โควิดภูเก็ตพุ่งกว่า 200 ราย/วัน ผู้ว่าฯ ยันไม่ปิดเกาะ

ภูเก็ต
Photo by Erik Karits from Pexels

โควิดภูเก็ตพุ่งกว่า 200 ราย ผู้ว่าฯ ยันไม่ปิดเกาะ เดินหน้าแซนด์บอกซ์ ขยายเตียง จัด “โฮเทลไอโซเลท” ไว้รองรับอีก 1,000 ห้อง ถ้าเกิน 300 ราย/วัน ถือว่าวิกฤต

วันที่ 5 มกราคม 2565 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ภูเก็ต มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ได้สอบถามเอกชนบางรายมียอดขายไปได้ด้วยดีได้มีการขอร้องอย่ากระทบกับปากท้องของประชาชน ต้องเดินหน้าทางเศรษฐกิจต่อควบคู่การควบคุมโรคโควิด-19 และขอยืนยันว่าในเดือนมกราคม 2565 ยังไม่มีมาตรการการปิดเกาะภูเก็ต

“ตั้งใจแก้ปัญหาปากท้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งการเดินหน้าเรื่องปากท้องกำลังไปได้ด้วยดี มีการขอร้องกันมาว่าอย่าปิดเกาะ เพราะจะกระทบเศรษฐกิจ ขอย้ำว่ายังไม่ปิดเกาะแนวโน้มใกล้ ๆ ในเดือนนี้ไม่มีความคิดปิดเกาะ เราจะต้องเดินหน้าต่อไป ต้องคุมโรคให้อยู่ ซึ่งในช่วงวันที่ 1-3 ม.ค. 2565 มีคนเข้ามา 10,13 คน ของแซนด์บอกซ์จากเดิมที่เริ่มโครงการเข้ามาวันละ 500 คน ในช่วงแรกตอนนี้มามากขึ้นเศรษฐกิจเริ่มเดินไปได้

ณรงค์ วุ่นซิ้ว

โควิดจากเดลต้ามาสู่โอไมครอน ช่วงเดลต้าคนติดเชื้อในจังหวัดสูงกว่า 200 คนต่อวัน นักท่องเที่ยวติดเชื้อน้อยมาก แต่วันนี้นักท่องเที่ยวติดเชื้อเพิ่มขึ้นตรวจพบที่สนามบิน การตรวจพบตรงนี้เป็นจุดแข็งของภูเก็ต และให้ไปรอผลที่โรงแรม ซึ่งตรวจพบนักท่องเที่ยวมากขึ้นเข้ามาวันละ 3-5 พันคน จึงมีตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น สอดคล้องสถานการณ์โลกและในประเทศ”

ทางจังหวัดคิดแก้ปัญหานี้กันทุกวัน เพราะว่าภูเก็ตต้องเป็นประตูหลังบ้านของประเทศไทย จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกับแซนด์บอกซ์ จึงจะต้องปรับการรองรับในส่วนนี้ เป็นภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เวอร์ชั่นสอง เรามองภาพภูเก็ตต้องกลับมาแข็งแรงสดใสยั่งยืนภายใต้การระบาดโควิดที่มีอยู่ชีวิตต้องเดินหน้าปากท้องต้องมีกินมีใช้ต้องอยู่ให้ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนใดแก้ได้ในระดับจังหวัดต้องช่วยกัน

ทางภาคเอกชนตั้งคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมาตอบปัญหาให้นักท่องเที่ยวแก้ปัญหาจุดอ่อนไทยแลนด์พาส

ส่วนทีมสาธารณสุขเตรียมโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวติดเชื้อทำฮอสพิเทล และโฮเทลไอโซเลท

