“ทรีมันนี่” ยอดสินเชื่อโต 300% เล็งปล่อยกู้พันล้านคนงานภาคตะวันออก

ขณะที่ทุกภาคธุรกิจกำลังประเมินสถานการณ์เพื่อหาทางฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับพิษโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี แต่ “ทรีมันนี่” ผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์รายใหญ่ในภาคตะวันออกกลับเติบโตสวนกระแส

เดินหน้าเพิ่มทุนปล่อยสินเชื่ออีกนับพันล้านบาทในปี 2565 พร้อมกางแผนชิงมาร์เก็ตแชร์จากกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์” ประธานบริหาร บริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด ถึงสถานการณ์การปล่อยกู้ในปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรค และทิศทางการเติบโตของธุรกิจในปี 2565

จี้รัฐคุมเงินกู้นอกระบบ

ไชยวัฒน์บอกว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ของธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ก็ทรงตัวผู้ประกอบการหลายรายมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ค่อนข้างสูง ประเมินว่าทิศทางในปี 2565 น่าจะยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม

ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก หลายบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ก็ไม่หายไปไหน แต่ยอดการปล่อยกู้ไม่เติบโต ต่างกับเงินกู้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นมากและยังไม่เข้าระบบ เพราะภาครัฐไม่ปราบปรามเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบเลย

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจพิโกก็มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ให้ลูกค้ามากู้เงินโดยใช้หลักประกันเป็นบัญชีเงินฝาก 2.กลุ่มที่ใช้สินทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน เล่มรถยนต์ เป็นต้น แต่ทั้งสองกลุ่มผู้ประกอบการมีความเสี่ยงต่างกัน

กลุ่มที่รับบัญชีเงินฝากจะมีความเสี่ยงสูง หากลูกค้าตกงานหรือโรงงานที่ทำอยู่ปิดกิจการ แต่กลุ่มนี้มักจะไม่เบี้ยวหนี้และมีเงินมาคืนสม่ำเสมอ ทำให้การดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตสูง

ขณะที่กลุ่มรับโฉนดที่ดินจะมีความเสี่ยงต่ำหรือแทบไม่มีเลย เพราะมูลค่าที่ดินจะมากกว่าเงินที่กู้ และผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่สนใจ NPL เนื่องจากที่ดินสามารถขายทอดตลาดหรือขายให้บุคคลที่ 3 ได้ การันตีว่าจะได้เงินคืน 100% แต่ค่อนข้างจะมีโอกาสเติบโตได้น้อย หากลูกค้าไม่มีสินทรัพย์จะไม่สามารถไปต่อได้

“ในฐานะผู้ประกอบการพิโกมองว่า การกู้โดยใช้บัญชีเงินฝากยังเติบโตได้อีกมาก จากมูลค่าทางการตลาดของธุรกิจพิโกที่มีอยู่กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนโฉนดที่น่าจะถึงทางตันและไม่สามารถเติบโตขึ้นได้

อาจจะมีการรีไฟแนนซ์กู้จากผู้ประกอบการเจ้าใหม่ไปโปะหนี้เจ้าเก่าไปเรื่อย ๆ โดยใช้โฉนดใบเดียวปั่นราคา ซึ่งการกู้กับผู้ประกอบการเจ้าใหม่ก็ได้เงินมากกว่าเจ้าเก่าเพราะมูลค่าที่ดินมักจะสูงขึ้นตามลำดับ”

ยอดกู้โต 300% สวนทางเศรษฐกิจ

“ไชยวัฒน์” กล่าวว่า ตอนนี้ประเมินสถานการณ์ธุรกิจพิโกกับทิศทางของเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนอาจจะเป็นปกติ

ขณะที่ธุรกิจบางตัวหรือผู้ประกอบการบางรายอาจจะล้มหายไปตามสถานการณ์ เช่น ธุรกิจกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ร้านกาแฟริมทาง แหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง

ถึงกระนั้นธุรกิจเงินกู้หรือการขอสินเชื่อแบบธุรกิจน็อนแบงก์อย่างพิโกถือว่าเติบโตแบบไร้ขอบเขต ส่วนธนาคารจะมีการขอสินเชื่อลดลงด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งกฎเกณฑ์และรูปแบบซึ่งมีเงื่อนไขมาก ทำให้คนเข้าไม่ถึง

สำหรับสถานการณ์ของทรีมันนี่นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบที่แสวงหาแหล่งเงินกู้ถูกกฎหมายและให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

ตัวเลขการปล่อยกู้จาก 170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 300% และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

ขณะเดียวกัน NPL ก็คงเฉลี่ยอยู่ประมาณ 11-12% โดยกลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 70% เป็นแรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเพียง 30% เท่านั้น

ปี’65 ตั้งเป้าปล่อยกู้พันล้าน

เบื้องต้นในเดือนธันวาคม 2564 ได้ปล่อยกู้เพิ่มไปอีก 50 ล้านบาท ลูกค้าเก่าที่มีสัญญากับบริษัททยอยมาจ่ายเงินที่กู้ไปคืนประมาณ 20% เฉลี่ยประมาณ 80 ล้านบาท

ตัวเลขที่ปล่อยกู้ทั้งหมดที่ปิดบัญชีวันที่ 30 ธันวาคม อยู่ที่ 500-550 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2565 จะเพิ่มการปล่อยกู้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท รวมเป็นยอดสินเชื่อทั้งหมด 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องดูว่าจะมีเงินเข้ามาในระบบมากน้อยเพียงใดซึ่งกลุ่มลูกค้าจากที่เคยกู้หนี้นอกระบบมาเข้าสู่ในระบบสามารถชำระได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และกลุ่มที่ลดหนี้นอกระบบได้แล้วก็มีการมากู้เพิ่มอีก ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาตลอด

