“จุดความร้อน” ภาคเหนือพุ่ง ขยายปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุหลักของฝุ่น ควัน ไฟป่า ส่วนใหญ่เป็นที่ทราบกันดีว่ามาจากการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ยิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีข้อน่าสังเกตตั้งแต่ปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพดอาหารสัตว์ ราคา 12.78 บาท/กก. จูงใจให้เกษตรกรทั้งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หันมาขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น

แห่เผา-ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สอดคล้องกับ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี 2565 พบว่าการขยายตัวพืชเชิงเดี่ยวสูงมากในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอ้อยและข้าวโพดเพราะราคาสูง ซึ่งต้นตอของปัญหามีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เชื่อมโยงหลายกระทรวง และเลื่อนไหลไร้พรมแดน การตั้งคณะกรรมการและมาไล่ดับไฟแบบเฉพาะหน้านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจน มีแผนและนโยบายในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มีความรู้ มีกลไกและงบประมาณที่ต่อเนื่อง

โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่มีข้อเสนอที่สำคัญ คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่ชัดเจน ได้แก่ การมีแผนเชิงรุกในการแก้ปัญหาฝุ่นควันในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน การลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ข้าวโพด อ้อย มาเป็นการผลิตที่ยั่งยืน ลดการเผา การมีที่ดินที่มั่นคงของชุมชนที่รัฐประกาศพื้นที่ป่าทับชุมชนและให้สิทธิชุมชนในการดูแลป่าร่วมกับรัฐ

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ให้ชุมชนมีความพร้อม มีส่วนร่วมในการดูแลป่าและฝุ่นควัน ที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจการบริหารจัดการไฟและฝุ่นควันมาให้ชุมชน องค์กรบริหารท้องถิ่นและจังหวัดให้สามารถแก้ปัญหาได้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่

นอกจากนั้นคือ การเร่งส่งเสริมใช้พลังงานสะอาดในการคมนาคมขนส่ง โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชน ต้องมีเครื่องวัดคุณภาพอากาศทุกตำบล มีแมสก์ที่มีคุณภาพ มี safe zone สำหรับผู้เปราะบาง ตลอดจนการเยียวยา และสุดท้ายคือ การมีกฎหมายบริหารจัดการอากาศสะอาดที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมีความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของกรีนพีซ ที่ทำร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ ในประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในจำนวนนี้ราว 5.1 ล้านไร่ อยู่ในประเทศลาวตอนบน ร

องลงมาคือ รัฐฉานของเมียนมา 2.9 ล้านไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย 2.5 ล้านไร่ และพบว่าราว 2 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ป่า และราว 1 ใน 3 ของจุดความร้อนพบในพื้นที่ปลูกข้าวโพด

สอดคล้องกับเอกสารของทางการ สปป.ลาว ระบุชัดเจนว่า “การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ” ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และยุทธศาสตร์ปี 2568 ของรัฐบาลและวิสัยทัศน์ปี 2573 เพื่อพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและป่าไม้

17 จว.เหนือจุดความร้อนพุ่ง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2565 ข้อมูลจากกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ระบุว่า พบจุดความร้อน (hot spot) สะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 622 จุด แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 108 จุด เขต ส.ป.ก. 38 จุด ป่าสงวนฯ 325 จุด พื้นที่การเกษตร 123 จุด พื้นที่ริมทาง 1 จุด และอื่น ๆ 27 จุด โดยพบมากที่ จ.แม่ฮ่องสอน ถึง 209 จุด

หากย้อนกลับไปดูรายงานการเกิด “จุดความร้อน” สะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ของกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64-15 เม.ย. 65 พบว่าสูงถึง 23,923 จุด

เมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดระหว่างวันที่ 1-14 เม.ย. 65 พบว่า ในพื้นที่ 12 จังหวัดเริ่มมีค่าจุดความร้อนสะสมมากกว่าปี 2564 ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ มีค่าจุดความร้อนสะสม 155 จุด สูงกว่าปี 2564 (85) 70 จุด, จ.แพร่ มีค่าจุดความร้อนสะสม 194 จุด สูงกว่าปี 2564 (156) 38 จุด

จ.แม่ฮ่องสอน มีค่าจุดความร้อนสะสม 1,118 จุด สูงกว่าปี 2564 (418) 700 จุด, จ.กำแพงเพชร มีค่าจุดความร้อนสะสม 127 จุด สูงกว่าปี 2564 (64) 63 จุด, จ.ตาก มีค่าจุดความร้อนสะสม 278 จุด สูงกว่าปี 2564 (55) 223 จุด, จ.นครสวรรค์ มีค่าจุดความร้อนสะสม 109 จุด สูงกว่าปี 2564 (61) 48 จุด

จ.พิจิตร มีค่าจุดความร้อนสะสม 112 จุด สูงกว่าปี 2564 (49) 63 จุด, จ.พิษณุโลก มีค่าจุดความร้อนสะสม 170 จุด สูงกว่าปี 2564 (78) 92 จุด, จ.ลำพูน มีค่าจุดความร้อนสะสม 44 จุด สูงกว่าปี 2564 (25) 19 จุด, จ.สุโขทัย มีค่าจุดความร้อนสะสม 130 จุด สูงกว่าปี 2564 (46) 84 จุด, จ.อุตรดิตถ์ มีค่าจุดความร้อนสะสม 140 จุด สูงกว่าปี 2564 (136) 4 จุด และ จ.อุทัยธานี มีค่าจุดความร้อนสะสม 32 จุด สูงกว่าปี 2564 (18) 14 จุด

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือที่มีค่าจุดความร้อนสูง ล้วนเป็นแหล่งที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี เพชรบูรณ์ เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของประเทศ

โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา รวม 258,818 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 211,431 ตัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 8.5 ล้านตัน/ปี แต่ไทยสามารถผลิตได้เพียง 4.8 ล้านตัน

ลาว-เมียนมามลพิษข้ามแดน

ค่าจุดความร้อนที่พุ่งขึ้นสูง ไม่ได้มาจากเกษตรกรภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทุกปีเกิดจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตรอย่างหนักหน่วงของเกษตรกรใน สปป.ลาว และเมียนมา จนทำให้มลพิษล่องลอยข้ามแดนมาอย่างต่อเนื่อง

ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจว่าปริมาณฝุ่นควันมีผลกระทบต่อแอ่งเชียงใหม่ ในบางปีเกิดจากฝุ่นควันข้ามแดนถึง 50% โดยใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์สำรวจการเคลื่อนที่มลพิษทางอากาศจากจุดความร้อน (hot spot) ที่สอดรับกับงานวิจัยประเมินมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนปี 2562 ซึ่งเทียบในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือกับเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ จากสถิติของระบบ FIRMS ของ NASA พบว่าจุดความร้อนในช่วงต้นปีของ สปป.ลาว ในระยะ 3 เดือนมีประมาณ 40,000 จุด ขณะที่ช่วงครึ่งเดือนของเมษายน เกิดจุดความร้อนมากถึง 50,000 จุด หรือวันละ 8,000-10,000 จุด โดยเฉพาะพื้นที่ตอนเหนือของ สปป.ลาว เพื่อขยายพื้นที่เกษตรเตรียมแปลงบนที่สูง

ขณะที่ด้านตะวันตกของเมียนมา สถิติ hot spot จากดาวเทียมระบบ VIIRS และดาวเทียม Suomi-NPP พบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 15 เมษายน 2565 มีจุดความร้อน 195,920 จุด สปป.ลาว 94,931 จุด กัมพูชา 80,964 จุด และไทยมีจุดความร้อนน้อยที่สุด คือเพียง 41,622 จุด แน่นอนที่ฝุ่นควันข้ามแดนจากเมียนมา และ สปป.ลาว ส่งผลกระทบชัดเจนต่อจังหวัดภาคเหนือ

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาฝุ่น ควันพิษในพื้นที่ ทุกหน่วยงานออกแนวทางการแก้ไขมาในรูปแบบเดิม คือ การแก้ไขปัญหา “เฉพาะหน้าและขึงขังเฉพาะกิจ” ตอกย้ำปัญหามลพิษฝุ่นควันที่กลบทับภาคเหนือของไทยมาตลอด 2 ทศวรรษที่ยาวนาน และไม่มีปีไหนที่จะเจือจางลง ปัญหาวนหมุนซ้ำ ๆ ประชาชนยังถูกรมควันพิษสะสมให้เกิดโรคทางเดินหายใจและสุขภาพองค์รวม ปี 2565 ตอกย้ำอีกปี

แม้ว่าในปีนี้เริ่มเห็นภาพการเอาใจใส่การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ภายในประเทศไทยเข้มข้นสูง เริ่มเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมแบบหลวม ๆ ของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคการเมือง ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ทหาร ต่างให้ความสำคัญ แต่ทว่าการแก้ไขปัญหาอีกจุดหนึ่งกลับไปโป่งอีกจุดหนึ่ง กลับกลายว่าวิกฤตปัญหาในปีนี้ไปตกที่ฝุ่นควันข้ามแดน และตรงรอบตกจังหวะกับเกษตรพันธสัญญาพืชเชิงเดี่ยวที่ราคาดี ทำให้พื้นที่การเผาในประเทศเพื่อนบ้านพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่มีกลไกข้ามพรมแดนที่เป็นรูปธรรมยังไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้เกาะติดและผลักดันอย่างใกล้ชิด ทำให้ปัญหานี้ยังวนเวียนซ้ำซากเช่นเดิม

จนล่าสุดเมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 “เชียงใหม่” ได้มีชื่อติดอันดับหนึ่งในเว็บไซต์ระดับโลก IQAir ติดต่อเนื่องกันหลายวันว่า เป็นจังหวัดที่มีฝุ่น PM 2.5 ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ เป็นการจัดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ ด้วยค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ค่าฝุ่นอยู่ที่ 176 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่อาจนิ่งนอนใจ และหวังว่าปัญหาทั้งมวลจะได้รับการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูกไปอีกปี