“นันทกรี” นำปุ๋ยมุกมังกรผงาด ทุ่มพันล้าน ผุด 3 โรงงานผลิตเพิ่ม 3.2 แสนตัน

เครือนันทกรีผู้ผลิต “ปุ๋ยอินทรีย์เคมี” แบรนด์มุกมังกร โตก้าวกระโดด 100% เร่งทุ่มงบฯ 1,620 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตทั้งโรงงานเก่า ผุดโรงงานใหม่อีก 3 แห่งใน 3 จังหวัด “นครปฐม-ชลบุรี-ระยอง” เพิ่มปริมาณปุ๋ยจาก 180,000 ตันเป็น 320,000 กว่าตัน พร้อมแตกไลน์ผลิตตั้ง “โรงงานยากำจัดศัตรูพืชอินทรีย์” รายแรก ๆ ของโลก การันตีไม่มีสารตกค้าง 100% เตรียมวางตลาดปี 2566

นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด จ.ชลบุรี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท นันทกรี จำกัด จ.สมุทรสาคร ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี ภายใต้แบรนด์ “มุกมังกร” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์เคมีเติบโตเร็วแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ยอดขายปุ๋ยอินทรีย์เคมีเครือนันทกรีสิ้นปี 2564 เติบโตขึ้น 30% หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท คาดการณ์ว่าปี 2565 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25-30% หรือประมาณ 1,625-1,700 ล้านบาท ใกล้เคียงกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้จะทำให้ได้ 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565

แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตของบริษัทไม่เพียงพอ ดังนั้นปี 2565 ได้ทำแผนลงทุนไว้ 1,620 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มจาก 180,000 ตันเป็น 320,000 กว่าตัน ทั้งการขยายไลน์การผลิตในโรงงานเก่า การตั้งโรงงานใหม่ 3 แห่ง พร้อมแตกไลน์ตั้งโรงงานผลิตยากำจัดศัตรูพืชอินทรีย์รายแรก ๆ ของโลกเตรียมวางตลาดปี 2566

ขณะเดียวกันปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดจากปี 2564 เครือนันทกรีดำเนินธุรกิจในลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ถึง 80% ทำแบรนด์มุกมังกรเพียง 20% แต่ต่อไปตั้งเป้าทำแบรนด์ตัวเองให้เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2565 จะทำให้แบรนด์มุกมังกรเติบโตจาก 20% เป็น 40% โดยสินค้าส่วนใหญ่จะทำตลาดส่งออก 60% และตลาดภายในประเทศ 40%

“ยอดขายเครือนันทกรีสิ้นปี 2562 มียอดขายประมาณ 500-600 ล้านบาท ขณะที่อัตราการเติบโตย้อนหลัง 5 ปี (2557-2562) เครือนันทกรี มีการเติบโตเฉลี่ย 15-25% ไม่ได้มากเพราะฐานยังน้อยอยู่ แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่ปี 2563 ยอดขายพุ่งขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท เติบโต 100% สิ้นปี 2564 ยังเติบโตขึ้นอีก 30% อยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์เคมีเติบโตเร็วกว่าซัพพลาย ทำให้โรงงานที่มีอยู่ 3 แห่งผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอ”

นายจักรรัตน์กล่าวต่อไปว่า ปี 2562 โรงงาน 3 แห่งใน จ.สมุทรสาคร ใช้กำลังการผลิตเพียง 70% แต่ปี 2563 ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด เพิ่มกำลังการผลิตเต็ม 100% ทำได้ 150,000 ตัน ยังไม่เพียงพอ จึงวางแผนสร้างโรงงานใหม่อีก 3 แห่ง ปี 2563 เริ่มก่อสร้างโรงงานที่ จ.นครปฐม แล้วเสร็จปี 2564 ปีแรกผลิตได้ 30,000 ตัน ปี 2565 ผลิตเพิ่มได้เต็มที่ 60,000 ตัน พร้อมก่อสร้างโรงงานที่ จ.ชลบุรี มีกำลังการผลิต 15,000 ตัน กำลังการผลิตรวม 5 โรงงาน 225,000 ตัน

พร้อมวางแผนก่อสร้างโรงงานที่ จ.ระยองเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดของเครือนันทกรี บนพื้นที่ 40 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมนิคมพัฒนา มูลค่า 550 ล้านบาทกำลังการผลิตรวม 1 แสนตันต่อปี กำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกสร้างปีนี้แล้วเสร็จปี 2566 กำลังการผลิต 50,000-60,000 ตัน ส่วนอีก 2 เฟสจะทยอยสร้าง รวมกำลังการผลิตปุ๋ยทั้งเครือจะเพิ่มเป็น 320,000 กว่าตัน หลังจากโรงงานระยองแล้วเสร็จมีแผนขยายโรงงานสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ได้ที่ดินครบหมดแล้ว

