เบรกสร้าง “อ่างวังโตนด” กรมอุทยานฯสั่งทบทวนสิ่งแวดล้อม

ผ่านไป 6 เดือนหลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะทันทีที่อนุมัติ มีกระแสคัดค้านจาก “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ผนึกกับ 10 องค์กรเครือข่าย ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ยุติโครงการ” ดังกล่าว

โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่ ที่จะทำการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าจำนวนมาก

เพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า และเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายให้ประชาชน นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิดนั้น

กรมอุทยานฯจี้ทบทวนมติ

ล่าสุด ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แจ้งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า

กรมอุทยานฯยังไม่ได้อนุญาตให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ทำประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด เนื่องจากพื้นที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ และเป็นการกระทำลักษณะต้องห้ามตามความในมาตรา19 ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ไม่สามารถอนุญาตได้

โดยให้กรมชลประทานพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของโครงการอีกครั้ง เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นให้น้อยที่สุด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ที่จะก่อสร้างออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยต้องตราพระราชกฤษฎีกา ตามเงื่อนไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

“กรณีข้อกฎหมายของกรมอุทยานฯดังกล่าว อ่างวังโตนดผ่านกระบวนการมติเห็นชอบผลการศึกษา EHIA จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 คือฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลเห็นชอบให้ดำเนินการแล้วเนื่องจากเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำและสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจสำคัญของภาครัฐ หรือ EEC และมีโครงการสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงอ่างประแสร์และอ่างบางพระที่ต้องเชื่อมต่ออ่างวังโตนด ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการพื้นที่อ่างวังโตนดอย่างต่อเนื่องตามแผนที่กำหนดไว้

หากกรมอุทยานฯไม่อนุญาตใช้พื้นที่จะไม่สามารถสร้างอ่างได้ เพราะต้องมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติ และถ้าล่าช้าการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม EHIA เกินกว่า 5 ปี ต้องจัดทำใหม่” ผศ.เจริญ ปิยารมย์กล่าว

ผู้ว่าฯจันท์ย้ำแก้วิกฤตแล้ง

ด้าน นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า กรมชลประทานกับหน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน มีความเห็นร่วมกันให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2538 เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และลดผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชันไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้ไม่มีน้ำทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันโครงการได้ผ่านคณะกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วและอยู่ระหว่างกรมชลประทานเข้าไปสำรวจพื้นที่ เพื่อกำหนดการจัดสรรงบประมาณการเวนคืนที่ดินให้กับประชาชน

สำหรับการพัฒนา “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” เป็น 1 ใน 4 อ่าง ที่เกิดขึ้นใน จ.จันทบุรี ตามโครงการในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร เพราะที่ผ่านมา จ.จันทบุรี แม้จะมีปริมาณฝนตกชุก

แต่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำทำให้น้ำไหลลงทะเล เมื่อหมดหน้าฝนเกิดปัญหาภัยแล้ง จึงต้องการแหล่งกักเก็บน้ำไว้เพื่อบริหารจัดการน้ำ สู่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด เพื่อการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานให้กับภาคเกษตร และถือเป็นแหล่งน้ำเพื่อสำรองให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ มั่นใจว่าการพัฒนาอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ประกอบอาชีพเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากการทำประมงน้ำจืด การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม นอกจากนี้ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการพาณิชยกรรมต่าง ๆ ต้องนำน้ำดิบไปใช้ รวมทั้งการอุปโภคบริโภค ถ้ามีแหล่งน้ำกักเก็บจะสามารถสนับสนุนไปยังระบบประปาตั้งแต่ต้นน้ำวังโตนด กลางน้ำ ปลายน้ำ ก่อนลงทะเล ซึ่งจะเป็นพื้นที่คลองขุด ต.ท่าใหม่ อ.สนามชัย และ ต.รำพัน ขณะเดียวกันสามารถยกระดับอ่างเก็บน้ำ สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำจะเป็นส่วนสำคัญฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และสามารถเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้กับสัตว์ป่า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาช้างป่าที่ลงมาหากินในพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ เพราะอ่างเก็บน้ำสามารถเป็นรั้วป้องกันเพื่อไม่ให้ช้างลงมาโดยตรง ถ้าลงมาต้องเดินทางอ้อม เป็นการสร้างแนวป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่าได้ง่ายขึ้น