“หมูแพง” ใครรวย ? ลงเลี้ยงใหม่-ใครรอด

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

ราคาหมูที่ทะยานขึ้นไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เนื้อแดง 210-230 บาท/กก. หมูสามชั้น 250 บาท/กก. เรียกว่าขยับใกล้แตะเพดาน 300 บาท/กก. ถือเป็น “ราคาแพง” สุดเป็นประวัติการณ์ ! อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่หากย้อนกลับไปช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 คนในวงการเลี้ยงหมูทราบดีว่า ราคา “หมูมีชีวิต” หน้าฟาร์ม “ถูกที่สุด” ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเช่นกัน ขณะนั้นราคาขายปลีกในตลาดประมาณ 120-130 บาท/กก.

โดยเฉพาะฟาร์มแถบนครนายก ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี แม่พันธุ์สุกรขนาดน้ำหนัก 250 กก./ตัว ปกติขาย 25,000-30,000 บาท/ตัว เหลือขาย 2,500 บาท/ตัว หรือตก 10 บาท/กก. ! ลูกหมูน้ำหนัก 16 กก./ตัว ปกติขาย 1,000-1,200 บาท/ตัว เหลือขายราคา 4 บาท/กก. ส่วนหมูขุนเฉลี่ยขายตามสภาพตั้งแต่ 25-30-40 บาท/กก.

ช่วงนั้นรถจับหมูวิ่งเข้า-ออกฟาร์มกันฝุ่นตลบ ! แต่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ “มองไม่เห็น” ด้านผู้เลี้ยงต่าง “ปิดปาก” ลักลอบเคลื่อนย้ายหมูที่เป็นโรคระบาดเพื่อไม่ต้องนำ “หมูลงหลุม”

ทำไมผู้เลี้ยงเร่งเทขายหมูทิ้งในราคาขาดทุนอย่างแสนสาหัส ?

เพราะหมูเป็นโรคระบาด “เพิร์ส” หรือโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) อย่างที่กรมปศุสัตว์พยายามบอกหรือไม่ ?

โรคเพิร์สเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 20 ปี มีวัคซีนฉีดป้องกันได้ หรือหมูทั่วประเทศเป็นโรคระบาด “อหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ African Swine Fever : ASF” ซึ่งไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษากันแน่ ?

ดังนั้น สิ่งที่กรมปศุสัตว์แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า โรค ASF เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณ “โรงเชือดในจังหวัดนครปฐม” เท่านั้นจริงหรือ ?

ก่อนหน้านั้น “นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม” อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร ออกมายอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ที่ผ่านมาคนเลี้ยงหมูเผชิญกับโรค ASF หมูตายเกือบหมดประเทศไทย มีหมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศ 1.1 ล้านตัว ปกติผลิตลูกหมู หรือ “หมูขุน” ได้ 21-22 ล้านตัว โรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% เหลือแม่หมูอยู่ 550,000 ตัว ผลิตหมูขุนได้ 12-13 ล้านตัว/ปี คนเลี้ยงหมูรายเล็กรายย่อยประมาณ 2 แสนรายได้รับผลกระทบ

วันนี้ราคาหมูที่สูงขึ้นคนได้ประโยชน์ คือ ภาคบริษัทใหญ่ ซึ่งมีหมูเสียหายไม่เกิน 30% หมูที่รอด 70% ขายได้ราคาดี ส่วนผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 2 แสนราย เสียหายเกิน 50-60% บางรายเสียหาย 100% “การลงเลี้ยงใหม่รอดยากหากไม่มีวัคซีน การทำระบบไบโอชีวภาพที่ได้ผลต้องใช้เงินลงทุนสูง”

ตอกย้ำชัดเจนขึ้นจากข้อมูลของศาสตราจารย์กิตติคุณ นสพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกรที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ

โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรฯนั่งหัวโต๊ะ มี นสพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นั่งเป็นกรรมการร่วม นสพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นที่ปรึกษา โดยมีสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจากทุกภาค รวมทั้งสมาคมองค์กรวิชาชีพ เช่น สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ฯลฯ เข้าร่วมหารือ

อาจารย์อรรณพระบุว่า โรค ASF พบในโลกมานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ปี 1921 มีความคงทนต่อความร้อนและความเย็น ไม่สามารถรักษาด้วยยาหรือสารเคมี ยังไม่สามารถทำวัคซีนได้ ประเทศไทยมีการระบาดของ ASF ทั่วทุกภูมิภาคแล้ว แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ สมาคม และฟาร์มปิดบังความจริง ตอนนี้ประเทศไทยเลยช่วงเวลาที่จะกำจัดโรคนี้ออกไปแล้ว ถ้าทำต้องใช้งบประมาณสูงมากและใช้เวลานาน

ขณะนี้เหลือทางเลือกเดียวจะอยู่อย่างไรในกรณีมี ASF ให้รอดปลอดภัย คือ 1.ต้องมีการดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ขั้นสูงสุดในฟาร์ม ต้องเลี้ยงในฟาร์มระบบปิด 2.มีการตรวจสอบการติดเชื้อในทุกรูปแบบ/ทุกระบบทั้ง antigen และ antibody

3.มีมาตรการควบคุมการกระจายของโรคจากสุกรเป็นซากสุกร และผลิตภัณฑ์อย่างโปร่งใสและเข้มงวด 4.มีการกำหนดเขตปลอดโรค ASF (ASF Free Compartment) 5.มีแนวทางและมาตรการให้คำแนะนำและจัดการโรคเมื่อฟาร์มมีปัญหาให้รวดเร็วและทันการณ์ 6.มีการสื่อสารให้ผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อย รายกลางเข้าใจเรื่อง ASF อย่างถูกต้อง

ส่วนข้อเสียของการไม่เปิดโรค คือ 1.ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจต่อหน่วยงานรัฐ สัตวแพทย์ รัฐบาลไทยตกต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา 2.การเปิดโรคทำให้ส่งออกสุกรไม่ได้จนกว่าจะมีข้อตกลงในอนาคตโดยการทำ ASF Free Compartment

3.เกษตรกรรายย่อย รายเล็ก รายกลางจะหมดสิ้นไปจากประเทศไทย จะเข้าสู่ระบบการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม (ผูกขาด) ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อด้านอุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุกร 4.การนำเข้าสุกร และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น การผลิตในประเทศมีต้นทุนสูงขึ้นมาก ไม่สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม วันนี้แม้กรมปศุสัตว์ยอมรับว่ามีโรค ASF จริงเฉพาะบริเวณโรงเชือดจังหวัดนครปฐม ไม่ได้ประกาศเขตโรคระบาดทั้งประเทศไทย ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่บอกทำนองเดียวกันว่า “ทุกอย่างมันล่มสลาย สายเกินไปแล้ว”