ชาวโคราช 300 คน ขวางทางรถไฟ ร้องรัฐปรับแบบก่อสร้างรถไฟไฮสปีด

ชาวโคราช 300 คน ขวางทางรถไฟ ร้องรัฐปรับแบบก่อสร้างรถไฟไฮสปีด

ชาวบ้านโคกกรวด-บ้านใหม่ โคราชกว่า 300 คนลุกฮือชุมนุมประท้วงขวางทางรถไฟ เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมปรับแบบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงยกระดับจากคันดินเป็นแบบตอม่อ หวั่นน้ำท่วม

วันที่ 5 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30 น. ชาวบ้าน 2 ตำบลของอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ตำบลโคกกรวด และตำบลบ้านใหม่ จำนวนกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันยืนถือป้ายประท้วงขวางรางรถไฟบริเวณจุดตัดข้ามทางรถไฟบ้านเดื่อ ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา พร้อมทั้งถือป้ายคัดค้าน และตะโกนว่า

เราไม่เอาคันดิน เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้มีการทบทวนเปลี่ยนแบบการก่อสร้างรางรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่ดังกล่าว จากเดิมรางยกระดับแบบคันดิน เปลี่ยนเป็นรางยกระดับแบบตอม่อ

โดยช่วงเวลาที่ชาวบ้านรวมตัวกันชุมนุม ชาวบ้านนับร้อยคนได้ขึ้นไปชุมนุมยืนถือป้ายขวางทางรถไฟ และมีขบวนรถไฟที่ 234 วิ่งจากสุรินทร์-กรุงเทพฯ วิ่งผ่านมา แต่เมื่อถึงบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ชาวบ้านชุมนุมกันขบวนรถไฟต้องชะลอความเร็ว และได้หยุดขบวนรถไฟเพราะเกรงจะเกิดอันตรายต่อชาวบ้าน

โดยชาวบ้านได้ตะโกนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแบบการก่อสร้างรางรถไฟความเร็วสูงเป็นรางยกระดับแบบตอม่อ พร้อมทั้งได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 6 รูป มาทำพิธีฌาปนกิจศพ และเผาโลงศพไอ้คันดิน ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10 นาที ก่อนที่ชาวบ้านจะยอมเปิดเส้นทางให้ขบวนรถไฟดังกล่าวผ่านไปด้วยดี โดยที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น

นางสาวกาญจนา กาญจนวัฒนา กำนันตำบลโคกกรวด และเป็นตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการทางรถไฟที่ยกระดับแบบตอม่อ เพราะหากก่อสร้างเป็นแบบคันดิน จะสร้างผลกระทบตามมาหลายอย่างมากมายทั้งการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ผลกระทบจากการสัญจรไปมา และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่องน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเดือนร้อนหลายพันคน โดยเฉพาะชาวบ้านในตำบลโคกกรวด ตำบลบ้านใหม่ และตำบลในเมืองบางส่วน


“ความจริงแล้วชาวบ้านทุกคนเห็นด้วยที่มีการสร้างรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง แต่ติดปัญหาเรื่องความชัดเจนของแบบการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อชาวบ้านทราบว่าการก่อสร้างทางรถไฟผ่านพื้นที่ เป็นแบบเป็นคันดินสูง 5 เมตร เป็นระยะทางยาวกว่า 7 กิโลเมตร ชาวบ้านก็มีความกังวลเรื่องน้ำท่วม เพราะโอกาสที่จะเป็นเหมือนเขื่อนดินมีสูงมาก เพราะเมื่อมีฝนตกหนักลงมาจุดนี้ก็จะกลายเป็นลำคลอง ชาวบ้านจึงอยากเรียกร้องให้กลับไปพิจารณาช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