แห่สมัครตลาดประชารัฐ เปิดพรึ่บทั่วไทย 5ธันวา

พ่อค้าแม่ค้าแห่สมัครร่วมโครงการตลาดประชารัฐ 9 ประเภท ดีเดย์ปูพรมเปิดพรึ่บทั่วไทย 5 ธันวา 60 แม่งานหลัก 10 หน่วยงานเร่งจัดสรรพื้นที่ ขยายตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ให้ผู้ค้า หวั่นราคายาง-ปาล์มผันผวน ฉุดการใช้จ่ายของคนในท้องถิ่นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ตลาดประชารัฐทั้ง 9 รูปแบบ จะเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ทุกจังหวัด (76 จังหวัด) และทุกอำเภอ (878 อำเภอ) ดำเนินการเปิดตลาดประชารัฐ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2560 นี้เป็นต้นไป ซึ่งรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีพื้นที่ตลาดใหม่ ขยายพื้นที่ตลาดเดิม เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ค้าขายมากขึ้นทั้งผู้ประกอบการสินค้าเกษตร โอท็อป เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร หาบเร่ แผงลอย ซึ่งมีผู้ค้ารายเก่าและใหม่เข้ามาลงทะเบียนจำนวนมาก

นายศเนติ จิรภาสอังกูร ผู้อำนวยการ กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยอดผู้ลงทะเบียน 1,518 ราย (ณ วันที่ 22 พ.ย. 60) โดยมีทั้งผู้ที่ทำการค้าขายอยู่แล้วตามตลาดนัดต่าง ๆ และต้องการขยายตลาดสินค้าให้กว้างขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ตลาดประชารัฐที่ผู้ลงทะเบียนสนใจมากที่สุดคือ ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ และตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตลาดประชารัฐของ จ.ลำพูน มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 508 คน ประเภทสินค้าที่ได้รับความสนใจจำหน่ายมากที่สุดคือ สินค้าโอท็อป อาหารปรุงสำเร็จ และสินค้าเกษตร

ด้านนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า มีผู้มาลงทะเบียนระหว่างวันที่ 10-23 พ.ย. 60 จำนวน 836 ราย หลังจากนี้จะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ มาช่วยกันวิเคราะห์ผู้ค้า และสินค้า ว่าจะสามารถวางขายตลาดใดได้บ้าง ส่วนตลาดที่เป็นที่นิยม เช่น ตลาดเกษตรกรหรือตลาดร่มเขียว ที่เปิดขายทุกวันศุกร์และวันเสาร์นั้นก็มีแนวทางที่จะเปิดแห่งที่ 2 บริเวณด้านหลังโรงพยาบาลอุดรธานี

นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เป็นการให้โอกาสคนขายของได้มีที่ขาย แต่คนซื้อจะซื้อหรือไม่ ราคาจะเป็นอย่างไร ถ้าขายของไม่ได้ก็ต้องพัฒนาการผลิต ตนมองว่าโจทย์ของตลาดประชารัฐ คือ การช่วยกันพัฒนาคนมาขายสินค้าให้สามารถเดินต่อไปได้ เชื่อว่ายังมีกำลังซื้ออีกมาก

สำหรับภาพรวมตลาดประชารัฐที่ดำเนินการใน จ.อุดรธานี มี 8 ประเภท จาก 9 ประเภท ได้แก่ 1.ตลาดประชารัฐ Green Market คือ ตลาดร่มเขียว หรือตลาดเกษตรกร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี 2.ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอุดรธานี 31 แห่ง 3.ตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอุดรธานี แบ่งเป็นตลาดที่ อปท. ดูแล 57 แห่ง และตลาดที่เอกชนดูแล 87 แห่ง รวม 144 แห่ง

4.ตลาดประชารัฐ ของดีจังหวัด โดยเทศบาลนครอุดรธานี อยู่ระหว่างการพิจารณา 5.ตลาดประชารัฐ Modern Trade สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี 2 แห่ง 6.ตลาดประชารัฐ ของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. โดยสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง 7.ตลาดประชารัฐ ต้องชม โดยสำนักงานพาณิชย์อุดรธานี 3 แห่ง 8.ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม 1 แห่ง คือ แหล่งท่องเที่ยวบ้านเชียง อ.หนองหาน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ จ.หนองคาย มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 746 ราย จ.มหาสารคาม 975 ราย จ.ตรังจำนวนกว่า 1,000 ราย ซึ่งผู้ค้าที่ไปลงทะเบียนส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าเก่าที่เดินสายขายสินค้าตามตลาดนัดเดิมอยู่แล้ว ส่วน จ.ตราด มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 588 ราย

สำหรับ จ.สระแก้ว มียอดลงทะเบียน ณ วันที่ 25 พ.ย. 60 จำนวน 562 ราย ตลาดที่ผู้ลงทะเบียนสนใจ 3 อันดับแรก คือ ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ 425 ราย ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ 275 ราย และตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส.103 ราย สำหรับตลาดที่จะขอจัดสรรเพิ่ม ได้แก่ ตลาดของดีจังหวัด โดยบริษัทประชารัฐฯและตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. จากเดิม 1 แห่ง อ.คลองหาด จัดสรรพื้นที่เพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ ที่สาขาอรัญประเทศ วังน้ำเย็น เขาฉกรรจ์ และสาขาสระแก้ว

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตลาดนัดทั่ว ๆ ไปก็เปิดขายสลับกันทุกสัปดาห์อยู่แล้ว แต่การเปิดตลาดก็ต้องขึ้นกับทำเล และผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาขายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ หากเป็นตลาดตามชุมชนทั่วไป ยอดขายก็คงไม่หวือหวา เพราะแต่ละจังหวัดก็มีค้าปลีกยักษ์ขายสินค้าทุกอย่างอยู่แล้ว แต่จะดีสำหรับเมืองท่องเที่ยว

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จะเปิดตลาดประชารัฐในวันที่ 2 ธ.ค. 60 โดยใช้ตลาดหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นตลาดประชารัฐนำร่อง เปิดเฉพาะวันเสาร์

นายกรกฏ เตติรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหน้าพระธาตุที่หอการค้าดูแลอยู่เป็นตลาดใหม่ ซึ่งภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนอยู่แล้ว โดยรูปแบบยังคงเดิม แต่จะเพิ่มการบริหารจัดการและพื้นที่ในการค้าขาย

“ภาพใหญ่ของประเทศ การส่งออกดีขึ้น แต่การใช้จ่ายของคนในท้องถิ่นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ โดยเฉพาะภาคใต้ต้องพึ่งยางพารา และปาล์มน้ำมัน ถ้าราคายังอยู่ในระดับนี้ ก็ไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้” นายกรกฏกล่าว