ทุนภูธรแห่ตั้งบริษัทพัฒนาเมือง ประเดิมลงขัน”รถไฟฟ้ารางเบา”

พัฒนาเมืองโมเดลใหม่ฮิต นักธุรกิจ 12 จังหวัดแห่ตั้งบริษัทพัฒนาเมือง ล่าสุด 4 จังหวัด “ตาก-อุดรธานี-กระบี่-สุราษฎร์ฯ” จ่อจดทะเบียนเพิ่ม ชี้ “ขอนแก่น” เวิร์กสุด เปิดยื่นซองประมูลสร้างรถไฟฟ้ารางเบา 1.3 หมื่นล้าน ก้าวขึ้น “สมาร์ทซิตี้” “สระบุรี” วาดแผนเป็นศูนย์กลางขนส่ง “เชียงใหม่-สุโขทัย” ลุยสมาร์ทบัส ส่วน “สมุทรสาคร” ปิ๊งนครครัวโลก

นายฐาปนา บุณยประวิตร อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายกิจการพัฒนาเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วที่ บจ.ขอนแก่นพัฒนาเมืองก่อกำเนิดขึ้น และหลังจากนั้นบริษัทพัฒนาเมืองอีก 11 แห่ง ก็เกิดขึ้นตามมา ได้แก่ บจ.ภูเก็ตพัฒนาเมือง บจ.สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) บจ.พิษณุโลกพัฒนาเมือง บจ.ระยองพัฒนาเมือง บจ.สระบุรีพัฒนาเมือง บจ.เชียงใหม่พัฒนาเมือง บจ.กรุงเทพพัฒนาเมือง บจ.ชลบุรีพัฒนาเมือง บจ.สุโขทัยพัฒนาเมือง และล่าสุดคือ บจ.สงขลาพัฒนาเมือง
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่อยู่ระหว่างการเตรียมจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองอีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย บจ.ตากพัฒนาเมือง บจ.อุดรธานีพัฒนาเมือง บจ.กระบี่พัฒนาเมือง และ บจ.สุราษฎร์ธานีพัฒนาเมือง

ทั้งนี้ กรอบการพัฒนาเมืองของไทยยังต้องเดินตามระเบียบข้อกฎหมาย ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงกฎหมายผังเมือง และวิธีการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ แต่ที่บริษัทพัฒนาเมืองกำลังพยายามทำคือ การอุดช่องโหว่การพัฒนาจากส่วนกลาง โดยสร้างทิศทางการพัฒนาของตนเองขึ้น ชัดเจนสุดคือ แผนงานโครงการระบบขนส่งทางราง ของ บจ.ขอนแก่นพัฒนาเมือง และ บจ.ภูเก็ตพัฒนาเมือง ซึ่งพัฒนาจากความไม่พร้อมด้านงบประมาณของส่วนกลาง

เชียงใหม่-สุโขทัยผุดสมาร์ทบัส

นายฐาปนากล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาของบริษัทพัฒนาเมืองหลัก ๆ คือ การใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นธงนำ เพื่อทำให้รูปแบบของเศรษฐกิจเมืองเปลี่ยนแปลงตาม เมืองจะประหยัดพลังงานขึ้น เพราะประชาชนจะทิ้งรถยนต์หรือลดการครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นในพื้นที่รอบสถานี และบริเวณ 2 ข้างทางรถขนส่งมวลชน ค่าใช้จ่ายครัวเรือนจะลดลง ความฝันที่จะเป็นเมืองสุขภาพจะเป็นจริง จะเกิดพื้นที่แห่งการเดิน (walkable areas)

สำหรับภาคเหนือ ขณะนี้ บจ.เชียงใหม่พัฒนาเมือง และ บจ.สุโขทัยพัฒนาเมือง อยู่ระหว่างเตรียมลงทุนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 2 เส้นทาง ในเชียงใหม่ 1 เส้นทาง สุโขทัย 1 เส้นทาง ในรูปแบบ smart bus พื้นชานต่ำ เพียบพร้อมด้วยบริการไวไฟ (WiFi) และสิ่งอำนวยความสะดวก

ADVERTISMENT

ขอนแก่น “สมาร์ทซิตี้ 2029”

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง บจ.ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) มูลค่าลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ล่าสุด 22 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีบริษัททั้งไทยและต่างชาติ ยื่นซองประมูลก่อสร้างโครงการดังกล่าว ระหว่างนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาโครงการจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2561

ADVERTISMENT

จากนั้นจะคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ยื่นข้อเสนอดีที่สุดเข้ามาลงทุน ส่วนระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น ๆ อาทิ smart bus ซึ่งศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างร่วมกับเทศบาล องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาแนวทางปรับปรุงรูปแบบป้ายรถเมล์

