เมืองคอน-กนอ. เล็งใช้ที่ดินกยท.ช้างกลาง ตั้งนิคมอุตสาหกรรม

นครศรีธรรมราช เลือกใช้ที่ดินการยางแห่งประเทศไทย อำเภอช้างกลาง ศึกษาความเป็นไปได้ตั้งนิคมอุตสาหกรรม คาดใช้เวลาเก็บข้อมูล รับฟังความเห็นให้รอบด้าน 1 ปี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และพัฒนา) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. และคณะ ได้ประชุมหารือแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคณะทำงานการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัด ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม ซึ่งในเบื้องต้นที่ดินที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมคือที่ดินราชพัสดุของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พื้นที่ ต.ช้างกลาง และ ต.หลักช้าง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช

ส่วนแนวคิดในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ เป็นต้น โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด พื้นที่ประมาณ 4,972 ไร่ ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จากพื้นที่ทั้งหมด 10,200 ไร่

ทั้งนี้เคยมีการดำเนินการมาแล้วแต่ได้หยุดชะงัก และครั้งนี้เป็นการนำข้อมูลเดิมมาทบทวนใหม่ โดยมองถึงศักยภาพหลักคือทำอย่างไรที่จะเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะยางพารามาเพิ่มมูลค่า โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการในพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในโซนพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และพัฒนา) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทหลักของการนิคมคือช่วยส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน จึงได้ลงมาศึกษาในพื้นที่เบื้องต้น และต้องเก็บรวบรวมรายละเอียดที่จะศึกษาอีกหลายด้าน และจะต้องรับฟังความคิดเห็นความต้องการของจังหวัด และมีการประชุมร่วมกันอีกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ รวมทั้งเป็นแนวทางไหนที่เหมาะสมที่สุดกับพื้นที่โดยอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ต้องเอื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน รวมถึงการได้มาของที่ดิน รูปแบบธุรกิจหลัก ๆ ที่จะอยู่ในนิคม แหล่งน้ำ ทางน้ำไหล ความลาดเอียงของพื้นที่ เป็นต้น คาดว่าเร็วที่สุดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี


“ภาคประชาชนที่ให้ความสนใจเข้ามารับฟังตั้งแต่แรกเริ่มถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้ทางจังหวัดไปพูดคุย สร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้น และอยากให้รับฟังความคิดเห็นมาด้วยว่าประชาชนต้องการอะไร เพื่อออกแบบนิคมให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนและเศรษฐกิจของชุมชน ในลักษณะของประชารัฐ” นางสุวัฒนากล่าว