พิจิตรแล้งหนัก แม่น้ำยมแห้งขอด เกษตรนาปรังเร่งหาแหล่งน้ำบรรเทาทุกข์

พิจิตรแล้งหนักแม่น้ำยมแห้งขอดตลอดสาย 126 กม. ข้าวนาปรังตั้งท้องเกษตรเร่งหาแหล่งน้ำใต้ดินบรรเทาความเดือดร้อน

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่จังหวัดพิจิตรเจอสถานการณ์ภัยแล้งส่อเค้ารุนแรงเพิ่มขึ้นหลังจากแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล ปรากฏว่าระดับน้ำในแม่น้ำยมได้ลดลงอย่างรวดเร็ว และแห้งขอดตลอดสาย ระยะทางยาวรวม 126 กิโลเมตร สามารถมองเห็นเกาะแก่ง เนินทราย เนินดิน รวมทั้งมีซากปรักหักพังในท้องน้ำที่แห้ง

นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำยมยังสามารถเดินข้ามแม่น้ำยมไปมาหากันได้ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่โดยเฉพาะตำบลรังนก อำเภอสามง่าม และตำบลวังจิก ตำบลไผ่ท่าโพธิ์ ตำบลโพธ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ต้องหาแหล่งน้ำจากน้ำใต้ดิน ใช้กระแสไฟฟ้า และเครื่องสูบน้ำทางการเกษตรทำการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวนาปรังที่กำลังตั้งท้องออกรวง รวมถึงพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเกษตรกรต้องเร่งเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในการเกษตรตลอดฤดูแล้งนี้

นายสามารถ เดชบุญ เกษตรจังหวัดพิจิตร ได้แจ้งเตือนเกษตรกรว่า ในช่วงฤดูแล้งนี้แหล่งน้ำต่าง ๆ มีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงขอให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกพืชหลังทำนา และเก็บกักสำรองน้ำเพื่อทำการเกษตรให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง เพื่อเป็นการป้องกันผลผลิตเสียหายในอนาคต

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรได้แนะนำและขอความร่วมมือเกษตรกรให้หันมาปลูกพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวที่สั้น และใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตสูง คือการปลูกถั่วเขียวผิวมัน เนื่องจากตลาดมีความต้องการ นอกจากนี้เกษตรจังหวัดพิจิตรยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรังอีกด้วยเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งดังกล่าว