ใกล้กรุงเทพฯนิดเดียว อพท.ชวนท่องเที่ยวยั่งยืน”วิถีมะพร้าว”ชาวตะเคียนเตี้ย

อพท. จับมือชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตะเคียนเตี้ย พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย ชูจุดเด่นธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ สวนปลอดสารพิษ ใช้อินทรีย์สารดูแลสวนมะพร้าว เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นายธิติ จันทร์แต่งผล รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เปิดเผยว่า ได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย (Coconut tourism) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนตะเคียนเตี้ยที่มีความผูกพันกับสวนมะพร้าวมานาน และที่ผ่านมาพบว่าต้นมะพร้าวถูกทำลายโดยหนอนหัวดำมะพร้าว ส่งผลให้มีต้นมะพร้าวยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก อพท. จึงมีแผนที่จะช่วยชาวชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ยกำจัดหนอนหัวดำ เพื่อช่วยให้ชาวชุมชนมีวิถีชีวิตเช่นเดิม และสามารถอนุรักษ์สวนมะพร้าวให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย

โดย อพท. ได้ประสานไปยังศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคกลาง คณะกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน เพื่อจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีและการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติเพื่อใช้ในการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว นั่นคือ เพาะเลี้ยงแตนเบียนบราคอน ฮีบีเตอร์ โดยหวังว่า การเพาะเลี้ยงแตนเบียนบราคอน ฮีบีเตอร์ จะสามารถควบคุมศัตรูมะพร้าวหรือหนอนหัวดำได้ และทำให้วิถีมะพร้าวคงอยู่กับชุมชนตะเคียนเตี้ยต่อไป

ขณะเดียวกัน ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี (กรมส่งเสริมการเกษตร) ให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์แตนเบียนบราคอน ฮีบีเตอร์ และฝึกอบรมการเลี้ยงแตนเบียนฯให้กับชาวบ้าน เพื่อนำแตนเบียนฯไปควบคุมศัตรูมะพร้าว คือหนอนหัวดำมะพร้าว ที่มีการแพร่ระบาดในตำบลตะเคียนเตี้ย ซึ่งหลังจากมีการเพาะเลี้ยงแตนเบียนฯมาระยะหนึ่ง จึงได้ยกระดับกิจกรรมการปล่อนแตนเบียนให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยว วิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย (Coconut Tourism) โดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ปล่อยแตนเบียน ซึ่งนอกจากจะช่วยกำจัดหนอนหัวดำแล้ว ชาวชุมชนยังมีรายได้จากการเลี้ยงแตนเบียนฯด้วย

ด้านนางสาวนิลวรรณ ทุนคุ้มทอง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวเสริมว่า ในอดีตบริเวณบ้านตะเคียนเตี้ย เป็นสวนมะพร้าวที่มีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ แต่ในระยะหลังความเจริญขยายเข้ามาในชุมชน พื้นที่บางส่วนถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงการบ้านจัดสรร ขณะที่พื้นที่บางส่วนที่ยังเป็นสวนมะพร้าวแต่ไม่ได้รับการดูแล ถูกทิ้งร้าง ซึ่งกลายเป็นแหล่งเพาะตัวอย่างดีของหนอนหัวดำ และทำให้แพร่กระจายไปยังสวนมะพร้าวในบริเวณใกล้เคียง ชาวชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ยจึงต้องการกำจัดหนอนหัวดำ โดยไม่ใช่สารเคมี กำจัดด้วยวิถีธรรมชาติ จึงร่วมมือกับอพท.3 เพื่อร่วมเลี้ยงแตรเบียนฯเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ

“ปัญหาสำคัญของการเพาะเลี้ยงแตนเบียนฯคือ ชาวบ้านยังไม่เข้าใจวงจรชีวิตของแตนเบียน ไม่สามารถเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ต่อได้ ทำให้ต้องขอไข่จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรฯ ซึ่งในบางช่วงเวลาไม่งบประมาณก็ไม่สามารถส่งไข่แตนเบียนให้ชุมชนได้ นอกจากนี้ยังพบว่าการให้อาหาร เช่น รำข้าว และน้ำผึ้ง จำเป็นต้องมีการคัดเลือกจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ และปลอดสารเคมี แต่หลังจากที่ชาวชุมชนได้รับการฝึกอบรม เชื่อว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงแตรเบียนฯได้”

นายธิติ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา อพท. ได้ทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวหลายครั้งเพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ บริษัทนำเที่ยวภายในประเทศ และบริษัทนำเที่ยวที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาจากต่างประเทศ ในพื้นที่เมืองพัทยาและจากทั่วประเทศได้เข้ามาสัมผัสการท่องเที่ยววิถีมะพร้าว รวมถึงร่วมกันกำหนดราคาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และชุมชนเกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ปัจจุบัน การท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย มีจุดเด่นที่สะท้อนวิถีมะพร้าวของชุมชนตะเคียนเตี้ยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลศิลปวัฒนธรรมตลอดจนภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านร้อยเสา ศาสตร์การปลูกมะพร้าว ลำตัด งานหัตถกรรมพื้นบ้าน และที่โดดเด่นมีอัตลักษณ์เป็นที่ถูกอกถูกใจของนักท่องเที่ยวคือ อาหารพื้นบ้าน “แกงไก่กะลา” รวมถึงน้ำพริกไข่เค็มกินกับผักสวนครัวปลอดสารพิษ ผัดหน่อไม้จากสวนบ้านร้อยเสา และ“กาแฟมะพร้าว” และ “วุ้นมะพร้าว” เคล็ดลับความอร่อยที่เกิดจากการใช้น้ำกระทิที่คั้นสดวันต่อวัน จนนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวต้องซื้อกลับบ้านเสมอ

นอกจากนี้ยังมีการผลิตน้ำมันมะพร้าวอินทรีย์สกัดเย็น โดยบ้านสวนป่าสาโรชกับแหวว และมีการนำน้ำมันพร้าวดังกล่าวไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอางร่วมกับ นัชชาสปา เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย