ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ชี้ทางออกท่องเที่ยวเหนือ Transform อย่างไรให้รอด !

เมื่อหลายจังหวัดในภาคเหนือถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวและบริการ พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก 85% และชาวต่างชาติ 15% รายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 1.95 แสนล้านบาท

แต่การเผชิญการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในห้วงเกือบ 2 ปี ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อภาคธุรกิจทั้งระบบที่อยู่ในห้วง “จุดต่ำสุด”

การเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นโอกาส-ความหวัง ของการท่องเที่ยวภาคเหนืออีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ที่จะมาชี้ทางออกท่องเที่ยวภาคเหนือต้องปรับตัวอย่างไรหลังเปิดประเทศ transform ธุรกิจอย่างไรให้รอด

โอกาสฟื้นท่องเที่ยวเหนือ

ธาริฑธิ์บอกว่า ภาคเหนือพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก โดยปี 2562 มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทย 85% และชาวต่างชาติ 15% มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 1.95 แสนล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 70% และชาวต่างชาติ 30%

แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาในทันที ซึ่งองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศต้องใช้เวลา 2.5 ปี ถึง 4 ปี ที่จะฟื้นตัวได้ถึงระดับเดียวกันปี 2562

อย่างไรก็ตาม มาตรการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังมีไม่มากนัก

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทยและภาคเหนืออย่างชาวจีน (ประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) จะยังไม่กลับมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทางการจีนยังไม่สนับสนุนให้ชาวจีนท่องเที่ยวในต่างประเทศ

การท่องเที่ยวของภาคเหนือได้มาถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 เป็นช่วงที่โควิดระลอก 3 ยืดเยื้อ ขณะที่ระดับการฉีดวัคซีนเพิ่งอยู่ที่ 50% ในปลายไตรมาส (63% สำหรับเชียงใหม่) ทำให้คนไม่มีความมั่นใจออกมาท่องเที่ยว

ขณะที่ภาพรวมอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภาคเหนือ ไตรมาส 3 เหลือเพียง 7.9% ส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการในจังหวัดท่องเที่ยวหลักอย่าง จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 55 รายได้ยังกลับคืนมาไม่ถึงร้อยละ 10

“เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น จากการสำรวจโรงแรมในอำเภอเมือง ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ ขยับจากช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเปิดให้บริการประมาณ 30% มาเป็น 40-50% โดยเฉพาะโรงแรมที่เป็นรีสอร์ตนอกเมืองจะเริ่มขายดี”

สำหรับพื้นที่ที่มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ คือ จังหวัดที่่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ซึ่งผลสำรวจของ CMMU พบว่า เชียงใหม่ติด 1 ใน 3 จังหวัดที่กลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัวอยากเดินทางไปมากที่สุด

จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และเพชรบูรณ์ ซึ่งจากผลสำรวจของ CMMU พบว่าท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นรูปแบบท่องเที่ยวที่นักเดินทางโหยหามากที่สุด

Q4 แนวโน้มสัญญาณบวก

ธาริฑธิ์บอกต่อว่า ไตรมาส 4 คาดว่านักท่องเที่ยวไทยในภาคเหนือจะกลับมาได้ราว 50% ของช่วงก่อนโควิด หรือหากดูทั้งปีจะกลับมาประมาณ 1/3 แต่ในปี 2565 น่าจะกลับมาได้ 3/4

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้จะกลับมาได้ราว 20,000 คน (ไม่ถึง 1% ก่อนโควิด อยู่ที่ปีละ 5.4 ล้านคน)ปี 2565 คาดว่าจะกลับมาได้ประมาณ 15% (ประมาณ 8 แสนคน)

“การอั้นการท่องเที่ยวไว้นาน มีความเป็นไปได้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาได้เร็วกว่าที่คาด คาดว่าเดือนธันวาคม 64 การฉีดวัคซีนน่าจะถึง 80-90% ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดี

ประการสำคัญคือ การเร่งสร้างมาตรฐาน SHA+ ให้ครอบคลุมกลุ่มให้บริการ การกระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาแบบ new normal ระหว่างสัปดาห์

โดยกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ ทดแทนการท่องเที่ยวต่างชาติที่จะยังไม่กลับมามากนัก และการจัดการปัญหาหมอกควันภาคเหนือให้เด็ดขาด เพื่อเพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวในไตรมาส 1 และ 2 ปี 2565”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ จำนวน 83 คน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรกที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสายการบิน Jeju Air (อินชอน-เชียงใหม่)

ซึ่งเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ตามโครงการ CHARMING Chiang Mai เพื่อไปพำนักและเล่นกอล์ฟที่ลำพูน โดยจะมีไฟลต์ต่อเนื่องทุกวันศุกร์ จำนวน 8 เที่ยวบิน เมื่อรวมเบ็ดเสร็จในฤดูหนาวนี้จะมีเที่ยวบินเหมาลำทั้งสิ้น 63 เที่ยวบิน (Jeju Air, Asiana Airlines, Korean Airlines และ Jin Air)

นำนักกอล์ฟเกาหลีมารวมทั้งสิ้น 13,500 คน เดินทางมาเล่นกอล์ฟที่เชียงใหม่และลำพูน และคาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 48 ล้านบาท

ชี้ทางรอด Transform ธุรกิจ

ธาริฑธิ์กล่าวต่อไปว่า จากประมาณการนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ไม่เท่าเดิมในปี 2565 เพียง 3/4 ในกลุ่มผู้ประกอบการจะมีผู้ที่ดึงนักท่องเที่ยวได้เกือบเท่าเดิม กับบางส่วนได้ลูกค้ากลับคืนมาน้อยมาก

ซึ่งต้องปรับตัวจึงจะอยู่รอดได้ แนวทางสำคัญคือ การ transform ธุรกิจใหม่ คนที่สามารถให้บริการแบบ contactless หรือการใช้ travel tech หรือมี model ที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจจะได้เปรียบ

ทั้งนี้ จะเห็นการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ โรงแรม 5 ดาว 4 ดาว จะลงมาแข่งเรื่องราคามากขึ้น การแข่งขันด้านราคาจะทำให้การบริหารต้นทุนและสภาพคล่องยังคงสำคัญมาก

และยังต้องเผื่อสำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วย การ transform ธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ต้องมุ่งเน้น digital marketing/influencer marketingทั้งในระดับผู้ให้บริการและระดับประเทศ

เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภค ซึ่งการตลาดแบบเดิมอาจใช้ไม่ได้ผล การตลาดรูปแบบใหม่จึงต้องโฟกัสการตลาดดิจิทัล ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการขาย D2C ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการทำวิดีโอ การใช้ influencer ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ขณะที่ในระยะยาวผู้ประกอบการที่รองรับนักท่องเที่ยวแบบ group tour กลุ่มใหญ่ราคาถูก

หรือนักท่องเที่ยวแบบ backpack ซึ่งรายได้ถูกกระทบ จะต้องประเมินว่าจะปรับปรุงธุรกิจอย่างไร ยังคงจะไปต่อได้หรือไม่

ธาริฑธิ์มองว่า ในระยะสั้นการท่องเที่ยวยังคงต้องเน้นตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ยังมี pent-up demand อยู่เป็นหลัก

ทว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวอาจแตกต่างไปจากเดิม จาก 3 สาเหตุหลักคือ 1.ความกังวลจากการกลัวติดโรคและมาตรการควบคุมต่าง ๆ

2.ต้องประหยัดเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และ 3.ไม่มีทางเลือกที่น่าสนใจจาก supply ที่น้อยลง ส่งผลทำให้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมีจำนวนการเดินทางที่น้อยลง ทริปสั้นลง จุดหมายใกล้ขึ้น และงบประมาณน้อยลง

ส่วนการท่องเที่ยวของภาคเหนือในระยะต่อไป 2-3 ปีข้างหน้า ยังต้องมุ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก positioning ของภาคเหนือมียุทธศาสตร์เน้นศิลปวัฒนธรรม longstay/workation/medical tourism

ซึ่งจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มี spending per head สูงได้มากขึ้น โดยเน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ อย่างการท่องเที่ยวแบบ workation wellness sport หรือ MICE และศิลปวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของภาคเหนือ

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การปรับตัว-transform ธุรกิจเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจะเป็นทางรอดของการท่องเที่ยวภาคเหนือ ที่มีโอกาสกลับมาตั้งหลักอีกครั้ง หลังเปิดประเทศ