17 วันเปิดประเทศ ซึมลึก ต่างชาติเมินบุ๊กกิ้งพัทยา-จี้รัฐคลายกฎ

17 วันหลังนโยบายเปิดประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันนี้หลายแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของประเทศไทยยังไม่คักคึกอย่างที่ภาครัฐ และภาคเอกชนหลายคนคาดหวัง

โดยเฉพาะ “เมืองพัทยา” จังหวัดชลบุรี หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกที่ถูกกล่าวขานในหมู่นักท่องราตรีว่ามีแสง สี ความบันเทิงที่ไม่เคยหลับใหล กลับยังคงซบเซาอย่างเห็นได้ชัด

หลังจาก “ทีมข่าวประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจ และสัมภาษณ์นักธุรกิจในพื้นที่ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ภาพรวมยังคงไม่สู้ดีนัก แม้ผู้ประกอบการหลายคนจะกลับมาเปิดกิจการกันหลายรายด้วยความหวัง

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการแทนประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสถานการณ์หลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพัทยาส่วนใหญ่เป็นคนไทย 95% ต่างชาติ 5%

แตกต่างจากก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ช่วงไฮซีซั่นมีต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวโซนยุโรป เดินทางเข้ามาช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน

แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยปัจจุบันมีประมาณ 1,000-2,000 คน/วัน และเข้ามาในเมืองพัทยาประมาณ 200-300 คน/วัน เฉลี่ยเพียง 10% หรือประมาณ 6,000-7,000 คน/เดือนเท่านั้น

“แม้ตัวเลขการจองห้องพักเข้ามาตอนนี้จะมากกว่าช่วงเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่หากนับจำนวนคืนที่พักน้อยมาก เพราะแต่เดิม 1 บุ๊กกิ้งจะพักค้างคืนประมาณ 10-14 วัน แต่ตอนนี้คือ 1 บุ๊กกิ้งต่อ 1 คืน

ตอนนี้โรงแรมทำงานหนักขึ้น 10% จากเดิม แต่รายได้น้อยลงกว่าเดิม จากการสำรวจสถิติการจองห้องพักของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากประเทศเสี่ยงต่ำ

ฉีดวัคซีนครบ ตรวจ RT-PCR ผลออกมาเป็นลบ กลุ่มนี้ 90% คือไม่พักที่โรงแรมต่อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว”

ตอนนี้หากแก้ปัญหาเรื่องคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ ได้ เช่น ลดระเบียบการเข้าประเทศ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาจริง ๆ ได้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านได้พูดคุยกับบริษัทนำเที่ยวเบอร์ 1 ของประเทศเยอรมนี บอกว่าเป็นที่น่าเสียดาย

เพราะประเทศไทยเป็นประเทศแรกใน South East Asia (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่ทำการเปิดประเทศ แต่สะดุดขาตัวเอง เพราะไปสร้างเงื่อนไขหรือข้อจำกัดมาก ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าจะเดินทางมาประเทศไทยชีวิตยากลำบาก

ต้องดูประเทศคู่แข่งเรื่องการท่องเที่ยว เช่น ตุรกี มัลดีฟส์ ศรีลังกา คือไม่มีเงื่อนไขเลย หากนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีน 2 เข็ม ตรวจ RT-PCR ครบ 72 ชั่วโมงก่อนบิน เมื่อเดินทางถึงประเทศนั้น ๆ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เลย

หากรัฐบาลปลดล็อกได้ เปลี่ยนจากตรวจ RT-PCR เป็นตรวจหาเชื้อโดย ATK จะทำได้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาในประเทศมากขึ้น และลดเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงคลายล็อกให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

โดยอาจจะให้ใช้ในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัดก่อน ไม่อยากให้มองว่านักท่องเที่ยวดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในความเป็นจริงนักท่องเที่ยวต่างชาติดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหาร

“ในเบื้องต้นอาจจะยังไม่ต้องเปิดสถานบันเทิง แต่ให้สถานประกอบการสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ในอนาคตหากสถานการณ์ดีขึ้นอยากให้เปิด ยอมรับว่าเมืองพัทยานักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมาเพราะสถานบันเทิง”

