กระบี่เสียงแตก ปมต่างชาติถ่ายหนัง THE MEG 2 อ่าวไร่เลย์

กระบี่เสียงแตก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวนาง-ผู้ประกอบการโรงแรม หนุนต่างชาติถ่ายหนัง MEG 2 อ่าวไร่เลย์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อเงินสะพัดพันล้าน ด้านผู้ว่าฯ-ส.ส.ค้าน หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณี ที่ทางนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้ประชุม คณะกรรมการ ร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 ครั้งที่ 2 /2565 ที่ห้องพนมเบญจา ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ เลขที่ 9/10 และเชื่อมโยงผ่านระบบ ZOOM โดยในการประชุม กรอ.ได้มีการนำเรื่องการเตรียมการถ่ายทำภาพยนตร์ในจังหวัดกระบี่ เข้าพิจารณาในที่ประชุม

ด้วยบริษัท อินโดไชน่า โปรดักส์ชั่น จำกัด ได้รับมอบหมายจาก บริษัท Deep Blue Production ในเครือวอร์เนอร์ บราเธอร์ เป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำในประเทศไทยในช่วงระหว่างวันที่ 16 เมษายน ถึง 9 พฤษภาคม 2565

ซึ่งได้เลือกสถานที่ถ่ายทำในบริเวณหาดพระนาง หาดต้นไทร อ่าวไร่เลย์ เบื้องต้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ในฐานะประธานได้ขอมติที่ประชุม ว่าจะให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากขัดกับปฏิญญาการท่องเที่ยวของจังหวัด และข้อห้ามตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นในที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้มีการถ่ายหนังเรื่องดังกล่าวในพื้นที่

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะชาวกระบี่ ได้เข้าพบและให้กำลังใจนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ที่ไม่อนุญาตให้บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ The Meg 2 ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว พร้อมให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพบว่า ที่ผ่านมาการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช ที่อ่าวมาหยา ทุกคนก็เห็นแล้วว่า ความเสื่อมโทรมทางด้านทรัพยากร มากแค่ไหน

ซึ่งการที่ทาง ผวจ.กระบี่ มีจุดยืนชัดว่าไม่อนุญาตให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ The Meg 2 ถ่ายทำ ตนเห็นด้วย เพราะเชื่อว่าเมื่อการถ่ายทำภาพยนตร์เกิดขึ้น ก็จะต้องมีการปรับแต่งสถานที่ ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปเหมือนกับอ่าวมาหยา จากเรื่องเดอะบีช ภาพยนตร์ชื่อดัง

นายประเสริฐพงษ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯถ่ายทำภาพยนตร์ มักจะอ้างว่าเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และประเทศ ซึ่งด้วยศักยภาพของจังหวัดกระบี่ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพยนตร์ในการประชาสัมพันธ์ อ่าวมาหยา เป็นต้นแบบความเสียหายจากกองถ่ายทำภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าจะได้รับการฟื้นฟูแล้ว ก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม การตัดสินใจของพ่อเมืองกระบี่ มองด้วยเหตุและผล มีประโยชน์จริง ๆ ต่อคนกระบี่ ตนอยากให้กลุ่มทุน และผู้สนับสนุนที่มีอำนาจ อย่าพยายามบีบให้มีการอนุญาต ตนพร้อมสู้เต็มที่ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และคนกระบี่

ขณะที่นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ย่านอ่าวนาง ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่ แยกได้เป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกจังหวัดกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่อาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นต้นทุน ในขณะเดียวกันการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของทุกคน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องมองควบคู่ไปด้วยหากว่ามีภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำ สิ่งที่คนกระบี่จะได้รับก็คือเม็ดเงินมหาศาล ทราบว่ากองหนังที่จะเข้ามาถ่ายทำ มีการขนทีมงานเข้ามาไม่ต่ำกว่า 400 คน และมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1 เดือน จะทำให้มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

นายอิทธิฤทธิ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนข้อกังวล ที่ว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งกองถ่ายภาพยนตร์ ก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสม และว่าการถ่ายทำภาพยนตร์มีหลายประเทศ อยากให้บริษัทถ่ายหนังระดับโลกเจ้าไปถ่ายทำ

ซึ่งทางกองภาพยนตร์ ได้เลือกจังหวัดกระบี่ ประเทศไทย เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งผลที่จะตามมาในอนาคต เมื่อมีการนำภาพยนตร์ออกไปฉายทั่วโลก คนก็จะรู้จักจังหวัดกระบี่และประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช หลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย ก็ได้มีนักท่องเที่ยวตามรอยมาท่องเที่ยวอ่าวมาหยาจากทั่วโลก

และในช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งชั่งน้ำหนักแล้วคุ้มค่ากว่าที่จะไม่ให้มีการทำ ส่วนข้อกังวลต่าง ๆ เราได้ได้เรียนรู้แล้วจากอ่าวมาหยา ก็เอามาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถกำหนดได้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายทำได้ จึงขอให้พิจารณาทบทวนใหม่ เพราะผู้ประกอบในพื้นที่ อยากให้มีการถ่ายหนังเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย


ด้านนายสมเกียรติ ขยันการ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวนาง กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่าทุกคนเห็นด้วยที่จะให้มีการถ่ายทำหนังเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าข้อกังวลในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่จะไปซ้ำรอยอ่าวมาหยา จะไม่เกิดขึ้นอีก และจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ในระยะยาว