เร่งเครื่อง “เงินสะสมท้องถิ่น” กู้เศรษฐกิจภูธร อปท.ขยาดถูกรัฐตีความ “โครงการจำเป็น-เร่งด่วน”

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,853 แห่ง เตรียมเดินหน้านำเงินสะสมมาใช้พัฒนาท้องถิ่น มหาสารคาม สระแก้ว เน้นแก้ปัญหาขยะ น้ำเสียชุมชน สร้างถนน นายกเทศมนตรีนครยะลาแนะแก้กฎระเบียบ “ความจำเป็น-เร่งด่วน” เหตุเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้งบฯ ขณะที่ อปท.หลายสิบแห่งมีสถานะการเงินปริ่มน้ำ ด้านผู้บริหารท้องถิ่นขยาดหน่วยงานตรวจสอบใช้ดุลพินิจตีความ

การให้นำเงินสะสมของท้องถิ่นมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่บรรลุเป้าหมาย ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากซบเซาเข้าขั้นวิกฤต กำลังซื้อหาย รายได้หดตัวรุนแรง เนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำแทบทุกชนิด ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติสำทับอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 อนุมัติกรอบ/แนวทางการใช้เงินสะสมท้องถิ่น โดยเน้นให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ การพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับชุมชน เป็นต้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยและคลังเร่งแก้ไขกฎระเบียบ

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าภายใน 4 เดือนจากนี้ไป จะสามารถนำเงินลอตแรกมาใช้ 5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมี อปท.ทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 7,853 แห่ง

ชงแก้ระเบียบ “จำเป็น-เร่งด่วน”

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งเจริญชนม์ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท้องถิ่นก็เป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจอยู่แล้ว และพยายามที่จะช่วยรัฐบาลในการนำเงินที่อยู่ในท้องถิ่นออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากบางครั้งภาครัฐเองมองท้องถิ่นว่าเต็มไปด้วยการทุจริต จึงออกระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ มาคุม จนกระทั่งแทบจะทำงานกันไม่ได้ และแต่ละเรื่องไม่สอดคล้องกัน ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ กลายเป็นว่าการทำงานของท้องถิ่นเต็มไปด้วยอุปสรรค

สำหรับการใช้จ่ายเงินสะสมนั้น ที่ผ่านมาท้องถิ่นพยายามพูดกับตัวแทนของภาครัฐว่า ยินดีที่จะนำออกมาช่วย แต่ก็ติดระเบียบที่กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นเรื่องของความจำเป็นและเร่งด่วน จึงจะสามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ได้

“คำว่าความจำเป็นและเร่งด่วน ไม่มีอะไรที่เป็นความชัดเจนเลย เพราะเป็นมุมมองคนที่ตีความ ทำให้เกิดปัญหาเมื่อท้องถิ่นทำไป หน่วยงานที่ตรวจสอบเข้ามาบอกว่าอันนี้ไม่จำเป็น ถูกเรียกเงินคืนบ้าง หรือเป็นภาระหน้าที่ของท้องถิ่นหรือไม่ จึงเป็นอุปสรรคในการทำงานพอสมควร ผู้บริหารค่อนข้างลำบากใจในการทำงาน ถ้าไม่ทำก็ไม่เสี่ยงที่จะถูกเรียกเงินคืน เพราะถ้าถูกเรียกเงินคืน ผู้บริหารต้องเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด จึงควรตัดคำว่าความจำเป็นและเร่งด่วนออกก่อน เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นสบายใจที่จะนำเงินสะสมออกมาใช้”

นอกจากนั้น เทศบาลก็มีระเบียบปฏิบัติและมีแผนงานในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ อยู่แล้ว ถ้าเป็นโครงการที่ไม่ได้อยู่ในแผนงานของเทศบาลหรือท้องถิ่น แต่อยู่ในแผนงานของจังหวัดก็ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นมองว่าหลักการของท้องถิ่นควรจะต้องทำให้ยืดหยุ่นมากที่สุด เพราะว่าเป็นแนวหน้าที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด ขณะเดียวกันที่ผ่านมา รายได้ (เงินอุดหนุน) ของท้องถิ่นก็ลดลง ส่วนรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองก็ไม่ได้เพิ่มมากนัก แต่ความจำเป็นมากขึ้น

นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของ อปท.ต่าง ๆ น่าจะมีไม่ถึง 10 แห่งในประเทศที่เก็บแล้วเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตัวเอง โดยเฉลี่ยสัดส่วนรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองอยู่ที่ประมาณ 12% อีก 40% เป็นส่วนที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ และเงินอุดหนุนอีกประมาณ 40%

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า เทศบาลนครยะลามีเงินสะสมประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะต้องสำรองไว้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น ขณะนี้เกิดน้ำท่วมจังหวัดยะลาจะต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งพร้อมที่จะนำเงินสะสมมาใช้ได้ทันที และเรื่องของถนน เป็นต้น

2 อปท.สระแก้วทำถนนปลุก ศก.

