กฎบัตรเร่งฟื้นโรงแรมภูธร ดันแก้กฎหมายเปิดคลินิกสุขภาพถาวร

กฎบัตรผนึกสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทยดันแก้ 2 กฎหมายหลัก “พ.ร.บ.โรงแรม-สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” ให้เปิดกิจการคลินิกผลิตภัณฑ์ความงามและการส่งเสริมสุขภาพในโรงแรมได้ อุ้มโรงแรมห้องพักล้นมาขายแพ็กเกจบริการสุขภาพแทน

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกฎบัตรได้ร่วมกับทางสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย โรงแรมในจังหวัดต่าง ๆ ยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องใน 3 เรื่องหลัก

ได้แก่ 1.เรื่องการขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม

เนื่องจากที่ผ่านมากว่าจะเปิดดำเนินกิจการได้ต้องติดต่อขอใบอนุญาตถึง 10 หน่วยงานซึ่งค่อนข้างมีความยุ่งยากให้นำมารวมกันเป็นแห่งเดียว (one stop service)

2.ขอแก้พระราชบัญญัติโรงแรม และพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยให้เพิ่มกิจการบริการคลินิก ผลิตภัณฑ์ความงาม และการส่งเสริมสุขภาพเปิดบริการในโรงแรมแบบถาวรได้

3.เสนอให้ยกร่างมาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีและจำเป็นต้องเปลี่ยนจากศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub) เป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพและการบริการส่งเสริมสุขภาพ (medical & wellness hub)

โดยเดือนมกราคม 2565 จะมีการประชุมและนำเสนอให้ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก เชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าโรงแรมร้อยละ 20 จะปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจ medical & wellness ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงแรมที่ขายห้องพักอย่างเดียวมาขายแพ็กเกจบริการสุขภาพจะช่วยให้กิจการโรงแรมฟื้นตัวได้

“ที่ผ่านมาคลินิก สถานฟื้นฟูความงามไม่สามารถตั้งอยู่ในโรงแรมได้ เนื่องจากเป็นกิจการคนละประเภท ดังนั้น ทางสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทยทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายกฎบัตรสุขภาพพยายามช่วยกันผลักดัน

ล่าสุดอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ลงนามให้พื้นที่แซนด์บอกซ์ เช่น พัทยา ภูเก็ต สามารถนำคลินิกหรือสถานฟื้นฟูความงามเข้าไปตั้งในโรงแรมได้ โดยออกเป็นประกาศของกระทรวง แต่ต่อไปถ้ามีการแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรมให้ถือเป็นกิจการโรงแรมประเภทหนึ่ง มีโรงแรมหลายแห่งอยากดำเนินการ

เพราะหลังจากโรคโควิด-19 ห้องพักในโรงแรมเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยมีห้องพักรวมทั้งหมดประมาณ 7 แสนกว่าห้อง อัตราการเข้าพักก่อนโรคโควิด-19 อยู่ที่ประมาณร้อยละ65-70

หลังโรคโควิด-19 ระบาดอัตราการเข้าพักลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3-5 มีการประมาณการว่าการมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 20-30 ล้านคนต่อปีเหมือนในอดีตคงเป็นไปไม่ได้แล้ว เราจึงมองหาวิธีเพื่อแก้ปัญหาห้องพักที่เหลือ

หากเปลี่ยนเป็นคอนโดฯหรือเปลี่ยนเป็นหอพักจากการวิเคราะห์แล้วเป็นไปได้ แต่เนื่องจากตลาดของอสังหาริมทรัพย์แนวตั้งตลาดถือว่าไม่ดี เราจึงมีความคิดอยากเปลี่ยนจากโรงแรมมาเป็นโรงแรมเวลเนสโดยการเพิ่มกิจกรรมต่าง ๆ

อีกทั้งโรงแรมบางส่วนได้มีการปรับแล้วโดยเฉพาะเครือโรงแรมขนาดกลางและใหญ่ซึ่งประสบผลสำเร็จ มีโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตอยากทำในจุดนี้ด้วย”

ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยนานาชาติสุขภาพระหว่างประเทศ

พบว่ามูลค่าอุตสาหกรรมตลาดการแพทย์อยู่ที่ปีละ 60,000 ล้านบาท แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ (wellness industry) อยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตของโรงแรมในปัจจุบันและช่วยประชาชนฐานรากได้

ดังนั้น ทางกฎบัตรจึงได้มีการจัดตั้งหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านมาได้มีการฝึกอบรมรุ่น 1 ไปแล้วที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีผู้ประกอบการมาเรียน 120 คน ใช้เวลาเรียน 165 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 สาขา

ได้แก่ 1.สาขาวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ 2.การวางแผนตลาด 3.การบริหารกิจการเวลเนส 4.อาคารสุขภาพ และในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เปิดหลักสูตรในภาคตะวันออก โดยมีคณะสหเวชศาสตร์ และคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นแกนกลาง เมื่อจบหลักสูตรแล้วทางมหาวิทยาลัยจะออกใบประกาศนียบัตรให้

สำหรับแผนงานระยะ 6 เดือนหลังจากทำบันทึกข้อตกลง (MOU) มี 8 เรื่องได้แก่ 1.เร่งรัดเสนอวาระพิเศษการพัฒนาสปาน้ำพุร้อนเป็นวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการประชุมสัญจรจังหวัดกระบี่ไปแล้ว

2.การลงนาม MOU รอบที่ 2 สนับสนุนนโยบายการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเวลเนสโลก ทั้งนี้ คาดว่าจะลงนาม MOU รอบ 2 ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 3.เร่งรัดเปิดหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับพื้นที่แซนด์บอกซ์

4.การนำหลักสูตร 165 ชั่วโมงเทียบเคียงกับกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ และเทียบเคียงกับหลักสูตรมาตรฐานของต่างประเทศเพื่อใช้เป็นฐานในการขอการรับรองร่วมกันในอนาคต

5.การวิจัยเพื่อวางแผนกำลังคนในระบบเศรษฐกิจเวลเนสระดับประเทศ 6.การพุ่งเป้าไปยังการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 7.การพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรร่วม 8.การจัดทำฐานข้อมูลผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรม

“ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากการประมาณการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประเทศไทย พบว่าใช้จ่ายสุขภาพอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของ GDP หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องการส่งเสริมสุขภาพภายในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ค่าใช้จ่ายจะขึ้นไปที่ร้อยละ 3 ของ GDP

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชั้นกลางลงมาชนชั้นล่าง เนื่องจากถูกบีบด้วยความไม่มั่นคงของงาน มูลค่าของอาหารและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริการ ราคาสูงขึ้น ตอนนี้กฎบัตรสุขภาพคือพุ่งเป้าไปยังกล่องเวลเนสหรือการส่งเสริมสุขภาพ

ซึ่งถ้าหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขจะส่งให้ลำบากในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์บริการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บริการที่เป็นกิจวัตร ทางกฎบัตรจึงคิดว่าหากมีกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

คือ ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำและเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความมั่งคั่ง ซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก เราจึงพุ่งไปที่การส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย”