าบริเวณตลาดเกษตร อำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์มาไม่มีผลกับผู้ประกอบการรายย่อย

เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเดินเที่ยวชมตลาดเกษตร เหมือนสมัยที่ยังไม่เกิดโควิด-19 ในช่วงนั้นจะมีรถตู้นำนักท่องเที่ยวเป็นกรุ๊ปเข้ามาชมบรรยากาศตลาดเกษตรตอนเช้าเพื่อชมวิถีชีวิตของชุมชน

ตอนนี้มีความหวังรอการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 หวังว่าคนคงจะเข้ามามากขึ้น กลุ่มลูกค้าที่เป็นเจ้าของโรงแรม เกสต์เฮาส์ รถเช่าจะได้มีรายได้มากขึ้น และกลับมาซื้อของที่ตลาดได้มากขึ้น อยากให้ทำการเปิดประเทศให้สำเร็จ

นางสาวจารุวรรณ แป้นโคต พนักงานขายร้านหง่อคาขี่ ในชุมชนย่านเมืองเก่าถนนถลาง อำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ทางร้านจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวแซนด์บอกซ์เข้ามาเดินน้อยมาก ผลประกอบการไม่ดี เพิ่งขายได้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้

จากการสอบถามนักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าบอกว่า ต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าประกันโควิด-19 ค่าที่พักโรงแรม SHA Plus เป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้นการมาเดินเที่ยวชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต จึงไม่มีกำลังซื้อมากนัก

ในส่วนนี้อยากให้ผู้เกี่ยวข้องลดจำนวนเงินในการเข้ามาของนักท่องเที่ยวแซนด์บอกซ์จะได้มีกำลังซื้อในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้บ้าง

ทางด้านผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่ม ในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ช่วงเปิดแซนด์บอกซ์มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดินเที่ยวชม แต่ไม่มีการจับจ่ายซื้อสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้เลย

“โครงการแซนด์บอกซ์น่าจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีรายได้ แต่เม็ดเงินไม่ลงมาถึงรายย่อย เพิ่งจะเริ่มมีรายได้บ้างในเดือนตุลาคมนี้ในช่วงวันหยุดยาวที่คนไทยเข้ามาท่องเที่ยวดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประเทศอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

จึงมีความหวังว่าคนจะเข้ามามากขึ้น มากิน มาเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแม้จะกลัวการระบาดของโควิด-19 แต่ต้องดูแลตัวเองอยู่กันให้ได้”

ดังนั้นคงต้องช่วยกันลุ้นกับความหวังของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ ที่จะมีโอกาสพลิกฟื้นรายได้กลับคืนมานับจากนี้ไป และหวังว่าโควิดรอบใหม่จะไม่กลับมาระบาดซ้ำเหมือนที่หลายประเทศกำลังเผชิญหลังการเปิดประเทศ