หอการค้า จ.จันทบุรีจัด FruitInnovationFair 10-12 ธ.ค.นี้

ทุเรียน

หอการค้าจังหวัดจันทบุรีร่วม TCEB สมาคมทุเรียนไทย สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ จัดงาน Fruit Innovation Fair 2021 “จันทบุรีมหานครผลไม้” 10-12 ธันวาคม 2564 หนุนบิสซิเนสแมตชิ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างมูลค่าซื้อขาย 2,000 ล้านบาท

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม พ.ศ. 2564 หอการค้า จ.จันทบุรี ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน.หรือ TCEB สมาคมทุเรียนไทย (TDA)

และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน Fruit Innovation Fair 2021 (FIF) “จันทบุรีมหานครผลไม้” ขึ้น ณ โรงแรมนิวแทรเวิลลอด์จ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

ภายใต้แนวคิด ผลไม้ไทยก้าวใหม่หลังโควิด-19 เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ได้นำเสนอแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ทิศทางการพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางผลไม้เมืองร้อนของอาเซียน

โดยกระตุ้นให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่า และสร้างคุณค่าให้ผลผลิตและการแปรรูปด้วยมาตรฐาน การสร้างเวทีเจรจาธุรกิจกับภาคเกษตรกรรม (businessmatching) ความสัมพันธ์เชื่อมโยงเมืองผลไม้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวของ จ.จันทบุรีและภาคตะวันออก

และหอการค้าไทยได้จัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor Conference-CVTEC โดยนำคณะ CVTEC เยี่ยมชมสวนผลไม้ที่ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจในการจับคู่ทางธุรกิจ

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สสปน.ได้สนับสนุนงบประมาณและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการลงทะเบียน ส่วนของ business matchingonline ในยุคนิวนอร์มอล

โดยกิจกรรมตลาดกลางการเจรจาธุรกิจทางการค้า(business matching) มีผู้ขาย เกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตผลไม้เมืองร้อนและแปรรูปและอุตสาหกรรมด้านการเกษตรที่ทันสมัยภาคตะวันออก

โดยใช้matching program จับคู่ทางการค้าในงานและแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเกษตรกร ผู้ประกอบการร่วมกิจกรรมเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ (เจ้าของล้ง) โดยตรงไม่ผ่านคนกลาง

แนวทางนี้ สสปน.วางแผนต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อขยายกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลักดันเป็นงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจ (Trad Exhibition)ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกระจายรายได้ในส่วนภูมิภาคตะวันออกและระดับประเทศ

“ตั้งเป้า business matching ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ซื้อ-ขายมาร่วมงานไม่ได้ สามารถลงทะเบียนจับคู่ได้ คาดว่ากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจ 15-20 ราย มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 200-300 ล้านบาทจากปี 2563” นางศุภวรรณกล่าว

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าวถึงการผลิตผลไม้ของจันทบุรีที่ต้องการเตรียมการรองรับในปี 2565 ว่า ภาวะปัจจัยที่ทำให้การเกษตรค่อนข้างแปรปรวน

ทั้งผลผลิตที่กระจายออกหลายรุ่น ทั้งทุเรียน มังคุด ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรต้องลดรายจ่ายให้น้อยลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น คือ ต้องทำผลไม้ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน

การนำองค์ความรู้มาใช้บริหารจัดการสวนเป็นสิ่งจำเป็น ต้องมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ ใช้แทนแรงงานคน เพิ่มผลผลิต มีการออกแบบแปลงผลิตผลไม้ ระบบการให้น้ำ ระบบการให้ปุ๋ย การตรวจสอบโรคพืช ทั้งนี้สมาคมทุเรียนไทยได้เผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรทั้งรูปแบบโซเชียลมีเดีย เอกสารต่าง ๆ หนังสือ

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกขาดทุนมาโดยตลอด และส่งผลถึงราคาและตลาดเกษตรกรด้วย การพัฒนาจันทบุรีมหานครผลไม้

ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมทั้งนวัตกรรมการผลิต และนวัตกรรมการตลาดที่ต้องพัฒนาศักยภาพให้สูง ซึ่งการจัดงาน Fruit Innovation Fair 2021 (FIF) ตอบโจทย์ มีการจัดโซนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร บูทนิทรรศการ ความรู้ นวัตกรรมการแปรรูป เครื่องจักรกลการเกษตร

และสินค้าเพื่อการเกษตรนานาชนิด แต่ปัญหาคือการเข้าถึงนวัตกรรมของเกษตรกร การเสวนาถอดบทเรียนจากสถานการณ์ผลไม้ไทยในตลาดจีน ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเองในการหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นนอกจากจีนและใช้นวัตกรรมทำผลผลิตที่มีคุณภาพไม่ขายผลไม้สดอย่างเดียว ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องร่วมมือกัน