สมาพันธ์คนจันท์ฯ ชงบิ๊กตู่ขอถอนจันทบุรีออกจากจังหวัดเหมืองแร่

“สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง”นัดชุมนุม 44 องค์กรเครื่อข่ายออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืน 2 ข้อ คัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ บริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัดและขอถอนชื่อจ.จันทบุรีออกจากจ.เหมืองแร่เตรียมยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายฯรวม 44 องค์กรในจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมประชุม ติดตามความคืบหน้าฯ กรณี, คัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ บริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัดและขอถอนชื่อ จ.จันทบุรีออกจาก จ.เหมืองแร่ โดยได้ยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร์ เพื่อขอให้ตรวจสอบการอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำพื้นที่จังหวัดจันทบุรีของบริษัทริชภูมิไมนิ่ง จำกัด มาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ปีเต็ม แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

และตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านสื่อมวลชนจากหลายสำนัก รวมถึงบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดลิมิเต็ด ซึ่งเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ข่าวสารการได้รับการอนุมัติใบอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เพชรบูรณ์เกือบ 400,000 ไร่ และใบประทานบัตรการเปิดเหมืองอีก 4 แปลง ก่อนผลการพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการฯ ในวันที่ 31 มกราคม 2565

ก่อให้เกิดข้อกังขาต่อท่าทีของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอื้อสิทธิประโยชน์ อื่นๆที่รอการอนุมัติเพิ่มเติม เพื่อยุติคดีดังกล่าวหลังจากนี้ในอีกหลายๆจังหวัด ซึ่งจ.จันทบุรีเป็นหนึ่งในนั้น เนื่องด้วยบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด แห่งออสเตรเลีย

“สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายฯ รวม 44 องค์กรในจังหวัดจันทบุรี นัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดของเครือข่าย และขอยืนยันประกาศจุดยืนร่วมกัน 2 ข้อ คือ 1) คัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด อย่างถึงที่สุด และไม่ยินยอมให้เข้าทำการสำรวจแร่ในพื้นที่จันทบุรีโดยเด็ดขาด

และ2) ขอใช้สิทธิบุคคลและชุมชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 43(2) และ (3) เรียกร้องไปยังรัฐบาลผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร ได้ตรวจสอบ พิจารณาให้มีการถอดถอนจังหวัดจันทบุรีออกจากเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองโดยเร็ว” นายธีระกล่าว

ทางด้านนางอินทิรา มานะสกุล เลขาธิการสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทองรองประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.)จังหวัดจันทบุรีกล่าวเพิ่มเติมกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าความคืบหน้าของการยื่นขอคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จากการยื่นหนังสือคัดค้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563

และล่าสุดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 ได้ยื่นหนังสือยืนยันจุดยืนการคัดค้านไปยัง 4 หน่วยงาน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาและอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แลพพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยยื่นผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี แต่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้นำข้อคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของชาวจันทบุรีมาพิจารณา

ล่าสุด ได้ติดตามเริ่องที่ กพร.เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ยังไม่ได้คำตอบตอนนี้เรื่องเหมืองทองจันทบุรีที่ยื่นหนังสือไปอยู่ 2 หน่วยงานที่ตรวจสอบข้อมูลอยู่ คือ กรรมาธิการ ปปช.สภาผู้แทนราษฏร์และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน(หมายเลขคดีดำที่208/2564 ที่ประชุมเห็นว่าวันที่ 31 มกราคม 2565 จะมีการพิจารณาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเต็ด ประเทศออสเตรเลียเกรงว่าจะมีการอนุมัติให้บริษัทอัคราฯที่ขออาชญาบัตรพิเศษพื้นที่เพชรบูรณ์เกือบ 400,000 ไร่ และใบประทานบัตรการเปิดเหมืองอีก 4 แปลงที่ขอพร้อม ๆ กับจันทบุรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ส่วนในเรื่องที่กรรมาธิการจะลงพื้นที่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19

“วันที่ 27 สิงหาคม 2563 ตามประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นขอใบอาชญาบัตรพิเศษในพื้นที่ จ.จันทบุรี 2 แปลงพื้นที่รวม 14,650 ไร่ ที่ต.พวาและต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และสภาเกษตรจ.จันทบุรีก่อนที่จะมาจัดตั้งเป็นสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง เกือบครบ 2 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าหรือคำตอบที่ขัดเจนตามข้อเรียนร้อง 2 ข้อของสมาพันธ์และเครือข่าย 44 องค์กร ทั้งนีในข้อสรุปหลังมีการประชุมแถลงการณ์สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทองจะทำหนังสือยื่นผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และเข้าไปยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีก่อนปิดประชุมสภาภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์2565นี้” นางอินทิรากล่าว