ส่วนโรงงานเก่า 2 แห่งที่ จ.สมุทรสาคร คือ บริษัท นันทกรี จำกัด อ.บ้านแพ้ว และบริษัท กรีนเพาเวอร์พลัส จำกัด อ.เมือง จะเพิ่มไลน์การผลิตแห่งละ 2 ไลน์ รวมเป็น 4 ไลน์ผลิต ลงทุน 300 ล้านบาท รวมถึงมีการขยายไลน์การผลิตในโรงงานที่ จ.นครปฐมอีก 1 ไลน์ ลงทุน 100 ล้านบาท ทั้งหมดเพื่อรองรับการเติบโตของกระแสปุ๋ยอินทรีย์เคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และการที่ปุ๋ยเคมีจะถูกดิสรัปต์ รองรับแม่ปุ๋ยที่มีราคาแพง ปัจจุบันราคาปุ๋ยอินทรีย์เคมีหน้าโรงงานนันทกรีถูกกว่าปุ๋ยเคมี 30-35%

อย่างไรก็ตาม เครือนันทกรียังเข้าไปถือหุ้น 20% ในโรงงานปุ๋ยที่ประเทศจีนอีก 4 แห่ง ได้แก่ ที่เมืองกุ้ยหลิน ซูโจว ชานตง และกว่างโจว รวมกำลังการผลิตเดือนละ 60,000 ตัน ทั้งปีผลิตได้ 720,000 ตัน

ขณะเดียวกันเครือนันทกรีจะลงทุนเรื่องศูนย์วิจัยพัฒนาสินค้า และ food and science lab มูลค่า 100 ล้านบาท ลงทุนเปิดโรงงานสกัดสมุนไพรในเครือนันทกรี 350 ล้านบาท และจะมีการเปิดตัวโรงงานยากำจัดศัตรูพืชอินทรีย์อีก 220 ล้านบาท

ดร.จิตติมา เรืองรัตนากร (วีระนันทนาพันธ์) ผู้บริหารสูงสุด บริษัท นันทกรี จำกัด กล่าวถึงการแตกไลน์ทำโรงงานผลิตยากำจัดศัตรูพืชอินทรีย์ว่า แมลงศัตรูพืชเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร จะป้องกันพืชอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสีย จึงมาคิดค้นวิจัยและพัฒนาทำยากำจัดศัตรูพืชที่มาจากธรรมชาติ โดยตั้งโจทย์ว่า 1.ต้องเป็นออร์แกนิก 2.ไม่มีสารตกค้าง 100% 3.ไม่เป็นอันตรายต่อแมลงและพืช เพื่อช่วยปกป้องพืชจากแมลงต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคกับผลผลิต ตามแผนจะออกผลิตภัณฑ์ยากำจัดศัตรูพืชนี้ภายในปี 2566

ดร.กรีฑา วีระนันทนาพันธ์ ประธานบริษัท นันทกรี จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าแม่ปุ๋ยเคมีปีละ 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีคำถามว่า ไทยพร้อมผลิตได้เองหรือไม่ ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามในการผลิตแม่ปุ๋ยใช้เองตั้งแต่ปี 2518 โดยนำบายโปรดักต์จากการผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้บายโปรดักต์ 2 ตัวคือ แอมโมเนีย และซัลฟุริกแอซิด ซึ่งปุ๋ยไนโตรเจนใช้ 2 ตัวนี้ แต่ผลิตได้ไม่ถึง 3 ปี ก็ล้มเหลว

พอมาครั้งที่ 2 มีการจัดตั้งบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ ตอนนั้นมีโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติที่มาบตาพุด และหวังว่าจะนำมีเทนมาสังเคราะห์ให้ได้แอมโมเนีย แต่แอมโมเนียถูกส่งไปในอุตสาหกรรมพลาสติกหมด เพราะได้ราคาดีกว่า ปุ๋ยแห่งชาติต้องแก้ไขด้วยการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งแพงและล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม การทำเหมืองโพแทชใช้เงินทุนและเทคโนโลยีค่อนข้างสูงมาก และประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม

“ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนปัจจัยการผลิตไปใช้ปุ๋ยอย่างอื่น โดยพึ่งพาปุ๋ยเคมีให้น้อยที่สุด เพื่อลดการนำเข้า ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสีย ผลผลิตตกต่ำลง”