“อำนวย” ผุดสมาคมวิชาการยาง ดันโรงงานถุงมือระยองสู่สากล

นักวิชาการยางผนึกกำลังจัดตั้ง “สมาคมวิชาการยาง และถุงมือยาง” ผลักดันยกระดับโรงงานถุงมือยางไทยสู่มาตรฐานสากล หนุนใช้ยางธรรมชาติผลิตถุงมือยางช่วยเกษตรกร ประเดิมช่วย “สหกรณ์บ่อทอง-โรงงานผลิตถุงมือยางขนาดเล็ก จ.ระยอง

นายอำนวย ปะติเส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะนายกสมาคมวิชาการยาง และถุงมือยาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นักวิชาการยางได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สมาคมวิชาการยาง และถุงมือยาง” ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อยู่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมให้ถุงมือยางไทยได้รับมาตรฐานสากล 2.ส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตถุงมือยางจากยางธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบภายในประเทศ 3.ช่วยเหลือและยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการ 2 รายแรกที่ทางสมาคมจะเข้าไปช่วยส่งเสริม คือ สหกรณ์บ่อทอง จ.ระยอง ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางแท่ง STR20, ยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นรมควันอัดก้อน และโรงงานผลิตถุงมือยางขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ จ.ระยอง ซึ่งผลิตโดยใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติเพื่อยกระดับโรงงานเข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งตอนนี้กำลังให้ทางโรงงานยื่นโครงการเข้ามา โดยทางโรงงานมีแผนวางไลน์การผลิตใหม่ต้องดูก่อนว่าจะเพิ่มเงินทุนอีกเท่าไหร่

ซึ่งหากเงินลงทุนไม่พอทางสมาคมจะช่วยประสานงานหาแหล่งเงินลงทุนให้ เนื่องจากโรงงานบางแห่งเขียนโปรเจ็กต์เพื่อขอเงินทุนจากต่างประเทศไม่เป็น นักวิชาการจะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำจำเป็นต้องจัดองค์ประกอบให้เขาสามารถเขียนโปรเจ็กต์หรือระดมทุนได้ และต้องมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหลายฝ่าย

“สมาคมเราจะเป็นสมาคมส่งเสริมถุงมือยางธรรมชาติ เป็นการรวบรวมนักวิชาการทุกสายให้มารวมตัวกันผลักดัน ซึ่งในประเทศผลิตใช้ทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ว่าโรงงานผลิตถุงมือยางในโลกเปลี่ยนไปใช้ยางสังเคราะห์หรือยางเทียมในการผลิต เช่น ถุงมือยางของจีน มีส่วนผสมยางเทียมกว่า 53% มีส่วมผสมของยางธรรมชาติเพียง 10% มาเลเซียเช่นเดียวกัน โรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทยเองเริ่มผลิตถุงมือยางไนไตรล์ (nitrile glove) ที่ผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์ หรือยางเทียมมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรามองว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปประเทศไทยสู้ไม่ไหวแน่ ยางน้ำจะไม่มีตลาดขาย ไม่มีที่ไป นอกจากจะนำไปผลิตเป็นถุงยางอนามัย แม้ตอนนี้ราคาวัตถุดิบยางธรรมชาติกับยางสังเคราะห์จะสู้กันได้ เพราะยางธรรมชาติถูกกว่ายางเทียม แต่สิ่งที่สู้ไม่ได้คือ การโฆษณา การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ จะส่งผลต่อความนิยมใช้ เช่น ที่ผ่านมาถุงมือยางที่ทำจากยางธรรมชาติถูกกีดกันด้วยข้ออ้างทางวิชาการ เช่น แพ้ คัน แต่นักวิชาการได้มีการพิสูจน์แล้วว่าถุงมือยางดีที่สุดคือทำจากยางธรรมชาติ”

นายอำนวยกล่าวต่อไปว่า อีกเหตุผลที่นักวิชาการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมวิชาการยาง และถุงมือยาง เพราะเมื่อปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนวงการถุงมือยางของโลกทุกคนตื่นตัว ทำให้ถุงมือยางทั้งใช้ในทางการแพทย์ และอื่น ๆ มีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว คนแห่ซื้อเพื่อที่จะนำไปใช้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งขณะนั้นถุงมือยางยังไม่มีการผลิตขายมากนัก สหรัฐมีปัญหากับจีน และไม่รับซื้อถุงมือยางของจีน มาเลเซียก็มีปัญหาเรื่องแรงงานและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่จะหาถุงมือยางได้ก็คือ ประเทศไทย ทำให้ออร์เดอร์ทะลักเข้ามา ขณะเดียวกัน มีบางประเทศก็หวังนำถุงมือยางมาสวมสิทธิประเทศไทยเพื่อการส่งออก

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจถุงมือยางมีการเกิดเป็นธุรกิจตลาดมืดขึ้นมา ความต้องการล้นหลาม นายหน้าก็มีการอัพค่าคอมมิสชั่น ทำให้ราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว เลยเกิดสภาพการต้มตุ๋นกันครั้งใหญ่ในตลาดระยะสั้น อาทิ นำของใช้แล้วมาจำหน่ายใหม่ สินค้าไม่มีคุณภาพ รวมถึงรับออร์เดอร์จากต่างประเทศ และให้โอนเงินค่ามัดจำมาก่อน และไม่ส่งของให้ผู้ซื้อ หรือสินค้าที่ส่งไปคุณภาพต่ำ ปัจจุบันมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจถุงมือยางในประเทศไทยอยู่ประมาณ 200-300 คดี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท


ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเข้าถุงมือยางจากประเทศจีน เพื่อสวมสิทธิการส่งออก โดยสร้างโรงงานแพ็กสินค้า ติดตราประทับประเทศไทยและส่งออกไปยังประเทศที่ 3 โรงงานดังกล่าวก็ไม่ได้จดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และไม่มีคุณภาพ โรงงานบางแห่งผ่านมาตรฐานกฎหมายไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FDA สหรัฐก็มี ทำให้สินค้าถูกตีกลับมาซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง นอกจากนี้ มีโรงงานไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทยกว่า 10 แห่ง” นายอำนวยกล่าว