“ไชยวัฒน์” กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทรีมันนี่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด 9 สาขา ใน 6 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ และจะเพิ่มอีก 2 สาขา ในปี 2565

โดยจะพยายามดันมาร์เก็ตแชร์ของตลาดนี้ให้ได้ 2% ในปี 2568 จากมูลค่าตลาดที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาทก่อนเดินหน้าตามแผนที่ได้วางไว้ว่าจะขยายตัวไปทางภาคอีสานตามแนวรถไฟ สระบุรี โคราช ขอนแก่น อุดรฯ หนองคาย

ที่จะเป็นระบบรางไปเชื่อมกับ สปป.ลาว-จีน เจาะกลุ่มพนักงาน แรงงาน ผู้มีรายได้ประจำในภาคอุตสาหกรรมโดยรอบตลอดเส้นทาง

“หากคิดรวมภาพธุรกิจพิโกทั้งประเทศ ทรีมันนี่ถือเป็นรายใหญ่ มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 13% อัตราการเติบโตมีอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มต้นเปิดกิจการในปี 2560 กระทั่งได้พาร์ตเนอร์ในช่วงกลางปี 2562 ทำให้การเติบโตสูงขึ้นแบบไร้ขอบเขต

ส่วนใหญ่จะปล่อยกู้ให้ลูกค้าเพื่อเปลี่ยนถ่ายจากหนี้เงินกู้นอกระบบเข้าสู่ระบบเกือบ 100% ส่วนลูกค้าที่กู้เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือนถือว่ามีน้อยมากประมาณ 2%

ในกรณีถูกพักงานหรือชะลอการทำงาน ให้กู้ไม่เกิน 10,000-20,000 บาทต่อราย ซึ่งทั้งหมดนี้ทรีมันนี่ยังคงยึดลูกค้าในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม อยากให้สถานการณ์ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากกว่านี้ อยากให้รัฐบาลยอมรับความจริง แล้วจับทางให้ถูกว่าทหารมาบริหารธุรกิจและเศรษฐกิจไม่ได้ อยากให้นำบุคคลที่มีความสามารถโดยตรงเข้ามาช่วยทำงานช่วยบริหารจะดีกว่า อย่ารักษาเก้าอี้โดยใช้ความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวประกัน

‘กิจวัฒนา 99’ ชี้
ปี’65 NPL พิโก อีสานพุ่ง

พิโกไฟแนนซ์ภูธร NPL พุ่งด้วยหลายปัจจัยหลังจากโควิด-19 ระบาดนานกว่า 2 ปีทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกหนี้ไม่ยอมคืนเงิน รวมไปถึงหลักทรัพย์หายากขึ้นโดยเฉพาะโฉนดที่ดิน ผู้ประกอบการพิโกจากจังหวัดขอนแก่นชี้ทิศทางธุรกิจในปี 2565 หนี้เสียน่าจะเพิ่มขึ้นอีก

นายนพดล อุบลแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจวัฒนา 99 จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ในภาคอีสานยังบอกไม่ได้มากนัก

แต่ในจังหวัดขอนแก่นตอนนี้เงียบอยู่ การปล่อยสินเชื่อไม่ค่อยคึกคักด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนไม่มีกำลังซื้อหรือกำลังจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

เพราะโอกาสที่จะได้เงินคืนหลังจากปล่อยกู้นั้นมีน้อยอีกทั้ง NPL ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ค่อนข้างสูง รวมถึงมีปัญหาแอปพลิเคชั่นออนไลน์หลอกลวงมาสวมรอยบริษัทพิโกจนผู้ประกอบการหลายรายได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

จึงอยากให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนสร้างผลกระทบให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

สำหรับบริษัท กิจวัฒนา 99 จำกัด ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีงานประจำและมีเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารเป็นหลัก ทั้งหน่วยงานข้าราชการ บริษัทเอกชน แทบจะไม่มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นเกษตรกรหรือนำหลักทรัพย์อย่างโฉนดที่ดินมาค้้ำประกันเลย

อีกนัยหนึ่งโฉนดที่ดินค่อนข้างหายาก ปัจจุบันลูกค้าที่มีเงินเดือนประจำเริ่มมี NPL พุ่งขึ้นจากช่วงกลางปี 2564 ที่มีอยู่เพียง 5% ตอนนี้สูงถึง 15-20% จากทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาทที่บริษัทปล่อยกู้ไปไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

ขณะเดียวกันในปี 2565 ก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 30 ล้านบาท และพยายามควบคุม NPL ไม่ให้เกิน 20%

“การเกิด NPL มาจากหลายปัจจัยไม่ใช่เฉพาะภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มาจากความไม่ซื่อสัตย์ของผู้กู้ด้วยที่ไม่ยอมจ่ายคืน ทั้งอ้างว่ามีรายจ่ายมาก ทำให้การชำระหนี้ลดน้อยลง หรือหายไปนานเป็นเดือนก็มี

จนพนักงานต้องส่งหนังสือทวงถาม หากหาข้อยุติไม่ได้หรือไม่ใช้เงินคืนก็ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลรัฐกว่า 30%

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก ต่างจากพนักงานออฟฟิศที่ทยอยจ่ายคืนเรื่อย ๆ ทั้งนี้ NPL จะลดลงได้ก็ต้องมีลูกค้าเข้ามาชำระเงินคืน ส่วนลูกค้ารายใหม่ก็ต้องรอดูว่าจะทำให้ NPL เพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ดูทิศทางแล้วน่าจะเพิ่มขึ้นอีก”