สำหรับโครงสร้างบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลคนไทยและคนต่างชาติที่เข้ามาเกินขีดความสามารถจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ได้รายงานไปยังผู้ใหญ่ของประเทศสื่อสารในปัญหาที่จะเกิดในอนาคตผลทางลบทางบวกที่จะเกิดในอนาคตและการรักษาการดูแลโรคโควิด-19 ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ ส่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงมาในพื้นที่ มาพูดคุยปัญหาต่าง ๆ ส่วนใดที่จังหวัดแก้เองได้ดำเนินการเอง แต่ถ้าเกินขีดความสามารถต้องขอสนับสนุน เช่น การตรวจสวอปได้รับการสนับสนุนรถตรวจมาแล้ว 2 คัน ถ้าไม่พอจะขออีก ส่วนประชาชนถ้าไม่สบายใจมีอาการให้เดินมาปรึกษาที่คลินิกอุ่นใจของจังหวัดที่วางระบบไว้แล้ว

จากการที่เราเดินมายาวไกลพอสมควรพยายามอย่างเต็มที่ สถานการณ์ทั่วโลกหรือในประเทศเป็นสถานการณ์ในแนวเดียวกันหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเยอะขึ้น นำบทเรียนที่ผ่านมาปรับใช้เพื่อเดินไปข้างหน้า บางเรื่องเคยเกิดมาแล้วบางเรื่องเกิดขึ้นมา เช่น พบปัญหานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่พบคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นสาเหตุมีคนเพิ่มมากขึ้น ต้องเตรียมการรองรับให้เพียงพอในการดูแลรักษาต่าง ๆ ดังนั้นทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา เช่น เอกชน เข้ามาดูในเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ทางภาครัฐแต่ละหน่วยงานดูแลตามบทบาทหน้าที่บูรณาการแก้ปัญหา

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เรายังเดินต่อพร้อมการแก้ปัญหาของประชาชนไปพร้อมการควบคุมโรคให้อยู่ในการประกอบสัมมาชีพเดินต่อไปได้ ซึ่งผู้คนเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 3 ม.ค. จำนวน 3,800 คน ถือว่า ไม่น้อยรายได้ตามมาพอสมควร แนวโน้มอาจจะชะลอตัวบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ตัวเลขอยู่ระดับนี้ไปจะต้องคิดวิเคราะห์ว่าถ้าตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะต้องทำอย่างไร ถ้ามีคนมากกว่านี้จะเตรียมอย่างไรในการรองรับเพื่อให้การเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น” นายณรงค์กล่าว

ทางด้าน นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การติดเชื้อที่สูงขึ้นได้มองว่าจะดำเนินมาตรการนี้อย่างไรประเด็นแรก ฮอสพิเทลกับโฮเทลไอโซเลชั่น ที่ผ่านมาเป็นปัญหาว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่อาการเบาบางหรือไม่มีอาการ เป็นผู้ป่วยสีเขียวจำนวนมากไม่สามารถรองรับได้หมด ซึ่งฮอสพิเทลที่มีเต็ม และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาติดเชื้อวันละ 30-50 คน จำเป็นต้องหาสถานที่รองรับเพิ่มจึงได้สรุปโรงแรมทั้งหมด 66 แห่ง รองรับถ้าพบเป็นบวกขึ้นมาจัดพื้นที่ปรับขึ้นมารองรับได้ จะได้ไม่มีปัญหาค่าที่พักที่จองมาตั้งแต่แรก

กรณีที่นักท่องเที่ยวมีปัญหาประกันภัย จากต่างประเทศไม่ครอบคลุมเจ็บป่วยเล็กน้อยต้องแก้ปัญหาให้จัดเข้าอยู่ใน รพ.เอกชนก่อน ส่วน รพ.รัฐจะต้องดูแลผู้ป่วยคนไทย ซึ่งถ้าประกันภัยไม่ครอบคลุมจะมีปัญหาต้องวางเงินมัดจำล่วงหน้าบางส่วนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไม่ยอมรับที่จะวางเงินมัดจำล่วงหน้าจึงมีปัญหาและมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตจึงให้ไปอยู่ รพ.สนามเพื่อดูแลไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราวก่อน ถ้าทางผู้ใหญ่เห็นปัญหานี้ทางผู้ว่าฯ จะยกให้เป็นการแก้ไขปัญหาถาวรอาจจะให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำประกันชีวิตของคนไทยหรือประกันต่างชาติ แต่ต้องครอบคลุมผู้ป่วยที่เล็กน้อยได้ด้วย

