โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ออร์เดอร์ปี 2565 พุ่ง

บ.โสมภาส
4 โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จ.มหาสารคาม เติบโตสวนกระแสโควิด-19 บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ป้อนงานเพิ่ม ออร์เดอร์พุ่ง ปี 2565 เตรียมแผนกระจายงานลงเครือข่ายชุมชนรองรับออร์เดอร์ สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น

นายสมพงษ์ พวงเวียง หุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท โสมภาส เอ็นจิเนียริ่ง (2502) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามมีกลุ่มทุนท้องถิ่น 4 ราย ดำเนินธุรกิจโรงงานรับผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง อ.บรบือ และ อ.วาปีปทุม ถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะรับงานมาจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าในแต่ละปีมีเม็ดเงินจากการจ้างแรงงานไหลเข้าสู่ท้องถิ่นน่าจะประมาณ 200 ล้านบาท

สมพงษ์ พวงเวียง
สมพงษ์ พวงเวียง หุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท โสมภาส เอ็นจิเนียริ่ง (2502) จำกัด

โดยในส่วนของบริษัทโสมภาสฯมีพนักงานประกอบชิ้นส่วนภายในโรงงานประมาณ 130 คน และมีการกระจายการจ้างงานไปให้เครือข่ายแรงงานตามหมู่บ้าน ซึ่งไม่สามารถมาทำงานที่โรงงานได้ และในปี 2565 ได้เร่งเตรียมแผนงานขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางบริษัทแม่ได้แจ้งมาว่ามีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมากจะป้อนงานมาให้มากขึ้น ทำให้ทางบริษัทเตรียมแผนขยายเครือข่ายแรงงานไปตามหมู่บ้านมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการกระจายงานลงให้แรงงานตามชุมชนสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ในระดับหนึ่ง และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากพอสมควร สำคัญที่สุดสามารถผลิตงานส่งตามออร์เดอร์ของบริษัทแม่ได้ทัน เพราะบางครั้งการผลิตอาจใช้เวลามากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากบางครั้งชิ้นงานมีความซับซ้อน

ทั้งนี้ แรงงานที่จะรับงานไปทำที่บ้านจะต้องผ่านกรอบรมจากโรงงานก่อน ซึ่งชิ้นงานที่ทำจะมีการตรวจสอบคุณภาพและต้องได้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับงานที่เพิ่มเข้ามาปีหน้าชิ้นงานยังคงเป็นผลิตภัณฑ์เดิมเป็นตัวหลัก ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่มีความชำนาญอยู่แล้ว แต่จะมีโมเดลผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเข้ามา ทางโรงงานจะต้องจัดอบรมพนักงานภายในโรงงาน รวมทั้งแรงงานเครือข่ายก่อนกระจายงานให้ทำ ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ที่บ้านยังมีงานทำ มีรายได้ และทำให้เรามั่นใจว่าเมื่อมีออร์เดอร์เข้ามามากสามารถรองรับได้ รวมทั้งในอนาคตพนักงานทำงานในโรงงานจะน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคการเปลี่ยนแปลง

นายสมพงษ์กล่าวต่อไปว่า ภายหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2562 หลายธุรกิจได้รับผลกระทบหนัก แต่สำหรับธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แทบไม่ได้รับผลกระทบ ทางบริษัทโสมภาสฯยังได้รับออร์เดอร์จากทางบริษัทแม่ปกติ และเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2564 ตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ทางโรงงานทำอย่างต่อเนื่อง คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยตั้งเป้าหมายเขตโรงงานต้องปลอดยาเสพติดทุกชนิด มีการตรวจสารเสพติดเป็นประจำ และส่งเสริมให้พนักงานนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้

โดยให้ครัวเรือนพนักงานปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด ไก่ ไว้บริโภคในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยทางโรงงานได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าปลูกพืชผักสมุนไพรหลายอย่างเป็นตัวอย่างแจกจ่ายพันธุ์ให้พนักงานนำไปปลูกต่อที่บ้าน รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อม รักษาต้นไม้เดิม และปลูกต้นไม้เสริมเป็นโรงงานสีเขียวสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้พนักงาน รวมถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง