ททท.จันท์ชูบุฟเฟต์ผลไม้ อัดโปรฯ-อีเวนต์เที่ยวตลอดปี

เสาวนีย์ คนกล้า ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจันทบุรี

“การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี ถัดจากภาคการเกษตรและธุรกิจพลอย” เป็นคำกล่าวของ “นางสาวเสาวนีย์ คนกล้า” ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจันทบุรี ที่ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีความสำคัญและสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับคนในจังหวัดได้ทุกชุมชนจนถึงระดับฐานราก เพราะเป็นตัวเดียวที่สามารถเข้าไปในทุกมิติ

ไฮซีซั่นผลไม้ เม.ย.-ก.ค.

“เสาวนีย์” เล่าว่า ไฮซีซั่นจังหวัดจันทบุรีอยู่ในช่วงเดือนเมษายนที่ผลไม้เริ่มออกผลไปจนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ในช่วง 2 ปีแรกที่เกิดโควิด-19 ระบาด สถานการณ์ไม่ดี นักท่องเที่ยวหายไปหมด อัตราการเข้าพักเป็นศูนย์ ผู้คนเดินทางเพียงเล็กน้อย เพราะมาตรการควบคุมโรคเข้มงวด

สอดคล้องไปตามประกาศของ ศบค. กระทั่งมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์จึงค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งตอนนี้จันทบุรีได้นำเสนอส่วนกลางขอเป็นพื้นที่บลูโซนทั้งจังหวัดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดประเทศแล้ว โดยมาตรฐานโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ต่างมีความพร้อมมากสำหรับรับนักท่องเที่ยวเต็มที่

สำหรับนักท่องเที่ยวของจันทบุรีเป็นคนไทยกว่า 90% ระยะเวลาเที่ยวและพักเฉลี่ย 1.7 วัน ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเกือบ 50% ถัดมาคือคนในภาคตะวันออกด้วยกันประมาณ 30% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น กรุ๊ปทัวร์จากนครราชสีมา บุรีรัมย์ ตามลำดับ มาเที่ยว 1 คนใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท/ครั้ง

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนอยู่เพียง 10% จะมาจากกัมพูชาเป็นส่วนมาก โดยเดินทางเข้ามาผ่านด่านทางบกแบบส่วนตัวหรือรถตู้ วี.ไอ.พี. แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่มาเช้ากลับเย็น 2.อยู่หลายวัน มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนพร้อมจับจ่ายซื้อของค่อนข้างมาก 1 คน/ทริป ใช้จ่ายเงินนับแสนบาท ส่วนต่างชาติอื่น ๆ อย่างยุโรปยังมีไม่มากนัก

ปี’65 ตั้งเป้านักท่องเที่ยวเพิ่ม 5%

“ปี 2564 จันทบุรีมีผู้เข้าพักประมาณ 5 แสนกว่าคน มีแบบไปเช้ากลับเย็น ประมาณ 7 แสนกว่าคน มีรายได้รวม 2,064 ล้านบาท ปี 2565 ททท.จันทบุรีตั้งเป้าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2-5% เทียบจากปีที่ผ่านมา โดยมองไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยไปเที่ยวจังหวัดหลัก และเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ในเมืองรองซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน เช่น นักท่องเที่ยวรัสเซียจากพัทยา นักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลี ญี่ปุ่นบางส่วน

โดยจะพยายามเปิดตลาดรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ต้องการความสะอาด ปลอดภัย พักระยะยาวและไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ เพราะยังรองรับได้ไม่เต็มที่ เน้นเฉพาะกลุ่มไม่เน้นปริมาณ ด้วยการนำเสนออะไรใหม่ ๆ ที่กระตุ้นความต้องการอย่างเรื่องผลไม้ ซึ่งตอนนี้ทำการตลาดเปิดสวนทุเรียน Metaverse ให้เที่ยวออนไลน์ไปแล้ว”

“เสาวนีย์” บอกว่า ตอนเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวอาจจะหายไปบ้างแต่ตอนนี้เริ่มกลับเข้ามาแล้วบางส่วน และไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ เหมือนผู้คนเริ่มปรับตัวเข้าใจโควิด-19 มากขึ้น เห็นแนวโน้มดีขึ้นและมีโอกาสทำให้จันทบุรีเติบโตด้านการท่องเที่ยวด้วยหลายปัจจัย ความพร้อมของจังหวัด เรื่องความปลอดภัย สถานประกอบการได้มาตรฐาน พร้อมศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี ที่จะเปิดในวันที่ 26 พ.ค. 2565 นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งคือสถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีโปรดักต์เด่นคือพลอย อัญมณี และสวนผลไม้มีหลากหลายสายพันธุ์

เปิด 16 สวนบุฟเฟต์ทุเรียน

โดยการเที่ยวสวนผลไม้ในแต่ละปีจะเปิดรับนักท่องเที่ยวไม่เหมือนกัน ด้วยข้อจำกัดทางด้านบุคลากร เพราะบางสวนเก็บผลผลิตส่งล้งด้วย สำหรับปี 2565 มีสวนผลไม้ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวน 16 สวน ขาย 2 แบบคือ 1.ขายราคาตลาด 2.ขายบุฟเฟต์ ราคาประมาณ 650-700 บาท/คน ขึ้นอยู่กับคุณภาพและจุดขายของแต่ละสวน บางสวนสามารถเข้าไปท่องเที่ยว เรียนรู้ และซื้อผลไม้กลับไปทานที่บ้านได้ อย่างทุเรียนถือว่าเป็นไฮไลต์ของจังหวัด สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดนอกเหนือจากหมอนทอง คือพวงมณี และเริ่มมีพันธุ์มูซังคิง นกหยิบ หลินลับแล หลงลับแล รวมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ อีกมาก

