ทวงถาม ‘ยักษ์เชฟรอน’ น้ำมันรั่ว…อีกกี่ครั้งที่ระยอง ?

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง “ซ้ำซาก” ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC ที่ทำ “น้ำมันดิบ” รั่วจาก “ท่ออ่อนใต้ทะเล” ตรงจุดเดิมเป็นครั้งที่ 2 ประมาณ 5,000 ลิตร บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจุดพบมีคราบน้ำมันรั่วไหลอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กม.

ด้วยระยะเวลาห่างกันเพียง 16 วัน หลังจากที่ทำน้ำมันดิบ 39 ลิตร รั่วไหลครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ยังไม่ทันจางหาย !

โดยรอย “แผลเก่า” ที่บาดลึกหัวใจคนระยองครั้งแรก ยังไร้ซึ่งความชัดเจนในเรื่องมูลค่าในการเยียวยา ต่อชาวประมงพื้นบ้าน แม่ค้าขายอาหารทะเล รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง

แม้วันนี้การมองด้วยสายตาเปล่าไม่เห็นคราบน้ำมันดิบ 39 ลิตร ที่รั่วไหลครั้งแรกล่องลอยอยู่เหนือผิวน้ำ เพราะถูกกดลงไปใต้ทะเลด้วยสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน (dispersant) 85,000 ลิตร แต่นักวิชาการหลายคนฟันธงว่า นั่นคือมหันตภัยร้ายต่อสัตว์ทะเล ปะการัง และระบบนิเวศอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูให้กลับคืนมา คงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาอีกหลายปี

“สนธิ คชวัฒน์” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหลายสถาบัน รวมถึงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ในเพจส่วนตัว ขออนุญาตหยิบยกมา…..

ระวัง ! สัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนคราบน้ำมันดิบไม่สามารถรับประทานได้ ทั้งโลหะหนักและสารก่อมะเร็ง

1.เมื่อดูจากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของน้ำมันดิบทั่วไป (MSDS) พบว่า น้ำมันดิบมีองค์ประกอบทางเคมีของสารไฮโดรคาร์บอนประเภท Alkane, N-Hexane, Cycloalkane, Isopentane และที่สำคัญคือ สารประเภท aromatic hydrocarbon ประเภทสารเบนซิน รวมทั้งมีส่วนผสมของทั้งสารไนโตรเจน ออกซิเจน และกำมะถัน เป็นองค์ประกอบ

นอกจากนี้ ยังมีสารโลหะหนักปะปนอยู่ด้วย ได้แก่ เหล็ก นิกเกิล ทองแดง วานาเดียม รวมทั้งปรอทและแคดเมียม เป็นต้น

2.สัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่อยู่ในพื้นที่ที่น้ำมันรั่วไหลคืออ่าวมาบตาพุด จะได้รับการปนเปื้อนจากคราบน้ำมันและชิ้นน้ำมันที่แตกตัวจากสารเคมี ทำให้ได้รับสารไฮโดรคาร์บอน เช่น สารเบนซิน สารเฮกเซน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และโลหะหนักเข้าไปปริมาณมาก อาจทำให้สัตว์น้ำตายได้ แต่บางตัวหากไม่ตายก็ยังสะสมสารพิษดังกล่าวไว้ปริมาณมากเช่นกัน

3.ที่สำคัญคือห้ามนำสัตว์น้ำที่ตายจากคราบน้ำมัน และสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียงมาเป็นอาหารรับประทาน ถึงแม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม ซึ่งความร้อนทำให้สารเบนซินและไฮโดรคาร์บอนระเหยออกได้บางส่วน แต่ก็ยังมีส่วนที่เหลือตกค้างในตัวของสัตว์น้ำบ้าง แต่โลหะหนักต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในตัวของสัตว์น้ำจะไม่ออกไปด้วย ยังสะสมในเนื้อของสัตว์น้ำต่อไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก

4.ต้องยอมรับว่าอาหารทะเลของจังหวัดจะได้รับผลกระทบอย่างสูง ประมงเรือเล็ก ประมงพื้นบ้านจะลำบาก แหล่งท่องเที่ยวจะเงียบเหงา รัฐบาลต้องมีมาตรการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ข้อสังเกต พื้นที่มาบตาพุดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2552 เป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว เรายังไม่สามารถก้าวข้ามได้ กลับมีมลพิษเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเห็นควรมีการทบทวนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย สำหรับเมืองอุตสาหกรรมใหม่ได้แล้ว…

นอกจากนี้ “อาจารย์สนธิ” ได้ทวงถามถึงมาตรฐานในการป้องกันน้ำมันรั่วของ SPRC อีกครั้งว่า “…ได้ดำเนินการถูกต้องตามมาตรฐานสากลในการสูบน้ำมันดิบผ่านทุ่นกลางทะเลมายังโรงกลั่นดังกล่าวหรือไม่ แม้แต่นำท่อรับน้ำมันจากทุ่นกลางทะเลมาซ่อมแซมยังไม่มีมาตรการที่เป็นมาตรฐาน จึงทำให้เกิดน้ำมันรั่วลงทะเลมาบตาพุดอีกครั้งถึง 5000 ลิตร”

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ (11 ก.พ. 65) กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ในฐานะผู้เสียหาย เข้าแจ้งความ แบ่งเป็น 4 ฐานความผิด คือ 1.ฐานความผิดมาตรา 119 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 แก้ไขเพิ่มเติม

และ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 กรณีก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นคดีที่ต่างกรรมต่างวาระกับการกระทำผิด ซึ่งได้ร้องทุกข์ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565

2.ฐานความผิดมาตรา 297 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และแก้ไขเพิ่มเติม ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่า ที่สั่งให้ระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือจนกว่าจะซ่อมแซมแก้ไขให้แล้วเสร็จ รวมทั้งจะต้องใช้ความระมัดระวังโดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการตลอดจนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้
มีการรั่วไหลในขั้นตอนการแก้ไขหรือซ่อมแซม โดยจะต้องมีหลักฐานการตรวจสอบที่สามารถยืนยันว่า ไม่มีน้ำมันค้างท่อส่งสินค้า และแจ้งให้สำนักงานเจ้าท่าทราบก่อนดำเนินการทุกครั้ง พร้อมทั้งจัดทำมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล แต่บริษัทกลับฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่อีกครั้ง รวมทั้งไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีน้ำมันค้างอยู่ในท่อก่อนการดำเนินการ จนเป็นเหตุให้น้ำมันรั่วลงทะเล

3.ในฐานความผิดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

4.ฐานความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายควบคุมมลพิษ เป็นต้น เพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป


แต่ปัญหาน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ในเวลาห่างกันเพียง 16 วัน คงเป็นสิ่งที่คนไทยต้องทวงถามความรับผิดชอบกับ “เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น” บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ขอสหรัฐอเมริกา ซึ่งมียอดรายได้ปี 2021 ถึง 15.6 พันล้านดอลลาร์ ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 60% ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศไทย