ภูธรวิกฤตโอมิครอน หอการค้าภาคชี้กำลังซื้อวูบ-สินค้าแพง

ปรัชญา สมะลาภา (คนที่1) ธวัชชัย เศรษฐจินดา (คนที่2) สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย (คนที่ 3) สมบัติ ชินสุขเสริม (คนที่ 4)วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ (คนที่5)
ปรัชญา สมะลาภา (คนที่1) ธวัชชัย เศรษฐจินดา (คนที่2) สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย (คนที่ 3) สมบัติ ชินสุขเสริม (คนที่ 4)วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ (คนที่5)

หอการค้า 5 ภาคชี้เศรษฐกิจภูมิภาคเริ่มซึม กำลังซื้อวูบกว่า 50% หลังเจอมรสุมหลายเด้งถาโถม โดยเฉพาะยอดติดเชื้อโอมิครอนพุ่งสูงคนผวาหยุดเดินทางท่องเที่ยว รัฐออกมาตรการคุมเข้ม งดจัดกิจกรรม อีเวนต์ปิดสถานที่เสี่ยง ตามด้วยราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค วัสดุก่อสร้าง เหล็ก หมู ไก่ อาหาร ปรับราคาแพงลิ่ว ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกันหมดกำลังซื้อดิ่ง ทุกภาควอนรัฐอย่าล็อกดาวน์ ทำเศรษฐกิจฟื้นยาก

คนละครึ่งจบกำลังซื้อวูบ 50%

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน และโครงการเราเที่ยวด้วยกันหมดไป ประกอบกับภาครัฐประกาศมาตรการยกระดับควบคุมโอมิครอน นักท่องเที่ยวในภาคเหนือลดลงไปเกือบ 50% ต้องดูว่าเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งมาตรการยกระดับควบคุมของรัฐบาลถือว่าดีมาก

แต่สิ่งสำคัญไม่อยากให้เกิดการล็อกดาวน์ เพราะจะทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไป ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางของหอการค้าไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการยกระดับมาตรการด้วยการล็อกดาวน์ทุกกิจกรรมของประเทศของภาครัฐ โดยหอการค้าจังหวัดภาคเหนือจะมีการหารือกัน เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอให้กับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านไปยังรัฐบาลต่อไป

“ช่วงปลายปีถึงปีใหม่ไม่มีการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์อะไรมากระตุ้น เพราะมีการระบาดของโควิด อีกทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่ขึ้นราคา ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น เช่น ข้าวราดแกงจาก 35-40 บาท เป็น 50-60 บาท ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กปรับราคาขึ้น อยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาส่วนนี้ด้วย ก่อนที่สินค้าตัวอื่นจะตามกันขึ้นมา เพราะปัจจุบันสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและกำลังซื้อของผู้คนในพื้นที่น่าจะอยู่ประมาณ 40-50% ใช้จ่ายกันไม่เต็มที่”

นายสมบัติกล่าวต่อไปว่า ก่อนโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดเป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคเหนือ โครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลมีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ประมาณ 70-80% เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้

เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ หากไม่มีโครงการดังกล่าวมากระตุ้นบรรยากาศน่าจะเงียบอยู่พอสมควร โดยนักท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ได้มากขึ้น เรียกได้ว่าภาพรวมการท่องเที่ยวของภาคเหนือคึกคัก แต่เมื่อเทียบยอดจองห้องพักกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ผ่านมายังเทียบกันไม่ได้ ปีที่ผ่านมามีความคึกคักมากกว่า

โควิดพุ่ง-ของแพงอีสานซึม

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภาคอีสานเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ถือว่ามีความคึกคักดี ฟื้นกลับมา 50-60% จากภาวะปกติ แต่ปัจจุบันเริ่มซึมลงมาแล้ว เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่แทรกซึมเข้ามายังพื้นที่จังหวัดภาคอีสานในหลายจุด ทุกฝ่ายกำลังดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และต่างพยายามตรวจหาเชื้อในเชิงรุกให้เร็วที่สุด ทำให้เศรษฐกิจแกว่งขึ้นลงไม่แน่นอน

“ตั้งแต่ปลายปี 2564 ต้องยอมรับว่าพื้นที่ภาคอีสานคึกคักทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวรับลมหนาว กระแสฟีเวอร์เที่ยวพญานาค กระทั่งมีโอมิครอนแพร่ระบาดทำให้ผู้คนระมัดระวังตัวมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยชะงักเล็กน้อย รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาควบคุมสถานการณ์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดลงเพื่อดูสถานการณ์ คาดว่าจะซบเซาถึงกลางเดือนมกราคม 2565 และซึมยาวไปจนถึงช่วงตรุษจีน”

ด้านกำลังซื้อของคนในพื้นที่เช่นกัน เมื่อโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่มาช่วยกระตุ้นนั้นหมดไป กำลังซื้อก็หายไปด้วย ที่สำคัญค่าอาหารแพงขึ้น โดยเฉพาะหมู ทำให้ทุกอย่างแพงขึ้นตาม ผู้คนต้องซื้อของน้อยลง อีกทั้งมาตรการที่ออกมาควบคุมโควิดทำให้ผู้คนชะลอการเดินทางท่องเที่ยว แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ไม่รุนแรง แต่ทำให้ยอดจองโรงแรมจากที่มีประมาณ 70% ลดเหลือประมาณ 20% นักท่องเที่ยวเบาบางลงแต่มีเดินทางมาท่องเที่ยวอยู่เรื่อย ๆ

ภาคกลางจี้กระตุ้นเศรษฐกิจต่อ

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมกำลังซื้อในประเทศยังไม่ดีมาก ตอนนี้กำลังซื้อแยกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

1.การใช้จ่ายบริการ ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ หากควบคุมเข้มข้นมาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลต้องมีการเยียวยา ปัจจุบันรัฐบาลประกาศนโยบายออกมาว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีการนำงบประมาณไปใช้จ่ายเรื่องโรคโควิด-19 จำนวนมาก

2.ความเชื่อมั่น รัฐบาลต้องให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน ผู้ประกอบการ ว่าเตรียมการป้องกันอย่างไร มีศักยภาพในการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างไร

ภาพรวมเศรษฐกิจภาคกลางในด้านการเกษตรถือว่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากได้รับเงินจากนโยบายประกันราคา แต่หากมองในระยะยาวกำลังซื้อในประเทศไม่ดีมากนัก รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และควรมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ได้ผลตอบรับที่ดีมากขึ้น เพราะการใช้เงินแบบเหวี่ยงแหใช้งบประมาณมาก แต่ได้ผลไม่เต็มที่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่มีสัดส่วนถึง 20% ตอนนี้ยังไม่ฟื้นตัว จากปี 2562 ที่มีรายได้กว่า 5 ล้านล้านบาท พอมาปี 2564 เหลือเพียง 6 แสนล้านบาท รายได้การท่องเที่ยวหดหายไปมาก ส่งผลต่อผู้ประกอบการ ต่อไปต้องกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก

โดยเฉพาะท่องเที่ยวเชิงสัมมนา ให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการสัมมนาตามภูมิภาค ส่วนระยะกลาง ระยะยาวต้องมีการปรับจากเดิมที่รับนักท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ เปลี่ยนมารับนักท่องเที่ยวแบบคุณภาพ และจะต้องมีการทำ Health & Wellnes พร้อมมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลควรคิดว่าทำอย่างไรที่จะประคองให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และ SMEs เดินหน้าต่อไปได้ มาตรการเสริมสภาพคล่องของภาครัฐที่ออกมาส่วนใหญ่ ถ้าเป็นมาตรการที่ธนาคารประเทศไทย (ธปท.) ทำผ่านธนาคารพาณิชย์ มองว่าส่วนใหญ่จะมีหลักเกณฑ์เข้มงวด เพราะธนาคารพาณิชย์มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มาก

ซึ่งตรงนี้รัฐบาลควรใช้ธนาคารรัฐ เช่น ออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นเครื่องมือออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs การสร้าง SMEs ขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี จากวิกฤตโควิด ถึงภาคส่งออกจะโต 40% แต่เป็นบริษัทใหญ่ที่ได้กำไร ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีผลประกอบการติดลบ

ใต้วอนอย่าล็อกดาวน์เศรษฐกิจชะงัก

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจภาคใต้กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมันค่อนข้างดี ทำให้เกษตรกรและประชาชนมีกำลังซื้อ แต่การท่องเที่ยวตอนนี้ค่อนข้างซบเซา เนื่องจากนักท่องเที่ยวกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโอมิครอน

ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2565 ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งหรือไม่ ประชาชนเตรียมป้องกันตนเอง หากมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น กำลังซื้อในระยะยาวน่าจะหายไปประมาณ 20% เนื่องจากประชาชนไม่ได้ไปทำงาน มีการจ้างงานน้อยลง ไม่มีการลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม แม้การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ติดเชื้ออาการหนักค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังไม่มีการเสียชีวิต หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ความกังวลของประชาชนน่าลดลง

สำหรับมาตรการของภาครัฐที่มีการปิดพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เห็นด้วย แต่ไม่อยากให้ถึงขนาดต้องมีการล็อกดาวน์ หากทำเช่นนั้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ อีกทั้งรัฐบาลต้องไปหางบประมาณเพื่อเยียวยาประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปค่อนข้างมาก และอาจจะไม่ทั่วถึง อยากขอให้รัฐบาลไม่มีการล็อกดาวน์

ตะวันออกชี้มาตรการ สธ.ต้องชัด

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีคนติดเชื้อกันจำนวนมาก เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับส่วนหนึ่งว่า เชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง ทำให้คนระมัดระวังในการป้องกันน้อยลง

ส่วนผู้ประกอบการโรงงานต่างมีการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนข้างนอกจะเข้าไปส่งเอกสาร ส่งของในโรงงานต้องตรวจ ATK ทั้งหมด แต่การติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ผลการตรวจ ATK มีข้อจำกัด โอกาสที่เชื้อจะหลุดรอดและแพร่กินพื้นที่บริเวณกว้างมีสูง ประเด็นคือ ถ้าหน่วยงานภาครัฐยังยึดนโยบายว่าถ้าพบเชื้อแล้วต้องปิดโรงงานต้องหยุดกิจการ จะกระทบรุนแรง เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวกับรายได้จากการส่งออกเป็นเศรษฐกิจหลักของภาคตะวันออก

“ด้านการท่องเที่ยวช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถือว่าฟื้นชัดเจน ถ้าอยากให้พื้นที่ภาคตะวันออกเศรษฐกิจกลับมาดีเหมือนเดิม ผมว่าโจทย์ใหญ่ตอนนี้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีคนติดเชื้อกันจำนวนมากแล้วจะทำอย่างไร เข้าใจว่าทางรัฐบาลขอดูตัวเลขอีกไม่กี่สัปดาห์ จะเข้มงวดเหมือนเดิมหรือจะผ่อนปรน เช่น คนป่วยไม่มาก ใครติดเชื้อให้เฝ้าระวังอยู่ที่บ้าน น่าจะเป็นทางที่มีต้นทุนต่ำสุด เข้าใจว่าโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง รวมถึงในโรงงานบางแห่งก็ปิดไปแล้ว”

“ผมคิดว่ามาตรการไม่น่าจะรุนแรง ไม่ถึงกับล็อกดาวน์และปิดโรงงานเหมือนที่ผ่านมา ผมไม่อยากให้มีแบบนั้น เพราะเกรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นยากอยู่แล้ว ส่วนสถานบันเทิงที่เป็นแหล่งแพร่โรคต้องปิดกิจการไป”