ด้านนายสุรพล เจริญภูมิ ท้องถิ่นจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง เสนอโครงการเข้าสู่คณะกรรมการและได้รับการพิจารณาแล้ว ได้แก่ เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น เสนอโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ถนนเทศบาล 41 สายวัดเขาเทพนิมิตมงคล บ้านมิตรสัมพันธ์ หมู่ 13 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ระยะทาง 1,800 เมตร งบประมาณ 7,299,000 บาท โดยใช้เงินสะสมที่ใช้สมทบ 3,848,400 บาท และงบประมาณที่รัฐบาลสมทบอีกจำนวนเท่ากัน

ส่วนโครงการของ อบต.คลองทับจันทร์ อ.อรัญประเทศ เป็นการปรับปรุงผิวจราจรถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต จากสามแยก สก.4012 หมู่ 2 บ้านคลองวัว ถึงหมู่ 3 บ้านทับยาง ต.คลองทับจันทร์ งบประมาณ 4,983,900 บาท แยกเป็นเงินสะสมของ อบต. 3,899,900 บาท และเงินงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล 1,089,000 บาท

ในส่วน อปท.อื่น ๆ ในจังหวัดอีก 64 แห่ง ไม่ได้เสนอโครงการมา เนื่องจากบางแห่งมีเงินสะสมมากอยู่แล้วก็สามารถใช้เงินสะสมตัวเองดำเนินการได้ทั้งหมด โดย อปท.แต่ละแห่งได้ทยอยนำเงินสะสมมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ในขณะที่ อปท.ส่วนหนึ่งที่สถานะการเงินยังอยู่ในฐานะปริ่มน้ำ มีรายจ่ายทั้งงบฯบุคลากร การหักไว้ใช้หนี้ และสำรองจ่ายกรณีเกิดภัยพิบัติ จึงไม่สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ได้

ฟื้น ศก.ภูธร – รัฐบาลเตรียมอัดสารพัดนโยบายและโครงการลงสู่ต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ฟื้นกลับมา ล่าสุดไล่บี้ให้ท้องถิ่นเร่งนำเงินสะสมออกมาใช้พัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่นำไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เช่น ถนน แหล่งน้ำ แก้ปัญหาขยะ น้ำเสีย


สมุทรปราการรอหนังสือสั่งการ

นายพูลทวี ศิวะพิรุฬห์เทพ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือสั่งการมา แต่ถ้ามีหนังสือสั่งการมาก็จะวางแผนโครงการ ซึ่งทุกที่คงเตรียมพร้อมที่จะนำเงินสะสมมาใช้ เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นมีโครงการต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่งบประมาณประจำปีอาจจะไม่พอใช้จ่าย และการจะนำเงินสะสมมาใช้ก็เกรงใจหน่วยตรวจสอบ แต่หากส่วนกลางสั่งมาชัดเจนว่าสามารถนำเงินสะสมมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือทำโครงการที่เกิดประโยชน์กับประชาชน เชื่อว่าทุกแห่งคงจะใช้จ่ายเงินสะสมได้

เมินสมทบเงินคนละครึ่ง

นายสาธิต อ่อนน้อม ท้องถิ่นจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า เรื่องเงินสะสมที่รัฐบาลให้แต่ละท้องถิ่นนำออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะสมทบคนละครึ่งนั้น เมื่อดูหลักเกณฑ์แล้ว ผู้นำท้องถิ่นต่างไม่เห็นด้วย เพราะต้องใช้เงินสะสมจนหมดหน้าตัก หากมีเหตุฉุกเฉินอาจไม่มีเงินสำรองใช้ในท้องถิ่น ทำให้ อปท.หลายแห่งไม่ร่วมโครงการนี้ ในส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี มี อปท.เสนอโครงการทั้งหมด 30 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 7,598,400 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นการก่อสร้างถนน ติดตั้งแสงสว่างทางสาธารณะ ขุดสระน้ำ ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อสร้างร้านค้าชุมชน เป็นต้น

ด้านนายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า มีโครงการที่จะนำเงินสะสมออกมาใช้ประมาณ 20-30 ล้านบาท โดยได้เตรียมโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำเสนอต่อสภาเทศบาลให้ความเห็นชอบกลางเดือนธันวาคมนี้ แต่รัฐบาลควรออกระเบียบการใช้เงินให้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า อบจ.นนทบุรีมีเงินสะสมประมาณ 400 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือเอกสารแจ้งมาว่าอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง เพราะมีข้อจำกัดไม่เหมือนกับเงินบริหารทั่วไป เพราะตามระเบียบเก่าต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนถึงจะใช้ได้ เช่น อุทกภัย ถนนขาด หรือเหตุฉุกเฉินเท่านั้น แต่เห็นด้วยหากมีการนำออกมาใช้ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งระบบเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

เช่นเดียวกับนายสาคร อำภิน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า อบจ.ปทุมธานีมีเงินสะสม 1,200 ล้านบาท แต่ก็ต้องสำรองไว้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยในปี 2559 ใช้ไปไม่ถึง 50 ล้านบาท เงินที่เหลือก็อยู่ในธนาคารทั้งหมด ซึ่งธนาคารจะได้ประโยชน์มากกว่า และตอนนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดูเติบโตขึ้น แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขไม่ได้อยู่ในความเป็นจริง อยากให้ภาครัฐแก้ไขหรือปลดล็อกให้นำเงินสะสมออกมาใช้ได้ และกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งจะนำร่องมาใช้ด้านการศึกษาเป็นอันดับแรก