อัดอีเวนต์ “สมุนไพร” กลางปี

หลังจากนี้เมื่อผ่านฤดูการท่องเที่ยวสวนผลไม้จะเป็นไฮซีซั่นของภาคเหนือ แต่จันทบุรีเตรียมดึงนักท่องเที่ยวต่อหรือนำเสนอให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้วยการนำเสนอภูเขา น้ำตก แคมปิ้งรวมถึงอาหารการกิน วางเป้าหมายเป็นกลุ่มครอบครัวที่สามารถขับรถเดินทางมาได้ตลอด ส่งเสริมการขายโรงแรม ทำโปรโมชั่นให้คูปอง 500 บาท เมื่อเข้าพักสามารถรับส่วนลดนำไปใช้กับร้านอาหาร ของฝาก สวนผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการเกือบทั้งหมด 40-50 ราย

และครึ่งปีหลังจากนี้จะวางแผนกระตุ้นด้วยการจัดอีเวนต์ โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ต่อยอดในเครือข่ายของการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายไปจนถึงปีหน้าด้วยการมุ่งเน้นเรื่องอาหาร นำสมุนไพรมาเป็นจุดขายหลัก รวมกับเมนูหากินง่าย สร้างกระแสการบริโภคให้กับนักท่องเที่ยวกับวิธีการรับประทานอาหารให้สุขภาพดี เช่น กินทุเรียนอย่างไรให้ผอม

ตอนนี้ ททท.เน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตร ชูศักยภาพเรื่องอาหาร สาธารณสุขกำลังดำเนินการเรื่องนี้และเราเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์ในอนาคต เมื่อไหร่ที่เป็น Gastronomy Creative City มีเรื่องราว แหล่งท่องเที่ยวจะตามมา เราอยากให้เป็นเหมือน 1 ใน 5 ของประเทศ ที่ตอนนี้มีเพชรบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย และกรุงเทพมหานคร และจันทบุรีขอเป็นจังหวัดที่ 6 ซึ่งทำได้เพราะมีเรื่องราว 4 เชื้อชาติของกลุ่มชุมชนในจันทบุรีผ่านเมนูเด็ด เช่น น้ำพริกกะทิ มีโครงการอาหารเป็นยา เช่น กระวาน พริกไทย ชะมวง ระกำ ฯลฯ

“เมื่อนักท่องเที่ยวทานอาหารที่เมืองจันท์ เราอยากให้รู้ว่าอาหาร 1 จานมาจากไหน สามารถสื่อถึงที่มาได้ ไม่ใช่เพียงท่องเที่ยวฉาบฉวยเหมือนที่ผ่านมา เราอยากกระตุ้นความต้องการด้านท่องเที่ยวให้เปลี่ยนไปจากเดิม ใช้เรื่องราวหลัก ๆ โดยจันทบุรีมีอาหารรสร้อน รสเย็น เป็นประโยชน์ต่อรางกาย เพื่อต่อยอดไปถึงอีเวนต์และมาร์เก็ตติ้ง เป้าหมายแรกอยู่ในกลุ่มเจน Y ที่ตระหนักเรื่องสุขภาพเป็นหลัก หลังจากนั้นกลุ่ม Silver Age หรือกลุ่มผู้สูงอายุจะตามมา กลุ่มนี้ไม่มีข้อจำกัดเวลาในการเดินทาง จ่ายหนัก ซื้อของเยอะ เราเดาทางไว้แบบนั้น”

จุดหมายห้องนั่งเล่นแห่งบูรพา

นอกจากนี้ “เสาวนีย์” ยังกล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจโรงแรมที่รองรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดว่า เริ่มมีการลงทุนสร้างโรงแรมขนาดกลางมากขึ้นในตัวเมือง โดยเฉพาะบูติคโฮเต็ล (boutique hotel) ขนาดไม่เกิน 100 ห้อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนในพื้นที่ ไม่มีเชนใหญ่จากกรุงเทพฯ แต่ราคาที่ดินค่อนข้างสูง ถนนเริ่มขยาย ผู้คนเริ่มกระจายตัวออกนอกเมืองมากขึ้น โซนที่นักท่องเที่ยวนิยมพักมากที่สุดคือหาดเจ้าหลาว ติดริมทะเล

ปัจจุบันในจังหวัดจันทบุรีมีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องประมาณ 8,000 กว่าห้อง รวมกับที่ไม่ได้จดทะเบียนแล้วนับหมื่นห้อง ส่วนใหญ่เป็นระดับ 3-4 ดาว 5 ดาวมีเพียง 2-3 แห่ง


“เราวางตำแหน่งของจังหวัดไว้ให้เป็นลิฟวิ่งรูม ไม่ได้ต้องการให้เป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เป็นเมืองพักผ่อนเสมือนห้องนั่งเล่นแห่งบูรพา มีความเรียบง่าย เป็นเวลเนส มีโรงพยาบาลรองรับค่อนข้างมาก เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่”