เปิดมุมมองรถไฟจีน-ลาว หวั่น “หนองคาย” แค่ “เมืองผ่าน”

การเปิดหวูดรถไฟจีน-ลาวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 หลายคนสะท้อนถึงอานิสงส์มากมายที่ประเทศไทยจะได้รับ แต่ลองมาฟังเสียงสะท้อนของนักธุรกิจเจ้าถิ่น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “มนนิภา โกวิทศิริกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย

ผุด “กงสุลจีน” ดึงคนเที่ยว

มนนิภาบอกว่า ความล่าช้าในการต่อเชื่อมโครงข่ายรถไฟใน 2-3 ปีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการในหนองคายบางส่วนได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่ต้องขนส่งสินค้า

แต่เมื่อเปิดการค้าข้ามแดนเชื่อมต่อไทยสมบูรณ์ จีนคงได้ผลประโยชน์มากกว่าไทย เพราะปัจจุบันสินค้าจากจีนไหลเข้ามาไทยจำนวนมากกว่าการส่งออกสินค้าของไทย

ยิ่งมีการเชื่อมต่อโครงข่ายทะลุไปยังท่าเรือแหลมฉบังผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกรายใหญ่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า รวมถึงการขนส่งผู้โดยสารคนจีนอาจจะไม่ได้ลงเที่ยวหนองคายเลย

เพียงแต่แสตมป์ตรงด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ววิ่งเข้า กทม. ทำให้หนองคายอาจจะกลายเป็นเพียง “เมืองผ่าน”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสภาการค้า สปป.ลาวโทร.มาคุยกับเราว่า อยากเป็นเพื่อนคู่มิตรทางด้านการท่องเที่ยว ตอนนี้เรื่องเร่งด่วนอยากคุยเรื่องท่องเที่ยวก่อนว่า เราจะมีมาตรการอย่างไร

ทาง สปป.ลาวก็กลัวคนจีนแค่เดินทางผ่าน สปป.ลาวเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และ สปป.ลาวจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร ส่วนจังหวัดหนองคายก็หวั่นเกรงว่าจะเป็นแค่ทางผ่านของคนจีนไปเที่ยวจังหวัดอื่นมากกว่า

จึงมานั่งคุยกันว่า ทำอย่างไรจะให้คนจีนลงมาท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย จึงอยากขอให้ “สาขากงสุลจีน” มาเปิดที่จังหวัดหนองคาย จะได้สะดวกในการติดต่อของนักธุรกิจจีน และคนไทย

ขณะเดียวกันเพื่อดึงคนไทยบางส่วนที่คิดอยากไปเที่ยวเมืองจีนต่อจะได้แวะมาทำวีซ่าที่หนองคายแล้วขึ้นรถไฟไปเที่ยวต่อได้เลย หนองคายจะได้ประโยชน์จากคนมานอนพักสัก 1 คืน

เพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย ล่าสุดได้ประสานกับทางจังหวัดให้ทำการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยอาจจะทำเป็นคลิปหรือภาพยนตร์สั้น ๆ ส่งไปตามโลกออนไลน์ทำเป็นภาษาจีนด้วย

เท่าที่หารือกับผู้บริหาร สปป.ลาว คาดว่าคงต้องรอเดือนมกราคม 2565 ที่ทางการของจีนจะเปิดให้คนออกเดินทางท่องเที่ยว จึงต้องทำโปรโมตไว้ล่วงหน้า รวมถึงการทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้พร้อม

เช่น เรื่องป้ายจราจรต้องทำให้มี 3 ภาษาไทย-จีน-ลาว ต้องทำทางลาด ห้องน้ำต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานสำหรับคนพิการด้วย

ชงสรรพากรขอคืน VAT ได้

นอกจากนี้ ต้องการผลักดันให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อสินค้าแล้วสามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ เหมือนเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ทางกรมสรรพากรตอบมาแล้วว่าไม่ได้

เพราะกลัวว่าเราจะทำเป็นสินค้าเวียน ทางกรมสรรพากรให้แต่ทางอากาศ อยากจะให้กรมสรรพากรทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งเพราะสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ เช่น ถ้าซื้อสินค้ามากกว่า 5,000 บาทถึงจะสามารถขอคืน VAT ได้ เราไปยุโรป VAT คืน 17% แต่ร้านค้าคืนให้เราเพียง 12% ไม่ได้คืนให้เต็ม 17% ก็ยังดี

