เงินเฟ้อกดดันเศรษฐกิจ Q 1/65 ภาคเหนือ กำลังซื้ออ่อน-ใช้จ่ายหดตัว

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อกดดันเศรษฐกิจ Q 1/65 ภาคเหนือ ราคาสินค้าพุ่ง-กำลังซื้ออ่อน-ใช้จ่ายหดตัว

วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ในช่วงไตรมาส 1/2565 แม้จะเริ่มผ่อนคลายดีขึ้นจากมาตรการควบคุมโรค

เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลกระทบน้อยกว่าระลอกก่อน แต่รายได้ครัวเรือนและตลาดแรงงานในภาคเหนือยังคงเปราะบาง และฟื้นตัวแบบ K-Shape ด้วย เพราะปัจจัยภาวะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 4.86% จากราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้หมวดสินค้าในชีวิตประจำวันยังคงหดตัว จากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นและกำลังซื้อกลุ่มฐานรากยังอ่อนแอ โดยแนวโน้มการบริโภคคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นไปตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ โดยราคาที่สูงขึ้นยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง ไม่กระจายสู่สินค้าหมวดอื่นมากนัก และคาดว่าจะทยอยกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 ขณะเดียวกัน ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้น

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดไม่รุนแรงในระลอกนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2565 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น จากที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความมั่นใจเดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้น

สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและจำนวนรถยนต์ที่ผ่านเส้นทางหลวงหลักเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราเข้าพักที่ปรับตัวดีขึ้น ด้านธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาเปิดกิจการมากขึ้น และแนวโน้มคาดว่ายังคงมีความต้องการสินค้า(pent up demand และจะฟื้นตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี

ด้านรายได้ภาคเกษตรขยายตัวและเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภค ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากอ้อยโรงงาน ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ลำไย เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาหดตัวจากราคาข้าวตามปริมาณที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มคาดว่ารายได้เกษตรจะขยายตัว จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่สูงกว่าปีก่อน

ขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยและน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบรายได้เกษตรกรบางส่วน ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารตามวัตถุดิบภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว ตามความต้องการจากประเทศคู่ค้ามีต่อเนื่อง และปัญหาการขนส่งทุเลาลง

ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว ยกเว้นกลุ่มเครื่องประดับที่อุปสงค์ต่างประเทศอาจลดลง การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมส่งออก และการลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้น ด้านแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว เพราะมีความต้องการซื้อต่อเนื่องและสถาบันการเงินเริ่มกลับมาสนับสนุนสินเชื่อ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการบริโภคและการท่องเที่ยว

แต่การกระจายวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต่อเนื่องช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น และพฤติกรรมของประชาชนที่สามารถปรับตัวอยู่กับ COVID-19 ได้ดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อไป