โอกาสธุรกิจเเม่สอด “พัชรินทร์ พัทยาอารยา” YEC ตาก กลับถิ่น…พัฒนาบ้านเกิด

คอลัมน์ NEW Gen 4.0

“หลังจากได้ทุนไปเรียนต่อภาษาที่ประเทศจีน เกิดความคิดอยากกลับมาอยู่แม่สอด อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด และสิ่งที่สำคัญ คือ ผู้สูงอายุ (พ่อ-แม่) ที่ทิ้งไม่ได้ ต้องกลับมาเอ็นเตอร์เทน และสร้างความสุขให้เขา”

นี่คือแนวคิดของ “หนึ่ง-พัชรินทร์ พัทยาอารยา” อดีตประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) คนแรกของ จ.ตาก ดีกรีปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานเป็นผู้สอบบัญชีในบริษัทแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยความมุ่งมั่นจึงได้ทุนไปเรียนต่อภาษาที่ประเทศจีน และกลับมาอยู่บ้านเกิด

โดยในปี 2558 ได้รับเลือกจากหอการค้าจังหวัดตากให้ทำหน้าที่ตำแหน่งประธาน YEC จังหวัดตาก ที่เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนจังหวัด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “พัชรินทร์” ซึ่งเธอเล่าว่า ช่วงแรกที่กลับไปอยู่แม่สอด ได้เข้าไปช่วยทำธุรกิจของครอบครัว คือ ดีลเลอร์นาฬิกาหลากหลายแบรนด์ และเปิดธุรกิจด้านการศึกษา อีกทั้งยังคงไม่ทิ้งความรู้ด้านการบัญชี โดยได้รับเชิญจากสรรพากรให้ไปเป็นผู้ให้คำแนะนำการจัดทำบัญชีแก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษด้านการบัญชีให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สาขาแม่สอด

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) ตาก และกิจกรรมในช่วงที่รับตำแหน่ง “พัชรินทร์” บอกว่า ในช่วงที่ก่อตั้ง YEC แรก ๆ นั้น ประธานหอการค้าและเลขาคนก่อนได้รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งกลับมาอยู่บ้านเกิด ทั้งที่เป็นทายาทธุรกิจ หรือเปิดกิจการใหม่ เข้ามาพูดคุยกันว่า YEC สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร โดยกิจกรรมในช่วงแรกเน้นทำความรู้จักกัน มีการนัดทานข้าวกันทุกเดือน พูดคุยเรื่องธุรกิจ ให้คำปรึกษา และแนะนำซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันได้เชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ๆ เช่น YEC ภาคเหนือได้จัดกิจกรรมที่ จ.พะเยา มีการแข่งกีฬาฟุตบอลและพาไปเที่ยว จึงทำให้รู้ว่าจังหวัดอื่น ๆ ก็มี YEC เหมือนกัน เป็นทายาทนักธุรกิจเหมือนกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน

หลังจากกลับมาก็มาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเชื่อม YEC ทั่วประเทศเข้าหากัน เช่น กิจกรรม milk charity challenge เป็นการท้าดื่มนมให้หมดภายใน 1 นาที และบริจาคเงินให้องค์กรที่สนใจ แล้วท้าต่อไปยังสมาชิกคนอื่นทั้งในและต่างจังหวัดอีก 3 คน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นเกิดการท้าต่อกันตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงภาคใต้ ทำให้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ทำโครงการซีเอสอาร์ร่วมกับหอการค้าจังหวัดตาก ไปบริจาคสิ่งของให้กับพื้นที่ห่างไกล รวมถึงจัดประชุมหอการค้าภาคเหนือที่แม่สอด และพาผู้เข้าร่วมการประชุมไปดูเศรษฐกิจชายแดน

อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรมพาสมาชิก YEC ตาก ไปพบปะกับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC ของเมียนมา หรือ MYEA ทั้ง 3 รัฐ คือ เมาะละแหม่ง ซึ่งเป็นรัฐมอญ ผาอัน รัฐกะเหรี่ยง และพบ MYEA ที่สำนักงานใหญ่ย่างกุ้ง เพื่อแนะนำตัวว่า ประเทศไทยก็มี YEC เช่นกัน โดยเส้นทางที่จัดทริปนั้นเป็นเส้นทางของการขนส่งสินค้าจริง ๆ ระหว่างแม่สอดไปเมียนมา ซึ่งเป็นการผสมผสานการท่องเที่ยวด้วย เช่น แวะสักการะพระธาตุอินทร์แขวน รวมถึงเป็นการสร้างความสนิทสนมระหว่างสมาชิก หลังจากนั้นก็มีการจัดทริปอีกครั้ง พา YEC ที่สนใจไปเมียนมา โดยมีการพูดคุยด้านธุรกิจด้วย

นับจากวันแรกของการก่อตั้ง จนวันนี้เวลาผ่านไปกว่า 4 ปีแล้ว “พัชรินทร์” มองว่า ทิศทางของ YEC ตากนั้น น่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเรื่อย ๆ เนื่องจากในตัวจังหวัดตากและอำเภอแม่สอด ถือว่าเป็นดาวรุ่ง เป็นเมืองชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานใน อ.แม่สอด ค่อนข้างเยอะ ก็จะเป็นโจทย์สำหรับประธานคนใหม่ที่จะต้องกระจายสมาชิกออกไปตามอำเภอต่าง ๆ ให้มากขึ้น

สำหรับมุมมองต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก “พัชรินทร์” กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษตากนั้นตามที่รัฐบาลเขียนแบบมา จะเน้นไปทางอุตสาหกรรมหนักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมองว่ายังไม่ตรงประเด็นซะทีเดียว โดยจุดมุ่งหมายของการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น คืออยากให้คนในพื้นที่ได้ขยับขยาย แต่กลับกลายเป็นนักลงทุนจากพื้นที่อื่นเข้ามาลงทุน แล้วนักลงทุนในพื้นที่ก็สู้ไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วแม่สอดเป็นเมืองเทรดดิ้ง พาณิชยกรรม ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม จึงมองว่าสิ่งที่ควรสนับสนุนคือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ ภาคการเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตร

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของการลงทุนในแม่สอดวันนี้พบว่า คอนโดมิเนียมที่มีนักลงทุนทั้งในพื้นที่และต่างถิ่นเข้ามาลงทุนในช่วงแรก ๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นโรงแรมแล้ว บางส่วนหลุดจอง บางส่วนเลิกกิจการไปแล้ว และเริ่มเห็นแนวโน้มคนจีนข้ามฝั่งจากไทยไปลงทุนที่เมียนมามากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อนั้นขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม เนื่องจากแม่สอดเป็นเมืองพาณิชยกรรม ส่วนพื้นที่รอบ ๆ นั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นถ้าราคาสินค้าเกษตรดี กำลังซื้อก็จะดีด้วย

ส่วนด้านค้าปลีกค้าส่งขณะนี้ยังคงคึกคัก ส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงมีห้างโรบินสันเข้ามาเปิด ทำให้คนไทยและเมียนมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้นยังดี มีชาวเมียนมาเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ล่าสุดมีเที่ยวบินแม่สอด-ย่างกุ้งแล้ว

นอกจากนั้นการลงทุนโรงแรมขนาดเล็กก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังจะมีทุนท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เตรียมลงทุนโรงแรมขนาดใหญ่ 4 ดาว ใจกลางเมือง ขณะเดียวกันก็มีนักธุรกิจจากแม่สอดได้ขยับขยายเข้าไปลงทุนสร้างโรงงาน หรือเปิดร้านในฝั่งเมียนมาเช่นกัน

ตอนนี้ภาครัฐก็กำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างและขยายถนนระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร และพัฒนาสนามบินทั้งการขยายรันเวย์และสร้างอาคาร น่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีสายการบินอื่น ๆ เข้ามาทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างแม่สอด-ย่างกุ้ง ซึ่งกลุ่มหลักคือนักธุรกิจ


นั่นคือโอกาสของเมืองเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด ในสายตาของนักธุรกิจรุ่นใหม่ “พัชรินทร์”