หมูแพง : สัตวแพทย์ชี้หากเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกัน หมูตายเพิ่มแน่นอน

หมูแพง: สัตวแพทย์ชี้หากเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกัน หมูตายเพิ่มแน่นอน

สัตวแพทย์ออกโรงเบรกลงเลี้ยงหมูเพิ่ม โรคระบาดร้ายแรงตายเพิ่มแน่นอน ชี้ไม่มีวัคซีนรอดยาก เชื้อติดแค่ซอกเล็บทำตายยกฟาร์ม

วงการสัตวแพทย์ร้อนใจ ธุรกิจเอกชนในวงจรหมูนั่งไม่ติด ข้าราชการ รัฐมนตรี เก้าอี้ร้อน นัดถกแก้ปมปัญหา “หมูแพง” และโรคระบาด

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ รศ.นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรกว่า 50 ปีมาแล้ว

เขากล่าวว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นกับหมูในประเทศไทยตอนนี้ต้องรอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงออกมาประกาศ หากเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ถือเป็นโรคที่มีความร้ายแรงมากในหมู

แนะนำว่า เกษตรกรรายย่อยไม่ควรลงเลี้ยงหมูอีก แม้จะพักโรงเรือนหรือเล้ามานานกว่า 6 เดือน พ่นยาฆ่าเชื้อแล้ว ถ้าเลี้ยงใหม่หมูติดโรคตายแน่นอน เกษตรกรควรเปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นแทนจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคออกมา ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษา หากไม่มีวัคซีนสู้กับโรคยาก ฟาร์มที่จะสู้ได้ต้องมีเงิน ต้องเป็นฟาร์มขนาดใหญ่

ติดเชื้อแค่ซอกเล็บทำตายยกฟาร์ม

“เพียงคนเลี้ยงกินหมูที่เป็นโรคแล้วล้างมือไม่สะอาด เชื้อไวรัสติดในซอกเล็บเพียงนิดเดียว หากเอามือไปผสมอาหารให้หมูกิน หมูในฟาร์มก็ติดโรคได้ ไม่อย่างนั้นหมูจะเสียหายกันเกือบครึ่งประเทศหรือ แม้แต่ฟาร์มบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปศุสัตว์บ้านเราที่เป็นระบบฟาร์มปิดลงทุนเป็นเงินระดับหลายร้อยล้านบาท หลายพันล้านบาท หลายฟาร์มของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็โดนเล่นงาน เนื่องจากเชื้อโรคเล็ดลอดติดไปกับคน นก จากพาหะอื่นจนเกิดความเสียหายถึง 50% แล้วฟาร์มทั่วไปจะรอดได้อย่างไร

ผมเห็นข่าวมีคุณป้าคนหนึ่งเลี้ยงหมูอยู่ บอกจะลงเลี้ยงเพิ่มอีก เพราะราคาดี หมูที่เลี้ยงอยู่ยังรอดถือว่าโชคดี แต่มันไม่โชคดีตลอด การเลี้ยงหมูเป็นฟาร์มเปิดไม่มีระบบป้องกันโรคที่เรียกว่า ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือไบโอซีเคียวริตี้ (bio security) ต้องติดเชื้อตายแน่นอน คนที่ยังเลี้ยงรอดหมูไม่เสียหาย เพราะเชื้อโรคยังไปไม่ถึงฟาร์มคุณ ทางที่ดีคุณป้า เปลี่ยนจากเลี้ยงหมูไปเลี้ยงสัตว์อื่นก่อนที่จะเสียหาย หากกลับไปเลี้ยงหมู ผมบอกเลยว่าไม่รอด” รศ.นายสัตวแพทย์กิจจากล่าว

พักเล้า 6 เดือนพ่นฆ่าเชื้อไวรัสไม่ตาย

รศ.นายสัตวแพทย์กิจจา กล่าวต่อไปว่า เชื้อไวรัส ASF มีความคงทนมาก หากถูกความร้อนต้องระดับ 90 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาทีถึงจะตาย หากเชื้ออยู่ในน้ำ และดินสามารถอยู่ได้นานหลายเดือน ไม่ตาย ยาฆ่าเชื้อต้องใช้ชนิดพิเศษจริง ๆ ขนาดในฟาร์มระบบปิดขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานดี

เมื่อโรคเข้าฟาร์มเร่งทำลายหมูที่มีเชื้อ มีการพ่นยาฆ่าเชื้อ 3-4 รอบ ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ ดังนั้น หากเกษตรกรที่พักเล้าไปแล้ว 6 เดือน หากคิดกลับมาเลี้ยงใหม่ ต้องไปตรวจสอบโดยเช็ดตามบริเวณต่าง ๆ ในฟาร์ม รวมถึงในห้องครัวที่บ้าน ซึ่งมีการซื้อหมูมากิน ส่งไปตรวจสอบก่อนว่า ในฟาร์มและในครัวที่ปรุงอาหารที่บ้านยังมีเชื้อ ASF หลงเหลืออยู่หรือไม่ เชื้อตายหรือยัง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ฟาร์มรายย่อยจะทำไม่ไหว

คนเลี้ยงหมูไม่กินหมู 3 ปีถึงรอด

รศ.นายสัตวแพทย์กิจจา กล่าวต่อไปว่า ฟาร์มหมูที่ยังอยู่รอดได้จริง ๆ ไม่ให้คนงานกินเนื้อหมูในฟาร์มมา 3 ปีแล้ว ห้ามนำหมูสด หมูปรุงสุก ผลิตภัณฑ์หมูทุกชนิด กุนเชียง แหนมจากนอกฟาร์มเข้าไปในฟาร์มเด็ดขาด ให้กินเนื้อสัตว์อื่นแทน เช่น ไก่ ปลา ต้องปรุงให้สุกก่อนนำเข้าไปในฟาร์ม

แม้แต่การซื้อผัก ผลไม้เข้าฟาร์มต้องระวัง เพราะเชื้อปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไปหมดแล้ว นอกจากนี้ คนจะเข้าฟาร์มต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ จุ่มยาฆ่าเชื้อที่มือที่เท้าก่อนเข้าฟาร์มต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ต้องมีมาตรการจัดการทุกอย่างที่จะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปในฟาร์มทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งกว้างมากและมีรายละเอียดมาก

“เชื้อไวรัส ASF จะติดเข้าไปในตัวหมูได้จากการกินน้ำ และอาหารที่ปนเปื้อนที่เกิดจากสัตว์พาหะ จากมือคนที่นำเชื้อเข้าไป โรคเข้าฟาร์มส่วนใหญ่จากอาหารการกินของคนเลี้ยงนำเข้าไปกินทั้งนั้น ทางออกทางเดียวที่จะเลี้ยงหมูในประเทศที่มีโรค ASF ต้องมีวัคซีน เพราะการทำฟาร์มระบบปิด มีระบบป้องกันเชื้อโรคหรือไบโอซีเคียวริตี้ที่ป้องกันโรคเข้าได้ยากที่สุด แต่ถ้าเชื้อโรคหลุดรอดเข้าไปเสียหายทันที ไม่สามารถป้องกันโรคได้ดีที่สุด ต่างกับวัคซีน จะป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงได้”

พาหะนำเชื้อคน-สัตว์-สิ่งของ

รศ.นายสัตวแพทย์กิจจา กล่าวต่อไปว่า หลักการเลี้ยงให้ปลอดภัยพื้นที่ตั้งบ้านอยู่อาศัยต้องห่างกันจากฟาร์มเลี้ยงหมู อย่างน้อย 200 เมตร ต้องคนละพื้นที่กัน ฟาร์มต้องมีรั้วรอบขอบชิด กรณีฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่มีการฝังหมูที่เป็นโรคในพื้นที่ฟาร์มถือเป็นหายนะระยะยาว

ถึงจะขุดบ่อฝังลึกเพียงใดก็ลงเลี้ยงหมูใหม่ในพื้นที่นั้นไม่ได้ เพราะใต้ดินมีพาหะทั้งไส้เดือน มีแมลงต่าง ๆ ที่พร้อมเป็นพาหะขุดนำเชื้อขึ้นมาด้านบนพื้นดิน ติดตามขาแมลงสาบ แมลงวันเป็นพาหะได้หมด ยิ่งหน้าฝนน้ำซึมลงไปในดิน ก็ดันทุกอย่างขึ้นมาบนพื้นดินทำให้เกิดการปนเปื้อน ดังนั้นเกษตรกรที่เลี้ยงหมูใต้ถุนบ้าน เลี้ยงหมู 100-200 ตัว ไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอ

ยกตัวอย่างประเทศจีนหมูเป็นโรค ASF มาหลายปี ฟาร์มรายย่อยในจีนเลิกเลี้ยงกันไปแล้ว หรือกรณีเวียดนาม เป็นโรค ASF ตอนนี้กลับมาเลี้ยงใหม่ก็เสียหายหนัก ถ้ายังไม่มีวัคซีน เลี้ยงไม่ได้ แต่ราคาหมูในจีนไม่แพงเหมือนเดิม เพราะปิดประเทศไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไป การเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในประเทศก็เพียงพอ

ถ้าประเทศไทยมีการระบาดของโรค ASF จริงเชื้อระบาดไปทั่วแล้ว พร้อมจะปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งคน อาหารที่คนกิน หากเข้าไปถึงปากสุกรแล้วเป็นโรค หมูติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยไม่เกิน 4-5 วัน และมักเป็นไข้สูงและทยอยตายอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นทางที่ดีฟาร์มรายย่อยที่ยังไม่เป็นโรคต้องหาทางป้องกันในเรื่องอาหารการกินของคนเลี้ยง ผักต่าง ๆ ที่จะนำเข้าโรงเรือนต้องระวัง ถ้าหมูขุนเลี้ยงได้ขนาดน้ำหนักตามที่ต้องการแล้วให้รีบขาย และหาทางไปเลี้ยงสัตว์อื่นชั่วคราว จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้นำมาใช้