“สุทธิพงษ์” อธิบดี สถ. โซ่ข้อกลางเชื่อม “รัฐบาล-ท้องถิ่น”

ชื่อของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อาจยังไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน เพราะกรมเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีอายุเพียง 15 ปี แต่บทบาทหน้าที่กลับทวีความสำคัญทุกขณะ ไม่เพียงรัฐบาลที่หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นเองก็ตระหนักถึงการพัฒนาตนเองอย่างยิ่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม  ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กับคำถามทุกแง่มุม ตั้งแต่บทบาทหน้าที่การทำงาน อุปสรรคที่ต้องเผชิญ และโครงการต่าง ๆ ที่จะผลักดันให้ท้องถิ่นเจริญรุ่งเรือง

อธิบดี สถ.เปิดฉากว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นจากกระแสของประชาธิปไตย มีเป้าหมายสูงสุด คือ ให้คนในชุมชน ในท้องถิ่นมีอิสระที่จะบริหารจัดการตัวเอง ภายใต้หลักคิดที่ว่าท้องถิ่นต้องรู้ความต้องการ ปัญหา และเป้าหมายของพื้นที่ตนเอง มีคำขวัญที่ยืมมาจากยูเอ็นเอฟซีซีซี คือ Change for good

โซ่ข้อกลาง “รัฐบาล-อปท.”

บทบาทของกรม คือ “โซ่ข้อกลาง” ระหว่างท้องถิ่น กับรัฐบาล ไม่เพียงเรื่องกระจายอำนาจเท่านั้น ยังเป็นเรื่องความมั่นคงด้วย ฉะนั้นหน้าที่ของกรมจึงต้องอำนวยความสะดวกให้ท้องถิ่นสามารถทำงานได้คล่องตัวมากที่สุด นำนโยบายจากรัฐบาลกลางไปพูดคุยกับท้องถิ่น ขณะเดียวกันนำปัญหาท้องถิ่นมาคุยกับรัฐบาล ทำให้เกิดการยึดโยงกัน

“อปท.ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาเรา แต่การทำงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแล เป็นเหมือนครอบครัว โดยการทำงานของเราเหมือนเป็นรัฐบาล คือ งานฟังก์ชั่นของทุกกระทรวง ทบวง กรม ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมหมด ไม่ว่าจะเป็นถนน การศึกษา เด็ก คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส คนชรา ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน สิ่งแวดล้อม การทำมาหากิน หรือ สาธารณภัย แต่เมื่อประเทศเรามีทรัพยากรจำกัด กรมจึงต้องช่วยรัฐบาลในการทำดีมานด์ของท้องถิ่น กับซัพพลายของรัฐบาลให้ลงตัว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นอยากให้ปรับแก้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป”

ส่วนอุปสรรคที่ท้องถิ่นพบ คือ การตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่มีอีกมุมมองหนึ่งตามกฎหมาย เช่น คุณกอบกาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ในขณะนั้น ได้โทร.มาหาบอกว่า สตง.ไม่ยอมให้ อบจ.กระบี่ ภูเก็ต และชลบุรี ไปโรดโชว์ที่งานท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลกที่เบอร์ลิน ถูกเรียกเงินคืน เนื่องจาก สตง.บอกว่านี่คือฟังก์ชั่นของกระทรวง เรื่องเหล่านี้ท้องถิ่นเขากลุ้มใจ

ในฐานะโซ่ข้อกลางได้ประสานไปยัง สตง. ซึ่งกรุณาให้กรมมีโอกาสพูดคุยแบบตัวต่อตัวได้ตลอดเวลา แม้ในเชิงระบบยังแก้ไม่ได้ แต่ได้มีการขยับรับฟังปัญหาแล้ว และอย่าคิดว่าคนนั้นเป็นผู้ร้าย คนนั้นเป็นพระเอก เพราะทุกคนทำตามหน้าที่ด้วยเจตนาที่ดีทุกฝ่าย เพียงแต่ใส่แว่นคนละแว่น

บุกตลาดประชารัฐ

เพื่อตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน กรมดำเนินการตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจซึ่งเป็น 1 ใน 9 ตลาด มีผู้ที่มาลงทะเบียน 4 หมื่นกว่าราย โดยท้องถิ่นมีตลาดเทศบาลในมือ 4 พันแห่ง ต้องปรับปรุงให้มีมาตรฐานมากขึ้น พร้อมกับจัดหาพื้นที่ใหม่ให้รายใหม่เข้าไป นอกจากนี้ไปจับมือกับเอกชนขอพื้นที่ เช่น เอสซีบีได้เปิดพื้นที่ให้ ล่าสุดกำลังจะเปิดขายที่โฮมโปร เริ่มที่สาขาหัวหินเป็นการนำร่อง เริ่มขาย 30 มกราคม 2560 ถึง 11 กุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้ยังมีเรื่องท่องเที่ยวเมืองรองกรมพยายามเข้าไปมีบทบาท

“ตลาดจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี อย่างที่เอสซีบีคนซื้อแฮปปี้มาก รู้ว่าได้ซื้อจากชาวบ้าน ซึ่งตลอดปีกรมเราก็ต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนี้ ล่าสุดโครงการเทศกาลข้าวใหม่ที่ให้ท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัดประสานร้านอาหารที่พร้อม ให้นำข้าวที่สีใหม่จากชาวนามาหุงขายให้ลูกค้า กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นคุณค่าของข้าวใหม่ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง หอม มียาง และอร่อย ขณะเดียวกันให้ชาวนามีโอกาสขายข้าว และรู้จุดแข็งของตัวเอง เทศกาลนี้เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2560 ไปถึงกลางเดือนมกราคม 2561”

ขยะ-การศึกษา วาระแห่งชาติ

การจัดการขยะ คือ สิ่งที่กรมถูกคาดหวัง ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยออกประกาศ เรื่อง การจัดการมูลฝอย 2560 เนื้อหาสาระ คือ การลดขั้นตอนการเข้ามามีส่วนร่วมของบุคคลภายนอกกับท้องถิ่นที่จะมาลงทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันกรมได้ขอตั้ง “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” ตั้งเป้าครอบครัวละ 1 คน สร้างทัศนคติ จิตสำนึก โดยคิกออฟวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นโครงการมอบของขวัญให้กับแผ่นดินไทย

ส่วนเรื่องการศึกษา เนื่องจาก สถ.ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,500 ศูนย์ มีเด็กในความดูแล 9 แสนกว่าคน และมีโรงเรียนประถม มัธยม อาชีวะ อีกเป็นพันโรง ในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้เซ็นเอ็มโอยูกับสถาบันอาศรมศิลป์ และโรงเรียนรุ่งอรุณ มาช่วยดูหลักสูตร นอกจากนี้ได้เซ็นเอ็มโอยูกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาออกแบบสนามเด็กเล่นให้เกิดพัฒนาการในทุกด้าน

คาดกลางปี”61 เลือกตั้งท้องถิ่น

ร่างกฎหมายท้องถิ่นขณะนี้มี 2 ชุด คือ ของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่างของกฤษฎีกาอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีการวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเห็นชอบ ก็จะส่งไปให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระ จะรวดเดียวหรือทีละวาระก็แล้วแต่ จากนั้นก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ คาดว่าไม่น่าเกินพฤษภาคม 61 จะแล้วเสร็จ ซึ่งท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้บอกว่าถ้ามีกฎหมาย ภายใน 45 วันก็เลือกตั้งได้

ส่วนเรื่องการควบรวม อบต.นั้น ที่เราเสนอไปให้มี อบต.อยู่ แต่ขอให้ลดจำนวนสมาชิกของ อบต. จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือเพียง 1 คน เท่าที่ฟังเขาก็แฮปปี้ เพราะถ้าควบรวมเป็นเทศบาล จะไม่ใช่หมู่ละ 1 คน แต่ทั้งเทศบาลจะเหลือแค่ 12 คนเท่านั้น และทั้ง 12 คนไม่จำเป็นต้องเป็นคนละหมู่บ้าน สามารถอยู่หมู่เดียวกัน 5 คนได้ แต่ที่เราเสนอให้หมู่บ้านละ 1 คน ถือว่ายังยึดโยงเรื่องเขตการปกครอง ที่สำคัญลดลงไปหมู่บ้านละ 1 คน อบต.จะมีงบฯเพิ่มมาถึงปีละ 4,700 ล้านบาท นำไปทำงบพัฒนาดีกว่าเยอะ

ทิศทาง สถ.กับคนรุ่นใหม่

การจัดสอบข้าราชการท้องถิ่นครั้งล่าสุด เป็นครั้งแรกที่กรมได้นำมาจัดเอง โดยมีผู้สมัครสอบ 6-7 แสนคน จากที่ผ่านมากระจายอำนาจให้ อปท.จัดสอบเอง แต่พบปัญหาทุจริต เรียกเงินทองตามมาอธิบดี สถ. มองว่า เด็กรุ่นใหม่น่าจะทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น จากการสอบผ่านคู่แข่งหลายแสนคนมั่นใจว่าต้องมีศักยภาพ แต่การทำงานต้องเข้าใจบริบทสังคมไทย คือ มีผู้บังคับบัญชา ขณะเดียวกันหน่วยงานก็ต้องไม่ปิดกั้นการนำเสนอ

ทั้งหมดคือการขยับของท้องถิ่น ที่จะเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