รวมถึงอยากผลักดันให้มีดิวตี้ฟรีแห่งใหม่อยู่ในสถานีรถไฟความเร็วสูงหนองคาย ซึ่งคงใช้เวลาอีก 10 ปี

ชงค่าแรงหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

ในด้านการลงทุนจังหวัดหนองคายมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 718 ไร่และเขตย่อย ถ้าผู้สนใจลงทุนอาจจะไม่ลงทุนแปลงใหญ่ ก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษย่อยประกาศไปแล้วอีก 12 ตำบล จะเลือกจุดไหนก็ได้ สามารถได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับเขตใหญ่

ล่าสุดได้มีการเสนอไปยังภาครัฐว่า ควรปรับเรื่องสิทธิประโยชน์เพิ่มให้ผู้เข้าประมูล นอกจากนี้มีทางภาคเอกชนบางส่วนไปขอให้ทางจังหวัดขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 2 ตำบลให้มาติดริมฝั่งแม่น้ำโขง

และใกล้อำเภอเมือง เพื่อหวังจูงใจผู้ลงทุน คิดว่าหลังเปิดเดินรถไฟจีน-สปป.ลาว อาจจะมีคนสนใจเข้ามาประมูล

ที่ผ่านมาทางกรมธนารักษ์เปิดประมูลมาแล้ว 3 ครั้ง ขนาดลดค่าเช่าลงมา เดิมค่าเช่าตกไร่ละ 21,000 บาทต่อไร่ต่อปี มีค่าธรรมเนียมในการใช้พื้นที่ 160,000 บาท ก็ลดเหลือ 35,000 บาทต่อไร่ต่อ 50 ปี แต่ยังไม่มีผู้มาประมูล เห็นว่ากรมธนารักษ์เตรียมเปิดประมูลครั้งที่ 4 อีกเร็ว ๆ นี้

ด้านแรงงานก็มีความพร้อมปัจจุบันจังหวัดหนองคายมีประชากรอยู่ 519,000 กว่าคน มีงานทำแล้ว 280,000 กว่าคน เหลือรองานอีก 5,000 กว่าคน ทำงานเกษตรตามฤดูกาลอีก 5,000 คน ถ้าแรงงานไม่พอ

คนในจังหวัดใกล้เคียงพร้อมเข้ามาทำงาน แต่ที่สำคัญจังหวัดหนองคายโซนนี้ติดกับทางฝั่งลาว ค่าแรงงานขั้นต่ำของลาวประมาณ 150 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำไทย 300 บาท

จึงเสนอว่าควรให้นำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า สมมุติขายสินค้าได้ 1 ล้านบาทจ่ายค่าแรงไป 1 แสนบาท ค่าแรงถือเป็นค่าใช้จ่าย ปกติหักออก 1 แสนบาท แต่หากภาครัฐให้สามารถนำค่าแรงมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เท่ากับ 2 แสนบาท

เราจะยื่นเสียภาษีได้น้อยลง รวมถึงอาจจะให้ลดราคาค่าน้ำ ค่าไฟในช่วงที่ให้สิทธิประโยชน์ 8 ปี เป็นต้น

ขณะเดียวกันในส่วนแรงงานมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะการฝึกภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ด้านการศึกษา มีระดับอาชีวะหนองคาย และวิทยาลัยเทคนิค และมหาวิทยาลัยก็พร้อมจะสร้างบุคลากรขึ้นมา

นอกจากนี้จะผลักดันให้มีการตั้งศูนย์กลางทางธุรกิจ (business center) จะทำเป็น one stop service ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ลงทุนสามารถเข้ามาติดต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ มีธนาคาร มีการแลกเปลี่ยนเงินตรา

เพื่อจะดึงนักธุรกิจ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดมีเงินหมุนเวียน และได้อานิสงส์จากระบบรถไฟสายนี้

จุดเปลี่ยนอนาคต
เส้นทางการค้าสายใหม่

กระแสรถไฟจีน-สปป.ลาว กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นระบบขนส่งทางรางที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยไม่น้อยทีเดียว

เพราะเป็นเส้นทางใหม่สำหรับการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการธุรกิจไทยไปจีน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาการขนส่งได้มากกว่าทางบกและทางเรือ

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2564 มกราคม-กันยายน รวม 3 ไตรมาส มูลค่าการค้าชายแดนรวม 668,859 ล้านบาท จากปี 2563 561,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.23%

เมื่อเทียบไตรมาสที่ 1-3 จะพบว่ามูลค่านั้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ด่านศุลกากรส่งออกอันดับแรกคือ ด่านหนองคาย 54,354 ล้านบาท ถัดมาเป็นด่านมุกดาหาร 30,563 ล้านบาท

ด่านทุ่งช้าง 21,299 ล้านบาท ด่านช่องเม็ก 18,168 ล้านบาท ด่านท่าลี่ 15,238 ล้านบาท ด่านนครพนม 12,253 ล้านบาท ด่านเชียงของ 3,318 ล้านบาท ด่านบึงกาฬ 2,014 ล้านบาท ด่านเชียงแสน 1,011 ล้านบาท ด่านเชียงคาน 56 ล้านบาท และด่านเขมราฐ 39 ล้านบาท

“เราโชคดีที่ทำวิกฤตเป็นโอกาสได้ในช่วงโควิด-19 จาก 97 ด่าน เปิด 26 ด่าน เพื่อให้ค้าขายและขนสินค้าผ่านไปได้ และตอนนี้จะขอเปิดด่านเพิ่มอีกทางฝั่ง สปป.ลาว 9 ด่าน ด้านกัมพูชา 2 ด่าน ด้านมาเลเซียอีก 2 ด่าน

จะทำให้ธุรกิจใหญ่ได้ประโยชน์ทำให้ท้องถิ่นและธุรกิจ SMEs ได้ประโยชน์ไปด้วย รถไฟจีน-สปป.ลาว จะช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มหาศาล เป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าได้อีกมาก รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะได้รับอานิสงส์ด้วย”

ด้าน ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร กรรมการที่ปรึกษา สภาธุรกิจไทย-สปป.ลาว กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของจีน รถไฟที่มาภูมิภาคอาเซียนเส้นโม่หาน-เวียงจันทน์ และเส้นต่อมาจากคุนหมิง-เมียนมา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่ยังชะลออยู่

เมียนมามีทรัพยากรค่อนข้างมาก เป็นจุดเชื่อมต่ออินเดีย ปากีสถาน ฉะนั้นระบบรางของจีน-สปป.ลาว จะเป็นจุดเปลี่ยนของอนาคตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ที่เป็นรายได้หลักของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่สินค้าไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนา ต้องสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ไม่เช่นนั้นในอนาคตวัตถุดิบข้างในจะมาจากไหนก็ได้ จะเกิดปัญหาการสวมสิทธิ เช่น ทุเรียน

ทั้งนี้ ประเทศไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ 22 ชนิด เป็นข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

ขณะที่ สปป.ลาวได้พิธีสารเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้าผลไม้มากถึง 87 ชนิด รวมถึงด้านปศุสัตว์ด้วย แต่สินค้าจาก สปป.ลาวไปจีนไม่น่าจะมีปริมาณเพียงพอจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยมีเวียดนามเป็นคู่แข่งอีก

ในอนาคตหนองคายจะเป็นปลายทางของล้งผลไม้ที่อยู่ใกล้เส้นทางการขนส่งไปจีนมากที่สุด และการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนผ่านเส้นทางระบบรางของจีน-สปป.ลาว เร็วที่สุดอาจจะเริ่มต้นในช่วงตรุษจีนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565

แต่ขึ้นอยู่กับภาครัฐของไทยในการเจรจาและผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องให้ภาครัฐคุยกับภาครัฐ ขณะเดียวกันราคาค่าขนส่งก็ยังไม่นิ่ง เบื้องต้นอัตราค่าโดยสารประมาณ 22 บาท/ตัน และไม่ว่าจะส่งของเต็มตู้หรือไม่ราคาอยู่ที่ 17 หยวน/กม.

“ปัจจุบันการลงทุนทั้งไทย จีน อยู่ที่ สปป.ลาว แม้จะพูดว่าเราไม่ตกขบวนแต่ถ้าเราไม่รีบตกแน่ ๆ เพราะมาเลเซีย-ท่าเรือตรังกานูกับกัมพูชาก็กำลังพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มที่เพื่อขนส่งสินค้าจากเรือมาต่อราง

ถ้าประเทศไทยยังไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติม อนาคตจบเลย ส่วนผู้ประกอบการก็ควรรวมกลุ่มกันโดย 4 เสาหลักคือ องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาหรือวิจัย”