สะพานข้ามโขงเมียนมา-ลาว เปิดใช้ไม่ได้ ปัญหาว้าแดง-รัฐฉาน แผนOne Belt One Roadจีนสะดุด

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก “เมืองเชียงลาบ เมียนมา-เมืองลอง สปป.ลาว” เปิดใช้ไม่ได้ เหตุติดปัญหาเขตอิทธิพลกลุ่มว้าแดง-รัฐฉาน แผนเชื่อม One Belt One Road จีนสะดุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ได้ร่วมกันก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกเชื่อมระหว่างเมืองเชียงลาบ ประเทศเมียนมา กับเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว

ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 106 กิโลเมตร และติดกับท่าเรือเชียงกกซึ่งเป็นเมืองท่าในแม่น้ำโขงของ สปป.ลาว กึ่งกลางระหว่างเส้นทางไทย-จีนตอนใต้ โดยมีพิธีเปิดสะพานเมื่อกลางปี 2558 แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการเปิดใช้ด่านพรมแดนทั้ง 2 ฝั่งให้เป็นด่านถาวรอย่างเป็นทางการ มีเพียงเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ไม่กี่คน และการสัญจรระหว่างกันยังมีน้อยมาก

นายวิไช บุนสุวัน หัวหน้าตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเชียงกก เมืองลอง สปป.ลาว กล่าวว่า หลังจากเปิดสะพานไปแล้วก็ยังไม่มีการเปิดด่านพรมแดนเป็นด่านถาวรในปัจจุบันเป็นลักษณะของจุดผ่อนปรนที่มีชาวบ้านทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวหรือบอร์เดอร์พาสผ่านไปมาลักษณะเยี่ยมเยียนกันของญาติมิตรระหว่างหมู่บ้าน 2 ฝั่งเท่านั้น โดยทางการลาวทำเป็นเอกสารบอร์เดอร์พาสให้ข้ามไปมาได้ชั่วคราว รวมทั้งไม่มีการขนส่งสินค้าใหญ่ ๆ เพราะไม่ใช่ด่านสากล เนื่องจากทางการเมียนมายังไม่ได้เปิดด่านให้เป็นสากล ขณะที่ฝั่ง สปป.ลาว นั้นมีความพร้อมและส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการอยู่แล้ว

“การเปิดด่านพรมแดนเมียนมา-สปป.ลาวดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในเส้นทางตามโครงการวันเบลต์วันโรด (One Belt One Road) ของประเทศจีนที่จะเชื่อมโยงระหว่างจีนตอนใต้และเส้นทางใน สปป.ลาว ทั้งทางเรือแม่น้ำโขงเข้าสู่ประเทศเมียนมา และไปยังถนนอาร์สามบี-อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยปัจจุบันมีอาคารสถานที่พร้อมสรรพแต่เนื่องจากยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการทำให้เจ้าหน้าที่ของลาวยังคงประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ตรงท่าเรือเชียงกกเพื่อดูแลการเข้าออกเมืองทางเรือแม่น้ำโขงไปก่อน”

นายวิไชกล่าวอีกว่า เนื่องจากยังไม่เปิดด่านตรงสะพานอย่างเป็นทางการ ทำให้ปัจจุบันยังคงใช้ท่าเรือแม่น้ำโขงเป็นจุดเข้าออกหลัก แต่มีสถานะเป็นเพียงจุดผ่อนปรน โดยตั้งอยู่ห่างจากชายแดนจีน-สปป.ลาว ทางแม่น้ำโขงประมาณ 167 กิโลเมตร และทางบกตรงจุดผ่อนปรนด่านปางไฮ แขวงหลวงน้ำทา ติดกับเมืองมาง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน 71 กิโลเมตร

นอกจากนั้น ยังห่างจากเมืองหลวงน้ำทาบนถนนอาร์สามเอที่เชื่อม อ.เชียงของ-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ประมาณ 130 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางเส้นทางคมนาคมของภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่เป็นด่านสากลทำให้การเดินทางไม่สามารถไปเรือกลับรถ หรือไปทางรถแล้วเปลี่ยนมาเดินทางด้วยเรือไม่ได้

สะพานแห่งแรก – สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกเชื่อมระหว่างเมืองเชียงลาบ เมียนมา กับ เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 106 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้เป็นทางการได้เพราะติด ปัญหาเขตอิทธิพลของกลุ่ม ว้าแดง และอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน

สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามที่จะไปพักบนฝั่งก็ต้องฝากหนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ตไว้ที่ด่านก่อนเข้าพักบนฝั่งเพื่อพักได้ชั่วคราว แต่หากเอกชนนำเที่ยวต่างประเทศร่วมมือกับเอกชนนำเที่ยวใน สปป.ลาว ก็สามารถพานักท่องเที่ยวตามเส้นทางชั้นในของประเทศได้โดยเฉพาะปี 2561 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวลาว ซึ่งรัฐบาลก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่แล้วด้วย

ขณะที่ในอนาคต อาจจะมีการเปิดด่านถาวรระหว่างด่านปางไฮ-เมืองมาง ซึ่งจีนพยายามจะให้เปิดเต็มที่เพื่อเชื่อมกับท่าเรือเชียงกกและสะพานน้ำโขงดังกล่าว แต่ทางลาวเราอยากให้เปิดท่าเรือเชียงกกเป็นด่านถาวรคู่กันด้วย

ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หากมีการเปิดสะพานและท่าเรือเชียงกกก็จะทำให้การคมนาคมในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะเชียงกกอยู่กึ่งกลางแม่น้ำโขง ปัจจุบันยังเป็นท่าเรือแห่งเดียวที่ใช้เติมน้ำมันเรือสินค้าและยังมีสะพานเชื่อมเมียนมา-สปป.ลาว และเชื่อมจาก อ.แม่สาย-เชียงลาบ ประมาณ 101 กิโลเมตร

ด้านแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงชายแดน กล่าวว่า ทางการเมียนมายังไม่มีการเปิดด่านพรมแดนตรงสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงลาบ เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างสะพานอยู่ในการดูแลของรัฐบาลกลางเมียนมา แต่พื้นที่ชั้นนอกเป็นเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยว้าแดงในเขตปกครองพิเศษที่ 2 สหรัฐว้า ส่วนพื้นที่โดยรวมอยู่ในเขตรัฐฉาน ซึ่งมีการจัดประชุม 3 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ


สำหรับสะพานแห่งนี้มีมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลเมียนมาและ สปป.ลาว ลงทุนฝ่ายละครึ่ง สะพานมีความยาว 691.60 เมตร กว้าง 10.9 เมตร รับน้ำหนักรถบรรทุก 10 ล้อได้ 75 ตัน พื้นที่ใต้สะพานรองรับเรือขนาด 599 ตันกรอสให้ลอดผ่านไปได้