ก้าวไปอีกขั้นสำหรับวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย กับเทคโนโลยียุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาลบภาพการตรวจสอบสภาพอาคารและตึกแบบเก่า โดย “ธัมมา วรางกูร” เจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท เซ็นโทรวิชั่น จำกัด
และสมาชิก YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce : YEC) จังหวัดนนทบุรี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันระดับประเทศ ในโครงการ YEC Pitching ปี 6 ซึ่งจัดขึ้นในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 39 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
“ธัมมา” เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมามีโอกาสได้ร่วมงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของกระทรวงพาณิชย์ และได้รู้จักกับ “กมลวัฒน์ ตุลยสุวรรณ” ประธาน YEC จังหวัดนนทบุรี
กระทั่งปี 2563 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มองว่าธุรกิจต้องมีการปรับตัว จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการ YEC นนทบุรี ซึ่งการเข้าร่วมโครงการทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับหลายคน และมองเห็นแนวทางว่าต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง
“ตอนที่เข้ามาร่วมกลุ่ม YEC เป็นช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก และยังไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ YEC จัดมากนัก เพราะทุกงานที่วางแผนจัดขึ้นมีการยกเลิกเกือบหมด แต่พอมาปี 2564 ทาง YEC ได้มีการจัดโครงการ YEC Pitching ในรูปแบบออนไลน์
โดยมีหัวข้องานคือ การต่อยอดธุรกิจจากรุ่นเตี่ยสู่รุ่นเสี่ย ซึ่งเราก็ได้รับความรู้มากมายจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เข้ามาช่วยในการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง จากเดิมที่ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษา
โดยย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน มีลูกค้าต้องการสำรวจพื้นที่ด้านการเกษตร เพราะจะลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย ซึ่งตอนนั้นลงทุนซื้อเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับสำรวจพื้นที่
แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถนำไปใช้ในงานได้จริง เราจึงได้นำแนวคิดตรงนั้นมาสร้างโดรนของเราเอง เพื่อนำมาใช้บินสำรวจพื้นที่ในประเทศอินโดนีเซียหลายแสนไร่ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกของบริษัท”
หลังจากจุดเริ่มต้น ต่อมาธุรกิจก็ถูกดิสรัปชั่นจากหลายอย่าง อาทิ โดรนเล็กที่ใช้ถ่ายภาพข่าวหรือภาพยนตร์มีมากขึ้น ทำให้ลูกค้าที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ว่าจ้างให้เข้าไปสำรวจพื้นที่น้อยลง จึงคิดหาวิธีการพัฒนาธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
จากการสังเกตโดรนลำเล็กจะเหมาะกับการบินในแนวดิ่ง นำไอเดียนี้เข้าสู่การประกวด YEC Pitching คือการสำรวจแนวดิ่ง โดยใช้เทคโนโลยี CenSolution เป็นการตรวจสอบรอยร้าวอาคาร ด้วยนวัตกรรมCenInspect ของ Centrovision
โดยมกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ อสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้ากลุ่มเป้ารองคือ โรงงาน
“ตลาดเป้าหมายของเราตอนนี้คือ ตลาดสิ่งปลูกสร้างที่มีความเก่า โดยเจาะไปที่ตลาดคอนโดมิเนียม โบราณสถาน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ สำหรับตัวอาคารสูงเท่าไหร่ยิ่งดี
เพราะจะข้ามข้อจำกัดระดับสายตา ในการสำรวจเราจะใช้โดรนในการถ่ายภาพและนำภาพถ่ายเข้าซอฟต์แวร์ AI ที่เรามีการพัฒนาไว้รองรับเพื่อวิเคราะห์ภาพถ่าย เวลาเราขายก็ขายข้อมูลภาพถ่ายที่มีการวิเคราะห์แล้ว
ส่วนโรงงานต้องทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถบอกพิกัดเพื่อปกป้องโรงงานได้ในกรณีที่มีความเสื่อมของอาคาร ซึ่งไม่ได้เสื่อมจากภายในอย่างเดียว แต่เสื่อมจากภายนอกด้วย ยกตัวอย่างกรณีการเกิดน้ำท่วม”
ทั้งนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างขึ้นมาจะมีความเสื่อมไปตามเวลา ฉะนั้น สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างคือตลาดของบริษัท แต่หลัก ๆ ที่ได้รับผลตอบรับดีคือสิ่งปลูกสร้างที่มีคนอาศัยอยู่
เพราะจะมีความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก และถึงแม้จะไม่มีคนอาศัย แต่จะมีการดำเนินงานอยู่ข้างในตึก ถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจะส่งผลให้การดำเนินงานจะหยุดชะงัก การใช้ CenSolution
จะช่วยให้คนที่เดินตรวจสอบงานมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้คนโรยตัวลงมาจากตึก เพื่อตรวจสภาพตึก ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนตัดเชือกหรืออีกหลายกรณี ทั้งยังช่วยในการแบ่งเบาภาระและทำให้การทำงานเร็วขึ้นอีกด้วย
โดยการทำงานจะใช้โดรนบินข้างนอกทะลุเข้าไปถึงด้านในตึก แต่ในอนาคตข้างในตึกจะใช้หุ่นยนต์หรือโดรนบิน เพื่อเก็บข้อมูลให้ AI รับรู้ถึงโครงสร้างของตึก สุดท้ายก็สามารถถอดแบบไปสู่ BIM (ระบบสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคาร) ได้อย่างแม่นยำ
“ธัมมา” บอกว่า ระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งกระบวนการสำรวจขึ้นอยู่กับสถานที่หรือตึกนั้น เช่น ตึก 36 ชั้น จะใช้เวลาบินโดรนเพื่อเก็บภาพของตัวอาคารประมาณ 1 วัน
และนำรูปภาพมาประมวลผลใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายจะถูกคิดตามขนาดพื้นที่ ราคาเบื้องต้นอยู่ที่ตารางเมตรละ 10 บาท หากมองถึงความคุ้มค่าจะเป็นการประกันวินาศภัย ซึ่งเบี้ยประกันต่อปีเพิ่มขึ้นทุกปีเมื่ออายุการใช้งานเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย
“เรามีโอกาสได้เข้าไปเวิร์กช็อปกับบริษัทประกันวินาศภัย 2 แห่ง ซึ่งเขาสามารถลดเบี้ยประกันวินาศภัยให้กับตึกที่มาทำกับเราได้ เราคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของอาคารหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก
เพราะเป็นการลดและสามารถประเมินความเสี่ยงของอาคารได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันเรามีลูกค้าและมีการเก็บข้อมูลค่อนข้างมาก ตอนนี้เราถือว่าเป็นเจ้าแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ในตลาดนี้
หากเทียบกันกับบริษัทอื่นที่เพิ่งทำตลาด ทั้งข้อมูลและรูปภาพ เราแม่นยำกว่า ด้วยซอฟต์แวร์ที่เข้ามาประมวลผล เราได้มีการพัฒนาสอนให้ AI รู้จักรูปภาพโดย AI จะอยู่ที่ดาต้าเซต ด้วยการมองปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น รอยร้าว คราบสีซึ่งในแต่ละตึกก็จะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป”
ขณะเดียวกัน CenSolution ในพื้นที่ต่างประเทศก็มีการใช้เทคโนโลยีนี้และทำอยู่แล้ว อาทิ อังกฤษสิงคโปร์ ตลาดค่อนข้างดี เพราะเคยมีเหตุการณ์ในประเทศอังกฤษ ที่ตึกเกิดเหตุไฟไหม้จนประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
จึงมีการออกกฎหมายให้ทุกตึกต้องสำรวจคล้าย CenSolution ส่งข้อมูลไปทางเทศบาล เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ
“ปัจจุบันเราโฟกัสตลาดกรุงเทพมหานคร พัทยา ชลบุรี ในอนาคตก็หวังว่าจะได้เข้าไปในพื้นที่อินโดนีเซีย จาการ์ตา มาเลเซีย เวียดนาม เพราะจากการประเมินตลาดค่อนข้างใหญ่ ก็หวังว่าธุรกิจจะเจริญก้าวหน้า
และขยายตัวออกไปต่างประเทศ ในปีหน้าเราเล็ง 1-2 ตลาดในอาเซียน ซึ่งเครือข่ายหอการค้าก็มีหลายบริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เรามองว่าสามารถไปได้โดยมีรุ่นพี่แนะนำ และจะไปเซอร์วิสโรงงานของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศก่อนเป็นสเต็ปแรก”