และเรื่องโรงเรียนให้ปิดไปก่อนบางส่วน ตั้งแต่ 4-14 มกราคม 2565 ต้องตรวจนักเรียนแบบ ATK ทุกคนเป็นมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตทางผู้ว่าฯ ได้ลงนามประกาศจังหวัดแล้ว

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต อัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ถ้าเทียบกับเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาในช่วงนั้นตัวเลขคนในพื้นที่ประมาณ 30-40 รายต่อวัน ช่วงสัปดาห์นี้เพิ่มเป็น 60-80 รายขึ้นไปถึงกว่า 120 ราย เป็นกราฟขาขึ้นชัดเจน

“ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 2565 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในภูเก็ต 156 ราย Phuket Sandbox 46 ราย Test&Go 13 ราย รวม 215 ราย ถือว่ามากสุดในรอบเดือนที่ผ่านมาจากการเปิดเมืองอย่างเต็มที่ เป็นการบาลานซ์กันในการควบคุมโรค และการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ประกอบกับโอไมครอนเข้ามาติดง่ายกว่าเดิม แต่ไม่มีอาการ อัตราการเสียชีวิตน้อยลงอย่างชัดเจน ผู้ป่วยโอไมครอนส่วนใหญ่เป็นสีเขียว 98% เมื่อผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นได้เตรียมขยายเตียงรองรับผู้ป่วยคนไทยและคนต่างประเทศ

ช่วงที่เปิดแซนด์บอกซ์ใหม่ ๆ มีผู้ป่วยจากแซนด์บอกซ์วันละไม่เกิน 10 คน เมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประมาณวันละ 400-500 คน คิดเป็น 0.3% แต่ตอนนี้เข้ามาวันละ 4,000 คน สัดส่วนการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในแล็บแรกประมาณ 0.5% แล็บที่สองประมาณเกือบ 1% ยอดผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นจะเห็นว่าสัปดาห์ที่ผ่านมายอดผู้ป่วยแซนด์บอกซ์ที่เพิ่มขึ้นอยู่ประมาณ 50-60 ราย ในแล็บแรกถ้ารวมแล็บสองจะประมาณ 80 ราย เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“เราต้องกักตัว 10 วัน ถ้า 80 คน ต้องจัดห้อง 800 ห้องรองรับในภาวะเช่นนี้ จึงต้องสำรองห้องอย่างน้อย 1,000 ห้อง ทาง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน ทีมสาธารณสุขประชุมร่วมกันเร่งหาฮอสพิเทล จัดหามาได้แล้ว 728 ห้อง ซึ่งได้เข้าไปตรวจสอบและผ่านการพิจารณาแล้ว 428 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรมที่ต้องแยกส่วนของผู้ติดเชื้อออกมาจากคนทั่วไป 218 ห้อง เป็นโฮเทลไอโซเลท ที่มีการรองรับผู้ติดเชื้อโดยตรงมีประมาณ 210ห้อง”

ในส่วนขั้นตอนนำรักษาในสถานที่จัดหาหรือ รพ.นั้นเกี่ยวข้องเรื่องประกัน และมาตรฐานการรักษาของประเทศไทยกับต่างประเทศแตกต่างกัน จึงต้องใช้เวลาขั้นตอนการนำเข้ารักษาและบริหารจัดการ ได้พูดคุยกับโรงแรมที่ยินยอมรับผู้ป่วยติดเชื้อไว้ในโรงแรมตัวเอง โดยให้ทีมสาธารณสุขลงไปประเมินจะช่วยบริหารจัดการได้ เพราะนักท่องเที่ยวไม่อยากย้ายจึงมีโรงแรมที่ยินยอมยื่นความจำนงมา จำนวนกว่า 60 แห่ง เป็นการช่วยเหลือกัน ในการบริหารจัดการซึ่งคนไข้โอไมครอนกว่า 90% ไม่มีอาการ เป็นผู้ป่วยสีเขียว ติดง่ายอาการน้อยกว่าเดลต้ามาก

ตอนนี้ภูเก็ตมีโอไมครอน แล้วส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว อยู่ในภูเก็ต ยืนยันค่อนข้าง 100% ว่าเป็นโอไมครอนรวมแล้ว 167 ราย ในจำนวนนี้ 17 รายเป็นคนไทย ในพื้นที่ 11 ราย และ 6 คน เป็น HRC ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ซึ่ง 11 รายที่เป็นคนไทย พบจากการสุ่มตรวจที่ซอยบางลา ป่าตอง กว่า 400 คน พบผลบวก 12 คนได้ส่งสายพันธุ์ตรวจพบโอไมครอน 11 คน ถือว่าเชื้อกระจายแล้ว และทางชมรมสถานประกอบการต่าง ๆ ในป่าตองได้ทำมาตรการโควิดฟรีเซ็ทติ้ง เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 ทำ ATK พบประมาณ 50 ราย ดังนั้น มาตรการป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐานที่สำคัญคือ DMHTT

“หลังปีใหม่ในความเข้มข้นที่จะปิดบ้านปิดเมืองคงไม่มี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือสถานประกอบการที่เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงใช้โควิดฟรีเซ็ทติ้ง เข้ามาช่วยสุ่มตรวจ ATK อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ได้รับความร่วมมืออย่างดีที่สถานประกอบการในซอยบางลาป่าตอง เป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีกิจกรรมมาก จึงมีการสุ่มตรวจแล้ว สองครั้ง ครั้งแรกเจอกว่า 20% ของผู้ตรวจครั้งที่สองลดเหลือ 12-13% และผู้ประกอบการจะปิดซอยบางลา ป่าตอง ทำความสะอาดในวันที่ 6 ม.ค.นี้ ขอบคุณผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือและใช้โควิดฟรีเซ็ทติ้ง เข้ามาควบคุมและมาตรการยูนิเวอแซลพรีเวนชั่น” นายแพทย์กู้ศักดิ์กล่าวและว่า

ขณะนี้ภาครัฐและเอกชนกังวลเล็กน้อยที่มีการระบาดในพื้นที่ขอให้มีการ WFH 2 สัปดาห์ ส่วนสถานศึกษามีการปิดการเรียนการสอนถึง14 ม.ค. ส่วนวันเด็ก ถ้าหน่วยงานใดจัดได้ให้มีมาตรการโควิดฟรีเซ็ทติ้ง ให้ทำกิจกรรมได้ไม่ไดัจำกัดคนรวมกลุ่ม แต่ให้ใช้จัดในพื้นที่กว้างโล่ง แต่ถ้าคนร่วมมากกว่า 1 พันคน ต้องทำ AT และผลวัคซีนร่วมด้วย

ทางด้าน นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดไว้หลังปีใหม่มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ในส่วนนักท่องเที่ยวและคนไทย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสวอบครั้งที่ 1 ประมาณกว่า 4,000 คน ขาเข้า มี Test&Go ต้องสวอบครั้งที่ 2 ในจำนวน 4,000 นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เดิมมีศักยภาพทำสวอบประมาณ 5,000 ต่อวัน

แต่นโยบายเปลี่ยนช่วงปีใหม่ต้องสวอบให้ได้ 8,000-9,000-10,000 คน เข้ามา รวมครั้งที่ 1 และ 2 ต้องทำสวอบ 10,000 คนต่อวัน ในช่วงวันหยุดทำได้ 8,000 คนต่อวัน ได้ประสานสำนักควบคุมโรคเขต 11 ได้ส่งรถพระราชทานมาให้ 2 คัน สวอบเพิ่มได้อีก 2,000 คน ตอนนี้จึงสวอบครบ 10,000 คนต่อวัน หลังจากนั้นต้องทำ RT-PCR เดิมวันละ 7-8 พันคน เพิ่มมาอีก 2 พันเป็น 1 หมื่นคน ยืนยันว่าศักยภาพทำ RT-PCR ผลแล็บได้ 1 หมื่นคน

“ปัญหาช่วงนี้นักท่องเที่ยวอาจได้รับผลสวอบออกช้า บางแห่งต้องส่งผลสวอบไปทำที่ต่างจังหวัด ของเอกชนที่ กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ผลจึงเกิดการล่าช้าในการขึ้นเครื่องบิน เป็นปัญหาที่แก้ได้ในวันนี้ พราะว่าสามารถสวอบในจังหวัดครบ 1 หมื่นคนได้แล้ว ผลแล็บเป็นบวกช่วงสิ้นปีกับปีใหม่เฉลี่ยวันละ 120 คน ต้องการ 120 ห้องได้ติดต่อขอสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้เพิ่มห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากคนปกติ

เมื่อภูเก็ตมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้เปิด รพ.สนามรองรับแล้ว ซึ่งภูเก็ตอยู่ได้ถ้ามีผู้ติดเชื้อบวกวันละไม่เกิน 100 ราย แต่ถ้าวิกฤตคือ คนไข้เกินวันละ 300 ราย เพราะคำนวณจากเตียงสีเหลืองสีแดง ถ้าบวกวันละ 300 คน 10 วันเท่ากับ 3,000 คน เตียงสีเขียวอาจพอหาได้ แต่ถ้าเป็นเหตุวิกฤตคือ รพ.ต้องปรับเตียงสีเหลืองสีแดง ที่ต้องรับโอไมครอนสีเหลืองและแดง

ขณะนี้เตียงไอซียูยังมีเพียงพอถ้าบวกวันละไม่เกิน 300 ราย ยังไม่วิกฤต ซึ่งผู้ป่วยโอไมครอนกว่า 90% อาการเป็นทางเดินหายใจส่วนบนยังไม่ถึงกับปอดอักเสบ จะให้อยู่บ้านเป็นหลัก มีคลินิกอุ่นใจให้บริการปรึกษาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ อยู่บ้านกักตัว 10 วัน ถ้าอยู่บ้านไม่ได้ต้องเข้า รพ. สนาม

การที่ภูเก็ตเจอโอไมครอนต้องปรับอัพเกรดให้สามารถต่อต้านไวรัสได้และให้เกิดบาลานซ์การควบคุมติดเชื้อกับเศรษฐกิจรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้ จะไม่ปิดเมือง ต้องรองรับนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่าเดิม 10 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจะ Approve Thailand Pass ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อพบผู้ติดเชื้อส่งเข้ารักษารวดเร็ว ไม่ต้องคอยเคลียร์เรื่องประกัน ซึ่งในเวอร์ชั่นใหม่จะมีเตียงรองรับนักท่องเที่ยว 1,200 เตียง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้นได้ ส่วนคนไทยถ้าเจอผลบวกขอให้รักษาตัวอยู่ที่บ้านมากกว่าอยู่ รพ.” นายแพทย์วีระศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต รายงานข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ประจำวันที่ 4 มกราคม 2565 (ระลอกเมษายน) เวลา 20.00 น. ยอดเดิมยกมา (ในจ.) 19,441 รายผู้ติดเชื้อรายใหม่ 156 ราย ผู้ติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อ Sandbox 46 ราย T&G 13 ราย ผู้ติดเชื้อกลับบ้าน 33 ราย

สรุปผู้ติดเชื้อทั้งหมด 20,429 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในจังหวัด 19,597 ราย ติดเชื้อโครงการกลับ 42 ราย ผู้ติดเชื้อรับจากต่างจังหวัด 22 ราย ผู้ติดเชื้อลูกเรือ ต่างประเทศ 19 ราย ผู้ติดเชื้อต่างประเทศ 20 ราย ผู้ติดเชื้อ Sandbox 486 รายผู้ติดเชื้อ T&G 282 ราย

สรุปผู้ติดเชื้อจำหน่ายทั้งหมด 19,464 ราย แบ่งเป็นครบ 14 วัน 19,315 ราย Lab Error 2 ราย ส่งต่อ ต่างจังหวัด 4 ราย เสียชีวิต (สะสม) 143 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 966 ราย

ผลตรวจ ATK แบ่งเป็น อ.เมือง 92 ราย พบ 13 ราย อ.กะทู้ 85 ราย พบ 58 ราย อ.ถลาง 37 ราย พบ 4 ราย