สวนโอดเปิดฤดูกรีดปุ๋ยแพง งดใส่ลดต้นทุนทำน้ำยางลด

น้ำยาง

ชาวสวนยางพาราโอด เปิดฤดูกาลกรีดยาง พฤษภาคม-มิถุนายน ราคาปุ๋ยพุ่ง 1,400-1,600 บาทต่อกระสอบ เกษตรกรลดการใส่ปุ๋ยลง หวั่นกระทบปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดลดฮวบ

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.สาขานาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เริ่มเปิดหน้ากรีดยางพาราในฤดูกาลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มิถุนายน 2565 แต่ต้องประสบปัญหาใหญ่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง

ทำให้สินค้าอื่น ๆ ขยับขึ้นตาม โดยเฉพาะปุ๋ยที่เป็นสิ่งจำเป็นปรับราคาขึ้นทุกตัว ยกตัวอย่างขนาด 50 กก. จากเดิมราคา 900 กว่าบาท/กระสอบ ขยับเป็นเฉลี่ย 1,400-1,500 บาท/กระสอบ ส่งผลต่อชาวสวนยางพาราที่ไม่มีกำลังซื้ออาจจะไม่ใส่ปุ๋ยให้ต้นยางพารา จะส่งผลกระทบทำให้น้ำยางสดหดหายไปปริมาณมากในฤดูกาลเปิดหน้ากรีดนี้

แม้ว่าตอนนี้ภาวะราคาน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ที่ 63-65 บาท/กก. แต่ต้นทุนการผลิตโดยรวมที่สูงขึ้นมาก ทำให้เป็นภาระที่หนัก อย่างไรก็ตาม ภาพรวมน้ำยางสดตอนนี้น่าจะออกมาสู่ตลาดโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) และกรรมการสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ปริมาณน้ำยางสดจะขาดหายไปจากตลาดในระดับหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงมาก โดยเฉพาะปุ๋ย ราคา 1,500-1,600 บาท/กระสอบ น้ำกรด สารเคมีทุกตัวที่ใช้ในการแปรรูปยางดิบยางรมควันขยับขึ้นทั้งหมด โดยขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2564

ซึ่งการที่สวนยางพาราลดปริมาณการใส่ปุ๋ยลง จะส่งผลให้ยางพาราหายไป ขณะที่การแปรรูปยางดิบ ยางแผ่นยางรมควัน แปรรูปตอนนี้ทำได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จาก 200 โรงรมยางทั่วพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากราคาน้ำยางสดกับยางรมควันมีระยะห่างกันมาก โดยน้ำยางสดราคา 63 บาท/กก. ยางรมควัน 68 บาท/กก. ห่างกัน 5 บาท โรงรมควันจะไม่คุ้มทุน ต้องระยะห่าง 6 บาทจึงจะคุ้มทุน

นอกจากนี้ ชาวสวนบางส่วนได้โค่นยางพาราหันไปปลูกพืชอย่างอื่นผสม เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน กระท่อม ปศุสัตว์ ประมง เพราะต่อไปชาวสวนจะพึ่งพารายได้จากยางพาราเป็นอาชีพหลักไม่ได้อีกแล้ว เพราะจากสถานการณ์ผันแปร จึงจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยง ซึ่ง วคยถ.ได้ให้การสนับสนุนมา 4 ปีแล้ว ได้แก่ 1.กลุ่มรับซื้อน้ำยางสดนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบและยางรมควัน 2.กลุ่มแปรรูปยางพาราและเลี้ยงสัตว์ และ 3.กลุ่มแปลงยางพาราขนาดใหญ่บริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มสวนยางพารา

แหล่งข่าวจากวงการยางพารา เปิดเผยว่า การปรับลดการใส่ปุ๋ยจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำยางสดที่ลดลง เช่น จาก 30-32-35 เปอร์เซ็นต์ จะหดตัวมาเหลือ 25-29 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ การใส่ปุ๋ยในสวนยางพาราจะใส่ 2 ครั้ง/ปี จะใช้ปุ๋ยขนาด 50 กก./ไร่ จำนวน 2 กระสอบ ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 3,000 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ถ้ามีการบำรุงต้นยางพาราใส่ปุ๋ยที่ได้มาตรฐานจะมีอายุกรีดได้ประมาณ 30-35 ปี แต่ถ้าไม่ได้ใส่ปุ๋ยบำรุงและดูแลที่ดี อายุจะเหลือประมาณ 15-20 ปี คุณภาพทรุดโทรมเตรียมโค่นปลูกต้นใหม่ทดแทนได้