ค้าชายแดนแม่สอดโตแสนล้าน จี้รัฐปลดพื้นที่สีแดงเข้ม-เยียวยาธุรกิจ

ค้าชายแดนแม่สอดโตกว่า 1 แสนล้านบาท สร้างสถิติใหม่ในรอบ 10 ปี ด้านหอการค้าจังหวัดตากร้องรัฐปลดจังหวัดตากออกจากพื้นที่สีแดงเข้ม เร่งเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหตุกระทบภาคธุรกิจสูญเสียรายได้มหาศาล ทั้งที่จังหวัดมีคนติดเชื้อโควิดวันละไม่ถึง 100 คน

นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกผ่านด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ปี 2564 คาดการณ์มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

เพราะปัจจุบันตัวเลขการส่งออกโดยรวม 10 เดือน ส่งออกไปแล้วกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าส่งออกหลัก ๆ คือ

หมากแห้ง, โทรศัพท์มือถือ, เครื่องดื่ม, น้ำมันเบนซิน ดีเซล, ผ้าฝ้ายพิมพ์, ปุ๋ยเคมี ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 50% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด

“ด่านแม่สอดถือว่ามีความชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมการค้าชายแดน โดยสถานการณ์การนำเข้า-ส่งออกค่อนข้างไปได้ดี เพราะเดิมทีเราส่งออก 100% นำเข้า 5% แต่ปัจจุบันเราส่งออก 100% นำเข้า 20-30%

ซึ่งเป็นข้อดีต่อการเจรจาการค้า ที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับหน่วยงานภาครัฐเมียนมาพูดกันเสมอว่า อยากให้ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกสมดุลกัน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ค่อนข้างเจรจาลำบาก เพราะการเมืองฝั่งเมียนมายังไม่นิ่ง”

ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดตากยังถูกจัดอยู่ใน 6 กลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดง ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนำปัจจัยส่วนไหนมาพิจารณา ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันไม่ถึง 100 คน และผู้ติดเชื้อน้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดง

อีกทั้งภาพรวมการฉีดวัคซีนในจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 50-60% และกำหนดให้ทั้งจังหวัดได้รับวัคซีนเข็มแรกอย่างน้อย 80% ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เพราะฉะนั้น มั่นใจว่าเป็นจังหวัดที่ได้รับการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก

แต่การถูกจัดเป็นจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลกระทบให้จังหวัดตากสูญเสียรายได้จำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวคนไม่กล้าเข้ามาเที่ยว

“จังหวัดตากถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้จังหวัดตากเสียหายเยอะมาก ประชาชนคนตากเดินทางไปที่ไหน ทุกคนก็กลัวไม่ค่อยอยากต้อนรับ

อีกทั้งยอมปิดจังหวัดเพื่อป้องกันให้จังหวัดชั้นในเป็นสีเขียวให้เขาทำงานได้ แต่เราทำงานไม่ได้ ถ้านับตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในจังหวัดตอนนี้โดยรวมถือว่าน้อยมาก

และหากดูภาพรวมการฉีดวัคซีนในจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่แม่สอด มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 70% ทำให้มั่นใจว่าการฉีดวัคซีนอยู่ในอัตราที่เยอะและรวดเร็ว ยกเว้นในกลุ่มชนเผ่าที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนซึ่งเข้าถึงได้ยาก

เพราะว่ามีความเชื่อหลาย ๆอย่างทำให้ไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน หากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในหมู่บ้าน เขาจะปิดหมู่บ้านทันที คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ทำให้ตัวเลขการฉีดวัคซีนตามตะเข็บชายแดนไม่ค่อยขยับ”

ขณะเดียวกัน หลายคนมีการตั้งข้อสังเกตว่า จังหวัดตากเป็นพื้นที่ติดชายแดนและเป็นพื้นที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย หรือมีการลักลอบนำเข้าแรงงานจากต่างด้าวเข้ามาบ้าง

ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าในจังหวัดตากมีแรงงานต่างด้าวเดินอยู่ทั่วเมือง แต่ข้อเท็จจริงคือ แรงงานเมียนมาที่ข้ามมา เข้ามาตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐไทยและเมียนมาและมีกระบวนการนำเข้าอย่างรัดกุม

ที่ผ่านมาตัวเลขการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวถือว่ามีไม่มาก เพราะฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างเข้มงวด จะเห็นได้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ไม่ค่อยเข้าทางแม่สอด แต่มีการลักลอบผ่านจุดอื่น ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ แต่จังหวัดเหล่านั้นก็ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้ม

“แรงงานที่มีการ MOU คือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม กักตัว 14 วันก่อนเดินทางข้ามมาทางด่านแม่สอด เมื่อข้ามมาแล้วจะมีรถรับส่งไปยังพื้นที่กักตัวอีก 7 วัน และตรวจ RT-PCR

เพราะฉะนั้น แรงงานกลุ่มนี้จะไม่โอกาสออกมาข้างนอก และก่อนเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จะมีการตรวจหาโรคทั้งหมด 6 โรค ได้แก่ 1) อหิวาตกโรค 2) มาลาเรีย 3) วัณโรค ดื้อยา 4) HIV/AIDS 5) EPI (การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค)

และ 6) แคดเมียม และเมื่อถึงโรงงานจะมีการตรวจ RT-PCR อีกรอบ นี้คือกระบวนการทำงานซึ่งประชาชนทั่วอาจจะยังไม่เข้าใจ ฉะนั้น ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ หากไม่ทำ จังหวัดตากก็จะเสียหาย และขอให้ภาครัฐเห็นใจจังหวัดตากด้วย”

ตอนนี้ประชาชนในจังหวัดตากเริ่มมองว่า ตนเองเป็นประชาชนชั้นสอง เพราะว่า 1.เป็นพื้นที่สีแดงเข้มมาตลอด 2.ตั้งแต่มีการระบาดโรคโควิด-19 ได้รับการเยียวยาเพียง 1 ครั้ง

จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาปรับพื้นที่ของจังหวัดตากจากสีแดงเข้มเป็นสีแดง ให้เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ส่วนเรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดขอให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

เช่น งบประมาณ หรือโครงการเยียวยาเศรษฐกิจในพื้นที่โดยตรง เพราะว่าจังหวัดตากสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศค่อนข้างสูง รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว อยากให้รัฐบาลบรรจุให้จังหวัดตากเป็นสถานที่ปลายทางที่แนะนำไปตามโครงการต่าง ๆ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน ไทยเที่ยวไทย

“สิ่งที่ร้องขอไปก็น่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่สบายใจขึ้น และไม่มองตนเองว่าเป็นประชาชนชั้นสองอย่างที่ผ่านมา ตอนนี้ขอให้เราได้ทำมาหากินบ้าง”