แม่ฟ้าหลวงปรับกลยุทธ์ดึงนักศึกษาจีน ม.เชียงใหม่เปิด Onsite คุนหมิงปี’65

ม.แม่ฟ้าหลวง
เครดิตภาพ : มติชน

ก่อนการระบาดของ COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถิติจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม พบว่าจำนวนนักศึกษาชาวจีนที่ศึกษาในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ตลาดแรงงาน และหลักสูตร ประกอบกับ นโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น แต่จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยในจีนไม่เพียงพอ จึงเป็นแรงจูงใจที่ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติมาเรียนยังประเทศไทย

โดยภาพรวมในปี 2563 มีนักศึกษาจีนเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรี 8,352 คน ระดับปริญญาโท 4,056 คน และระดับปริญญาเอก 2,000 คน รวมกว่า 15,000 คน ในภาคเหนือของประเทศมีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่นักศึกษาได้เดินทางกลับประเทศตั้งแต่ต้นปี 2564

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทนา คชเสนี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีจำนวนนักศึกษาชาวจีนในปี 2564 จำนวน 247 คน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563 ที่มีจำนวน 239 คน

แบ่งเป็นปริญญาตรี 165 คน ปริญญาโท 23 คน และปริญญาเอก59 คน โดยนักศึกษาชาวจีนสนใจศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษามากขึ้น แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จึงทำให้ผู้ปกครองและนักศึกษาบางส่วนชะลอการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัย

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มฟล.ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

โดยมีนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลเป็นแบบผสมผสาน (blended learning) เพื่อตอบโจทย์กับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

และได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มฟล. เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการสอนสร้างความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งมอบความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตให้กับนักศึกษา”

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มฟล. มีภารกิจในการแสวงหาและดูแลนักศึกษาต่างชาติ ได้จัดทำแบบสอบถามปัจจัยหรือเหตุผลในการเลือกศึกษาของนักศึกษาชาวจีน (ใหม่) ภาคการศึกษาต้น ประจำปี 2564

โดยนักศึกษาเลือก มฟล. ประกอบด้วยเหตุผลหลัก ได้แก่ หลักสูตรที่เปิดสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอน หลักสูตรมีความหลากหลาย จึงทำให้นักศึกษาชาวจีนเลือกเรียนได้ตามความต้องการ

ตามสาขาวิชามีการปรับปรุงเนื้อหาให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งเอื้ออำนวยให้นักศึกษาสามารถเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ และสามารถโอนหน่วยกิตกลับมายังมหาวิทยาลัยได้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ได้รับรางวัล No.1 Young University in ASEAN 2021 จาก TIME Higher Education มฟล.มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างชาติ มากกว่า 150 ฉบับ กว่า 35 ประเทศ

นอกจากนี้ หลักสูตรมีความน่าเชื่อถือโดยได้รับรอง (accredited) จากสถาบันการศึกษาระดับโลก อาทิ IFT (Institution of Food Technology), THE-ICE (International Centre of Excellence in Tourism and Hospitality Education) ตลอดจนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ มากกว่า 4.5%

และส่งเสริมกิจกรรมที่เสริมสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติให้แก่นักศึกษาตลอดทั้งปี และความสวยของสถานที่ (beautiful campus) ด้วย มฟล. มีทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศจีน สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยที่สวยงาม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน

มช.เปิด Onsite คุนหมิงปีหน้า

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี ฝ่ายบริการสังคมและวิจัย วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (College of Arts, Media and Technology : CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า CAMT ได้รับความสนใจจากชาวจีนเดินทางเข้ามาศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

โดยมีนักศึกษาทั้งไทยและจีนต่อรุ่นราว 400 คน โดยระดับปริญญาตรีมีจำนวนนักศึกษาจีน 60 คนต่อรุ่น และระดับปริญญาโท 20 คนต่อรุ่น ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนนักศึกษาไม่ได้ลดลงหรือลาออก

แต่นักศึกษาบางส่วนยังอยู่ที่ประเทศจีน ไม่สามารถเดินทางกลับมาเรียนตามปกติ (onsite) ได้ และมีนักศึกษาจีนบางส่วนคือ ระดับปริญญาตรี 15 คน และปริญญาโท 15 คน ที่เดินทางกลับมาแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ก็ต้องเรียนในรูปแบบ online เหมือนกันทั้งหมด

โดยตั้งเป้าว่าราวเดือนมกราคม 2565 จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (onsite) ได้ ส่วนนักศึกษาจีนที่ยังเดินทางมาไม่ได้ราว 30 คน จะให้ใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์

แต่จะมีการปรับรูปแบบให้นักศึกษาไปนั่งเรียนที่สถาบันการศึกษาในเมืองคุนหมิง ซึ่งทาง CAMT ได้มีโครงการความร่วมมือด้านการศึกษากับสถาบันการศึกษาหลายสถาบันในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน โดยการเรียนรูปแบบนี้จะทำให้นักศึกษาได้มาพบเพื่อน เสมือนเรียนอยู่ในห้องเรียนจริง

“สำหรับผลกระทบในมิติของการเรียนการสอนในส่วนของ CAMT ค่อนข้างมีมาก โดยเฉพาะเป็นคณะที่ต้องฝึกปฏิบัติจริง ต้องมีการเรียนในห้อง lab ขณะที่การสอนที่เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษทั้งหมด อาจทำให้นักศึกษาขาดสิ่งแวดล้อมในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้”

ดร.ดนัยธัญกล่าวต่อไปว่า นักศึกษาจีนที่มาเรียนที่ CAMT ราว 70-80% มาจากเมืองคุนหมิง และอีกราว 20% มาจากเซี่ยงไฮ้ โดยสาขาการเรียนที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และการจัดการความรู้และนวัตกรรม

โดยเน้นการเรียนเป็นหลักสูตรนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารการเรียนการสอนทั้งหมด นอกจากนี้ CAMT ยังได้ลงนาม MOU ทำหลักสูตรการเรียนการสอน logistics management ร่วมกับมหาวิทยาลัยยูนนาน เป้าหมายคือ รับนักศึกษาจีนให้เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้

โดย 3 ปีแรก อาจารย์จาก CAMT จะไปสอนประจำที่มหาวิทยาลัยยูนนาน และหลังจากนั้น นักศึกษาจีนที่เรียนในหลักสูตรนี้จะต้องเดินทางมาเรียนที่ CAMT อีก 1 ปี จนจบหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งตลาดแรงงานจีนมีความต้องการนักศึกษาที่จบทางด้านนี้สูงมาก

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งปรับตัวรุกตลาดจีนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลยูนนานเป็นตลาดใหญ่ และมีตลาดกำลังซื้อสูงที่นิยมส่งบุตรหลานมาเรียนในมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือของไทย ประกอบกับการเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางกับภาคเหนือ


สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกทั้งทางอากาศและทางบก ซึ่งการชูหลักสูตรการเรียนการสอนนานาชาติ จะเพิ่มความน่าสนใจได้มากขึ้นในอนาคตหลังโควิด-19 คลี่คลาย