“จากนี้ไปเราจะเดินหน้าเรื่องขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ โดยบริษัทพัฒนาเมือง จะร่างแผนยุทธศาสตร์ ใช้ชื่อว่าแผนขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ 2029 ช่วงแรกเน้นเรื่องสมาร์ทเอดูเคชั่น เช่น การเรียน 2 ภาษา สำหรับเด็กในขอนแก่น ส่วนสมาร์ทเฮลท์แคร์ที่เสร็จแล้ว คือ แอปพลิเคชั่นสำหรับรถฉุกเฉิน ส่งข้อมูลไปยังศูนย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นได้ หากคนไข้วิกฤตในรถ หมอสามารถสั่งให้บุรุษพยาบาล หรือพยาบาลรักษาก่อนได้ เป็นต้น”

“ชลบุรี” ดึงมหา”ลัยออกแบบ

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ ประธานกรรมการ บจ.ชลบุรีพัฒนาเมือง กล่าวว่า บริษัทเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ชลบุรี 16 คน ขณะนี้แค่ลงขันจดทะเบียนบริษัท ยังไม่มีโครงการที่ชัดเจนเพราะต้องรอ พ.ร.บ.พัฒนาเมืองฯ ที่รัฐบาลกำลังผลักดันว่าจะออกมาแนวทางใด ประกอบกับ จ.ชลบุรี แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่สามารถกำหนดโครงการ เช่น ระบบขนส่งมวลชน แต่ชลบุรีมีโหนดเมืองเยอะมาก และแต่ละเมืองโตในแบบของตัวเอง

ดังนั้นแนวคิดคือ การเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องการทำเออร์เบิร์นแพลนนิ่ง คือ การออกแบบเมือง วิธีการคือ ต้องอาศัยสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาผังเมือง ทุกมหาวิทยาลัย ทำวิจัย โดยเก็บข้อมูลในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนวคิดของที่อยู่อาศัยในอนาคตว่าแต่ละโซนควรจะเป็นอย่างไร สำคัญที่สุดคือในการศึกษาวิจัยจะต้องสื่อออกมาเป็นระยะ ๆ ให้ชุมชนมีส่วนรับรู้

“สมุทรสาคร” ปิ๊งนครครัวโลก

ขณะที่นายสมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ประธานกรรมการ บจ.สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เปิดเผยว่า หลายฝ่ายได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 โดยระดมทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท จากเอกชน 27 บริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ จ.สมุทรสาคร เป็นนครแห่งครัวโลก เนื่องจากมีจุดเด่นเป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบทางการเกษตร วัตถุดิบสำเร็จรูป มีโรงงานอุตสาหกรรมด้านอาหารเกือบ 1,000 โรงงาน มีตลาดทะเลไทย รวมถึงเป็นประตูสู่ภาคใต้ มีหลายโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารแห่งใหม่ จะดึงโรงงานอุตสาหกรรมด้านอาหารทั้งในและนอกจังหวัดมาไว้ด้วยกัน โดยเสนอขอสิทธิประโยชน์ในการเข้ามาลงทุนให้เป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบ ให้มีสถานการศึกษาทางด้านอาหาร เป็นวันสต็อปเซอร์วิส ครอบคลุมทั้ง R&D และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใบเซอร์ติฟิเคต การผลิตเชฟไทยไปทั่วโลก โดยได้หารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บ้างแล้ว นอกจากนี้จะผลักดันแหล่งท่องเที่ยวทางด้านอาหาร และพัฒนาเส้นทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเก่าแก่ ยกระดับรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต

ดัน “สระบุรี” ศูนย์กลางขนส่ง

ด้านนายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บจ.สระบุรีพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า ได้ตั้งบริษัทพัฒนาเมืองด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยใช้ต้นแบบจาก จ.ขอนแก่น และเตรียมเพิ่มทุนเพื่อนำมาพัฒนาจังหวัดเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเร่งพัฒนาเมืองจากปัญหาที่เห็นชัดเจน 2 เรื่องคือ 1.การคมนาคม จะเริ่มพัฒนาโครงการพัฒนาขนส่งมวลชนสาธารณะ ต้นปี 2561 2.การพัฒนาย่านเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ชูจุดเด่นเรื่องธรรมชาติ ทำสมาร์ทบัส ลดจราจรติดขัด การจ่ายเงินโดยใช้แอปพลิเคชั่นพัฒนาให้สระบุรีเป็นจุดศูนย์กลางของระบบขนส่ง โดยเฉพาะรถไฟรางคู่ ผลักดันเรื่องของ ICD (Inland Container Depot) หรือโรงพักสินค้า เพื่อตรวจบรรจุของทั้งขาเข้าและขาออกด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะทำให้สระบุรีเป็นจุดกระจายสินค้าแห่งสำคัญของประเทศ เกิดการสร้างงาน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น