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลมองว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเดินได้ ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตอนนี้ ต้องยอมรับว่าการเปิดประเทศไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยมาก

จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งตรงกันกับงาน Pattaya Music Festival 2021 เทศกาลดนตรีเมืองพัทยา ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน-11 ธันวาคม 2564 ในทุกวันศุกร์และวันเสาร์

พบว่าสองข้างทางของถนนหลายสายที่มุ่งสู่ตัวเมืองพัทยา ค่อนข้างเงียบเหงากว่าสถานการณ์ปกติมาก แม้จะมีผู้คนสัญจรไปมาแต่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวชาวไทย ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ยังปิดตัวอยู่

มีเพียงบางส่วนที่กลับมาเปิดกิจการ และกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น สถานที่จัดเทศกาลดนตรี ลานกีฬาอเนกประสงค์ ชายหาดจอมเทียน

หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจที่นั่ง+ร่มชายหาด และให้บริการเรือลากบานาน่าโบ๊ต ริมหาดจอมเทียน บอกว่า เศรษฐกิจของเมืองพัทยาซบเซามานานหลายปีแล้วก่อนมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างก็หยุดชะงักลูกค้าไม่มี รายได้เป็นศูนย์

ผู้ประกอบการริมหาดทุกคนได้รับผลกระทบหมด บางคนต้องไปทำงานก่อสร้าง เพื่อหาเงินเลี้ยงชีวิต กระทั่งสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น สามารถกลับมาทำงานมีรายได้พอประทังชีวิต

“ผมทำธุรกิจบริการลูกค้าอยู่ริมหาดมา 7-8 ปี พอกลับมาเปิดบริการ ริมหาดบรรยากาศยังคงเงียบ การท่องเที่ยวสะดุดไปเยอะ ช่วงนี้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พอมีนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ฝรั่งแทบจะไม่มีหรือไม่มีเลย

ถ้ามีก็เป็นฝรั่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว กิจกรรมการจัดคอนเสิร์ต ไม่มีผลอะไรต่อการท่องเที่ยวเพราะคนดูคอนเสิร์ตเป็นคนในพื้นที่

อยากให้รัฐบาลช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและบริหารจัดการให้ทุกอย่างดีขึ้น บรรยากาศตอนนี้พอถูไถไปได้ กระเตื้องขึ้นทำให้พอมีกินแต่ไม่พอมีเก็บเลย”

ด้านผู้ประกอบการร้านขายเสื้อผ้าและของฝากเล่าว่า หลังจากเปิดประเทศมาไม่ได้ช่วยอะไรเลย แม้ว่าคนจะกล้ามาเที่ยวมากขึ้น สถานการณ์เหมือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่จากที่เคยขายสินค้าได้ประมาณ 20,000 บาท/วัน ปัจจุบันเหลือประมาณ 2,000-8,000 บาท/วัน เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าเช่าที่แล้วก็พอให้ประทังตัวอยู่ได้เท่านั้น และส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

“ก่อนหน้าที่โรคโควิด-19 ระบาดมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเยอะมาก ทั้งรัสเซีย ยุโรป ขายของดีมาก ตอนนี้ขายให้คนไทยและมีโครงการคนละครึ่งเข้ามาช่วย คิดว่าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เข้ามา

คงไม่เชื่อมั่นรัฐบาลไทยเท่าไหร่ ภาพรวมประเทศไทยยังฉีดวัคซีนได้ไม่เท่าไหร่เลยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ชาวต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทยบางคนก็ยังไม่ได้ฉีด เขาบอกว่าผมไม่เชื่อใจวัคซีนที่ประเทศไทยมีหรือวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้า หรือแม้แต่วัคซีนที่ประเทศเขาหามาให้เขาก็ไม่ฉีด”

ดังนั้น นับจากนี้คงต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไปว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มหรือไม่ ที่สำคัญหวังว่าจะไม่เกิดการระบาดระลอก 5 ตามมา อย่างที่หลายคนหวั่นวิตก