ตลาดพลอย 3 หมื่นล้านฟื้น 50% ผู้ค้าจันทบุรีคาด 3 ปีผงาดเบอร์ 1 เอเชีย

พลอยเมืองจันท์

สมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ จันทบุรี เผยตลาดอัญมณีไทย 3 หมื่นล้าน เริ่มกระเตื้องฟื้นกลับมา 50% หลังหดตัวลงช่วงโควิด-19 ต่ำสุดกว่า 70% คาด 3-5 ปีผงาดเบอร์ 1 เอเชีย แต่ต้องรอคู่ค้าหลัก “จีน” เปิดประเทศ

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของตลาดการค้าพลอยช่วงปกติก่อนเกิดโควิด-19 เฉลี่ยรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี แต่พอเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ยอดการค้าถดถอยลงมามาก

ช่วงต่ำสุดติดลบถึง 70% แม้ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มขยับตัวขึ้นมาเล็กน้อยประมาณ 50% แต่มูลค่ายังห่างจากระดับเดิมในสถานการณ์ปกติอยู่มาก

“ประเทศไทยเป็น Global Champion ของตลาดเครื่องประดับและอัญมณี เราคาดหวังการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ต้องรอให้จีนเปิดประเทศให้ได้ก่อนเช่นเดียวกันกับทุกธุรกิจ เพราะจีนถือเป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทย

“ขณะเดียวกัน ทิศทางในอนาคตเราคงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง ต่อยอดการทำเครื่องประดับเป็นหลัก อาจต้องสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มเติม เพื่อคงธุรกิจนี้ไว้ให้เป็นแชมเปี้ยนของโลก ไม่มีที่ไหนผลิตอัญมณีได้ดีเท่ากับประเทศไทยอีกแล้ว

“โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ตลาดอัญมณีถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของจังหวัด เป็นธุรกิจที่ดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนาน มีผู้ประกอบการและช่างฝีมือที่มีความสามารถเจียระไนอยู่เป็นจำนวนมาก”

สำหรับสินค้าอัญมณีแบ่งเป็นสินค้าที่นำมาทำเครื่องประดับ กลุ่มลูกค้าหลักอยู่ภายในประเทศไทย โดยเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ แหวน ส่วนสินค้าที่เป็นอัญมณีเกือบทั้งหมดถูกส่งออกไปต่างประเทศ ตลาดหลักส่วนใหญ่ คือ ประเทศจีน รองลงมาเป็นประเทศฝั่งยุโรป มีสัดส่วนทางการตลาดไม่ห่างกันมากนัก

สไตล์การออกแบบของสินค้าที่ส่งไปในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่เอกลักษณ์ของอัญมณีจากประเทศไทยขึ้นชื่อด้านความประณีตและความเป็นมืออาชีพสูง ราคามีตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหลายล้านบาท เช่น พลอย ทับทิม จากโมซัมบิก 5 กะรัต 60 ล้านบาท และมีมูลค่าสูงขึ้นไปตามขนาด ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศยังมีกำลังซื้อสูง

นายชายพงษ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่สุดของวงการนี้ คือ วัตถุดิบ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าสัดส่วนมากกว่า 90% หรือเกือบ 100% มาจากแอฟริกาเป็นหลัก ฉะนั้น ไม่อยากให้รัฐบาลไทยละเลยธุรกิจนี้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องขอให้ภาครัฐสนับสนุน เร่งสร้างความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ด้านการนำเข้า

ทั้งนี้ ตลาดอัญมณีของประเทศไทยเรียกได้ว่าอยู่ในระดับกลาง โดดเด่นเรื่องพลอยเนื้อแข็งแต่ยังสู้ตลาดระดับไฮเอนด์อย่างในประเทศอิตาลีไม่ได้

ฉะนั้น การจัดงานมหกรรมส่งเสริมหรือกิจกรรมกระตุ้นตลาดจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางของอัญมณีไม่ว่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีหรือในกรุงเทพฯ ถึงสถานการณ์ในแต่ละปีจะดีหรือไม่ ตลาดจะขยายตัวหรือหดตัว มาจากปัจจัยภายนอกควบคุมไม่ได้ ประเทศไทยต้องครองตำแหน่งในใจของลูกค้าเอาไว้ให้ได้อย่างเหนียวแน่น

รายงานข่าวจากศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรระบุมูลค่าการส่งออกสินค้าพลอยไปยังตลาดส่งออกหลัก 15 ประเทศตั้งแต่ปี 2562 มีมูลค่ารวม 44,783.54 ล้านบาท ปี 2563 มูลค่ารวม 16,835.74 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่ารวม 21,789.43 ล้านบาท

โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดส่งออกพลอยหลัก 15 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลี, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, จีน, สหราชอาณาจักร, ศรีลังกา, สิงคโปร์, เยอรมนี, เบลเยียม, อิสราเอล และรัสเซีย