ดิจิทัล-เทคโนโลยี “เรือธงเศรษฐกิจ” เชียงใหม่

ทิศทางและยุทธศาสตร์ (strategic direction) การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ มีหมุดหมายสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะ 2 ด้านหลักคือ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการสุขภาพ (tourism and health hub) และเมืองอัจฉริยะ (smart city) ที่มีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจสูงและกำลังถูกเร่งขับเคลื่อนอย่างจริงจัง “ปวิณ ชำนิประศาสน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ”

สำหรับตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2559 มากกว่า 70,000 ล้านบาท มีการเชื่อมโยงสู่เมืองท่องเที่ยวในภูมิภาค เนื่องจากเชียงใหม่มีความหลากหลายทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยว MICE และการเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ทั้งการแพทย์ปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งจะสามารถรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นถิ่นสู่รูปแบบการบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์โดดเด่น

ขณะที่อีกเป้าหมายหนึ่งคือ การขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ (smart city) เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับและลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ทั้งในภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และหัตถอุตสาหกรรม ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการตลาด และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในรูปแบบใหม่

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ธุรกิจสุขภาพ (health & wellness) เป็นธุรกิจดาวเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำรายได้ค่อนข้างสูง และเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เป็นอันดับสองรองจากภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ก็จะได้รับผลในเชิงบวกไปด้วย ?ซึ่งธุรกิจสุขภาพที่มีความโดดเด่นสามารถทำรายได้ค่อนข้างสูงก็คือ “สปา” ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ที่จะมุ่งส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองสปา โดยพบว่ามูลค่าของสปาในปี 2559 มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก็จะส่งเสริมเมืองน้ำพุร้อนด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่เชียงใหม่มีอยู่ โดยทั้งเมืองสปาและเมืองน้ำพุร้อน จะเร่งยกระดับให้มีมูลค่าสูงขึ้น

สำหรับการเคลื่อนเมืองไปสู่สมาร์ทซิตี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ คือ กินดี อยู่ดี มีสุข โดยมีกลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับ และลดต้นทุนภาคการผลิต/บริการทั้งในภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคการผลิตควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วย และการติดตามดูแลผู้ด้อยโอกาสในกลุ่มต่าง ๆ

นอกจากนี้คือ การยกระดับความมั่นคงด้วยระบบกล้อง CCTV เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการป้องกันและเตือนภัยด้านภัยพิบัติต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ปัญหาหมอกควัน ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการพัฒนาการบริหารและการบริการภาครัฐ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและบริการประชาชน และการพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

“ตอนนี้เรายังขาดแพลตฟอร์มกลาง ในการพัฒนาและเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วน ที่ต้องมีมาตรฐาน มีระบบการบริการและการจัดการ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ”

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บอกด้วยว่า ทิศทางการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ที่น่าห่วงคือ ภาคการเกษตร ซึ่งเกษตรกรยังขาดในเรื่องความรู้ที่จะรองรับกับกระแสตลาดในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปัญหาในเชิงพื้นที่ก็ค่อนข้างน่าห่วงเช่นกัน เพราะพื้นที่การเกษตรในโซนที่อยู่นอกเขตอำเภอเมือง มีปัญหานายทุนผูกขาดและมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร นโยบายการพัฒนามุ่งเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปรรูป พืชผักเมืองหนาว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ การเป็น northern food valley

ขณะที่ปัญหาการจราจรเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ถือว่าเป็นปัญหาการพัฒนาเมืองที่ต้องเร่งแก้ไข และต้องเร่งขับเคลื่อนภายใต้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ล่าสุดกลุ่มภาคเอกชนจากจีนได้แสดงความสนใจ และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่

ผู้ว่าฯปวิณย้ำว่า การมุ่งสู่การเป็นเมือง “เฮลท์ฮับ” และ “สมาร์ทซิตี้” เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้เติบโตได้ในอนาคต ซึ่งการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน