พลอยเมืองจันท์หวั่นโอไมครอน โมซัมบิกแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ 70%

ผู้ค้าพลอยจันทบุรี หวั่น “โอไมครอน” ทำพลอยดิบขาดหนัก เหตุต้องนำเข้าจากแหล่งใหญ่ในแอฟริกา-โมซัมบิก ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบพลอย นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯเผยล่าสุดบริษัทค้าอัญมณีรายใหญ่จาก กทม.เริ่มกว้านซื้อพลอยในเมืองจันท์แต่ไม่มีสินค้าขาย โรงงานเจียระไนทยอยปิดตัวเพียบ

ภาวะปกติจังหวัดจันทบุรี มีมูลค่าการค้าอัญมณีประมาณ 50,000 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็นตลาดซื้อขายภายใน 20,000 ล้านบาท ตลาดเจียระไนพลอยเนื้อแข็งในรูปอุตสาหกรรมส่งออก มูลค่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจันทบุรีเป็นฐานการผลิตที่สำคัญถึง 80-90%

แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ซื้อชาวต่างประเทศเข้ามาซื้อในประเทศไทยไม่ได้ ตลาดพลอยจันท์ปิดต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด และมีพ่อค้าชาวแอฟริกันที่มาตั้งรกรากในจันทบุรี ส่งผลให้ยอดการขายตลอดช่วงปี 2563 ดิ่งลงต่อเนื่อง 80-90% และเพิ่งเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงนี้ปี 2564

แต่ล่าสุดเมื่อพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” รัฐบาลไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไทย ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบ เพราะแหล่งวัตถุดิบพลอยส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบแอฟริกา

นายอดิศักดิ์ ถาวรวิริยะนันท์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาจันทบุรีขาดแคลนวัตถุดิบพลอยดิบอยู่แล้ว และพลอยที่มีอยู่ไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า และมีโรงงานเจียระไนปิดกิจการไปค่อนข้างมาก

ทำให้บริษัทอัญมณีขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่เข้ามาหาซื้อสินค้าพลอย และต้องการมาว่าจ้างโรงงานเจียระไน ไม่ได้สินค้าตามที่ต้องการ ต้องปรับตัวไปหาแหล่งพลอยจากที่อื่นทดแทน และยิ่งมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

รัฐบาลประกาศทำให้ต้องหยุดการเดินทางเข้าไปซื้อพลอย ขณะที่คนขายพลอยจากแอฟริกาใต้หลายประเทศก็เดินทางเข้ามาไทยไม่ได้ ยิ่งทำให้วัตถุดิบพลอยที่มีค่อนข้างน้อยอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คงต้องดูสถานการณ์หลังปีใหม่ 2565 อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ที่ผ่านมาผู้ค้าพลอยในจันทบุรีประสบปัญหาขาดแคลนพลอยดิบที่จะนำมาเจียระไนอยู่แล้ว

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลสั่งปิดประเทศ ทางฝั่งผู้ซื้อหรือลูกค้าต่างชะลอการซื้อเครื่องประดับ ด้านผู้ขายจึงหยุดการผลิต และไม่มีการซื้อวัตถุดิบเข้ามา

แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ฝั่งผู้ซื้อฟื้นตัวก่อนเริ่มกลับมาจับจ่ายซื้อเครื่องประดับ แต่ฝั่งผู้ขายเตรียมการไม่ทัน ทำให้ขาดวัตถุดิบพลอยดิบไปเจียระไน ยิ่งมาพบสถานการณ์แพร่ระบาดของโอไมครอน รัฐบาลออกมาตรการประกาศไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบ

เนื่องจาก 1 ใน 8 ประเทศเสี่ยง มีประเทศโมซัมบิก ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของไทยมากกว่า 70% ถ้าปิดกั้นการเดินทางจะกระทบต่อการผลิต ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและทำให้วงการค้าพลอยเริ่มหวั่นวิตก

“ตอนนี้ผลกระทบของโอไมครอนเพิ่งเกิดและอาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมิน ที่ผ่านมาวัตถุดิบพลอยในประเทศขาดมาพักใหญ่แล้ว ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างชะลอการค้าขายจากสถานการณ์โควิด แต่พอฟื้นตัวผู้ซื้อมาก่อนผู้ขาย เพราะฉะนั้นจะมีช่วงของการขาดซัพพลายวัตถุดิบ

ขณะที่ตลาดผู้ซื้อยังไม่เปิดเต็มที่ คือ จีน ยังปิดประเทศ ฉะนั้น ผลกระทบชัด ๆ ยังไม่มี แต่ข้อเสีย คือ ผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางที่ไม่มีคู่ค้าชัดเจนต่อเนื่อง อันนี้เหนื่อย เฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ทำให้หยุดค้าไปประมาณ 40% จากครัวเรือนที่อยู่ในวงการค้าอัญมณีมีประมาณ 5,000 ครัวเรือน”

ด้าน นพ.อภิรักษ์ พิสุทธิ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันใน จ.จันทบุรี มีชาวแอฟริกันมาค้าขายพลอย และเป็นครูสอนภาษา 647 คน ตรวจสอบแล้วไม่ได้เดินทางกลับประเทศ แต่เดินทางไป-มาระหว่างจันทบุรี-กรุงเทพฯ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนพบว่ามีผู้ค้าพลอยเดินทางมาจากประเทศในแอฟริกาใต้แต่ไม่ใช่ 8 ประเทศที่ห้ามเดินทาง เป็นชาวกินี มาลี ที่เข้ามาทำการค้าพลอยที่จันทบุรี 10 คน มีการตรวจไม่พบเชื้อ 6 คน และ 4 คนถูกกักตัวที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ผลตรวจไม่พบเชื้อ เดินทางมาจันทบุรีแล้ว และตรวจซ้ำไม่พบเชื้อแต่อย่างใด

ส่วนกรณีการนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ได้นำเข้าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม มีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยก่อนเข้ามาในประเทศ แรงงานต้องแสดงเอกสาร ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม (กรณีวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 1 เข็ม)

ผลตรวจ RT PCR หรือ ATK ภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อเข้ามาไทยตรวจครั้งที่ 1 ก่อนส่งที่กักตัว 7 วัน และก่อนออกจากกักตัววันที่ 6-7 ตรวจครั้งที่ 2 จากนั้นจึงให้นายจ้างรับตัวไปขึ้นทะเบียนแรงงาน และในช่วงระหว่างการทำงานจะต้องตรวจ ATK ทุก ๆ 7 วัน

ส่วนคนไทยที่อาจจะไปค้าขายกับประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ยังเดินทางกลับได้ แต่ต้องกักตัว 7 หรือ 14 วัน ตามกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง