“น้ำตาลบุรีรัมย์” รุกแตกไลน์ ขาย “คาร์บอนเครดิต” สู่ตลาดโลก

อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ-บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์
สัมภาษณ์

ปัจจุบันองค์กรชั้นนำระดับโลกต่างให้ความสำคัญกับการลงทุน เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่่งสามารถนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด นำไปสู่การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เป็นหนึ่งในบริษัทที่มุ่งไปสู่การลงทุน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร โดยตั้งเป้าจะนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 50 ปี ถึงแผนธุรกิจปัจจุบัน และทิศทางการลงทุนในอนาคต

Q : ธุรกิจหลักที่ดำเนินการอยู่

ในอดีตอ้อยใช้ผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนำไปต่อยอดเพื่อใช้ผลิตเป็นพืชพลังงาน ได้แก่ เอทานอล เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายยังนำไปต่อยอดเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กากอ้อยใช้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งเป็นภาชนะย่อยสลายได้ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันบริษัทแบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 4 กลุ่ม

1.กลุ่มน้ำตาลเป็นธุรกิจหลัก จาก 3 โรงงานผลิต ได้แก่ บจ.โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ (BSF) บจ.โรงงานน้ำตาลชำนิ (CSF) และ บจ.น้ำตาลทุนบุรีรัมย์ (BSC) มีกำลังการหีบอ้อยรวม 23,000 ตัน/วัน โดยมีชาวไร่อ้อยที่ไปส่งเสริมไว้กว่า 2 แสนไร่ ซึ่งผลผลิตอ้อยของบริษัทมีค่าความหวานของอ้อย (CCS) อยู่ที่ 13.8 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วประเทศ ทั้งนี้ น้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ 70-80% ส่งออกที่เหลือขายตลาดภายในประเทศให้ลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรด ภายใต้แบรนด์ BRUM มีทั้งน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาวสีรำ

2.ธุรกิจปุ๋ย โดย บจ.ปุ๋ยตรากุญแจ (KBF) มีปุ๋ยเคมี กำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี ทั้งแบบเม็ดและแบบน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และปุ๋ยอินทรีย์ กำลังการผลิต 7 หมื่นตันต่อปี ขึ้นกับอ้อยที่เข้าหีบเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยชาวไร่อ้อยในเครือข่าย ตอนนี้เริ่มขยายไปสู่ตลาดภายนอก และจะทำตลาดภายนอกเพิ่มขึ้น เช่น สวนเมล่อนต่าง ๆ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น สมุนไพรต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากแม่ปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้น

3.ธุรกิจโลจิสติกส์ ดำเนินการโดย บจ.บีอาร์อาร์ โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ (BRLM) ขนส่งน้ำตาลในกลุ่มบริษัท และมีการทำธุรกิจขนส่งภายนอกด้วย เช่น การขนส่งแร่ทรายแก้ว และธุรกิจต่าง ๆ

4.ธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง ได้แก่ บจ.บุรีรัมย์พลังงาน (BEC) บจ.บุรีรัมย์เพาเวอร์ (BPC) บจ.บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส (BPP) มีกำลังการผลิตรวม 29.07 เมกะวัตต์ แต่ละแห่งมีกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากกากอ้อยเป็นหลัก แต่สามารถใช้วัตถุดิบอื่น ๆ ได้ ทั้งไม้สับและแกลบ มีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

Q : นโยบายทิศทางการลงทุน

กลยุทธ์การเติบโตของ BRR มีแผนมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ต่อไปการพัฒนาการลงทุนของบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และนโยบายของรัฐบาล หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ESG (Environment, Social, Governance) ตามทิศทางการพัฒนาของตลาดทุนทั้งในไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ ในปีนี้จะผลักดันเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ธุรกิจทุกเซ็กชั่นจะเน้นด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2559 ได้รับใบรับรองการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ในการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาล และจะเริ่มศึกษาการทำคาร์บอนฟุตพรินต์หรือการลดก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร ช่วยโลกลดภาวะโลกร้อน เพราะเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ภาวะโลกร้อนน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายธุรกิจจะต้องปรับตัว ดังจะเห็นตัวอย่างในประเทศจีนปรับตัวอย่างแรงในเรื่องนี้

เรามุ่งพัฒนานบายโปรดักต์จากอ้อยมาต่อยอดสู่ความยั่งยืน อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (wood pellet) เป็นการบริหารความเสี่ยงและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยในส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย สําหรับใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ และบรรจุภัณฑ์สําหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ภายใต้การดำเนินงานของ บจ.ชูการ์เคน อีโคแวร์ (SEW) บริษัทได้หาพันธมิตรที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุน

ตอนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อชานอ้อย งบลงทุน 100 ล้านบาท สําหรับเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นโนว์ฮาวของบริษัทเอง จะทำให้มีต้นทุนวัตถุดิบในราคาที่ตํ่าลงจากที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่าในปี 2565 จะกลับมามีกำไร จากการเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตสอดคล้องกับคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศซึ่งเป็นสัญญาจองซื้อระยะยาวเฟสแรกรวมจำนวนกว่า 15 ล้านชิ้นต่อเดือน และในประเทศประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเตรียมขยายเฟส 2 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สำหรับลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มอีก 14 เครื่อง

ในส่วนธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (wood pellet) ได้จัดตั้งบริษัท บีอาร์อาร์ กรีน โฮลดิ้ง จำกัด (BGH) ร่วมทุนกับบริษัท Kyuden Mirai Energy หรือ KME ตั้งโรงงานวู้ดพาเลตใน สปป.ลาวซึ่งพาร์ตเนอร์ KME มีศักยภาพเป็นทั้งผู้ร่วมลงทุนและให้เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทำสัญญารับซื้อระยาว 15 ปี ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างโรงงาน คาดจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนภายในไตรมาส 2 ปี 2566 มีขนาดกำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี จะสร้างรายได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปี 2565 มีการปรับโครงสร้างของธุรกิจนี้ เพราะเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้ ได้จัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรม เพื่อผลิตเครื่องจักรในการผลิตวู้ดพาเลตขายให้กับบริษัทต่าง ๆ เพราะในกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญด้านวู้ดพาเลต และจะดำเนินงานอย่างครบวงจร

Q : อนาคตทำวู้ดพาเลตขายคาร์บอนเครดิตได้

ถือเป็นผลพลอยได้ เพราะเรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพรินต์ต่าง ๆเป็นเรื่องใหญ่ โรงงานวู้ดพาเลตที่เราทำอยู่ในอนาคตสามารถหารายได้เพิ่มการขายคาร์บอนเครดิต ถือเป็นผลพลอยได้ที่เป็นกอบเป็นกำขึ้นมาได้ เรามีโนว์ฮาวคนพร้อมมาลงทุนให้เรา เพื่อนำไปเคลมคาร์บอนเครดิต ทำให้เราไม่ต้องหาเงินกู้เหมือนบริษัทที่ลาว บริษัทญี่ปุ่นมาพร้อมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมซื้อวู้ดพาเลต เพื่อนำไปเคลมคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก

ตอนนี้แผนการลงทุนวู้ดพาเลตเฟสต่อไปใน สปป.ลาว จริง ๆ มีลูกค้าเข้ามาคุยกับเราแล้ว เป็นพาร์ตเนอร์รายใหม่ แต่ก็รอดูทิศทางอีกสักระยะหนึ่ง แต่น่าจะเร็ว ๆ นี้

เพราะในส่วนของวัตถุดิบมีรองรับไปอีก 4-5 ปี เพราะเราได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท สีพันดอนบอลิเวนพัฒนา จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติลาวร่วมทุน 3 ฝ่าย จดทะเบียนในประเทศลาว ซึ่งบริษัทของลาวที่เข้ามาร่วมทุนกัน ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการลงทุน และมีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนในประเทศลาว

เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่ในระดับประเทศ เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ เรามีที่ดิน 40,000 ไร่ ในแขวงจำปาศักดิ์ สัมปทานระยะเวลา 50 ปี มีไม้ในพื้นที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอยู่ได้ 1.7 ล้านตัน เราวางแผนเคลียร์พื้นที่ป่าและปลูกไม้โตเร็วเพื่อสนับสนุนตัววัตถุดิบ เฟสแรกตอนนี้เพิ่งใช้พื้นที่เพียง 1-2 พันไร่ ในลาวมีที่ดินพร้อมกว่าในไทย

ต่อไปธุรกิจหลักยังเป็นน้ำตาล แต่ถ้าธุรกิจที่ขายพวกคาร์บอนเครดิตถ้าสดใส มีทิศทางเราคงมุ่งไป เพราะเรามีความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมอยู่แล้ว และบริษัทใหญ่ ๆ ต่างชาติก็รู้โปรเจ็กต์ไหนมีความน่าจะเป็นมากที่สุด เขาก็รู้ตัวกันอยู่แล้วว่าควรจะคุยกับใคร

Q : แผนรายได้การเติบโตช่วง 5 ปี

บริษัทได้วางแผนการเติบโตในช่วง 5 ปี ภายในปี 2569 ได้ตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 7,451 ล้านบาท โดยจะมีการปรับปรุงในทุกธุรกิจ แต่ธุรกิจน้ำตาลยังเป็นตัวหลัก และรายได้จาก 2 ธุรกิจใหม่ คือธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยและวู้ดพาเลต

โดยธุรกิจน้ำตาล คาดการณ์รายได้รวมปี 2565 ประมาณ 5,663 ล้านบาท ปี 2569 ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 6,813 ล้านบาท โดยธุรกิจน้ำตาลวางแผนการเติบโตในการเพิ่มวัตถุดิบ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้ง GIS/ MIS เพื่อดูรายแปลงเลยว่า แปลงไหนถึงเวลาใส่ปุ๋ย ถึงเวลาตัดได้ และตัดช่วงไหนจะทำให้มีน้ำตาลสูงสุด เพื่อควบคุมคุณภาพ CCS รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก (Brand Awareness) และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น

ส่วนธุรกิจไฟฟ้า เป็นสัญญาระยะยาว ทำอย่างไรให้มีเชื้อเพลิงสม่ำเสมอ ต้องบำรุงรักษาเครื่องจักร พัฒนาคุณภาพเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการบริหารเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ขณะเดียวกันได้มองธุรกิจใหม่ ๆ เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, โซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์อื่น ๆ อยู่ระหว่างศึกษา คาดการณ์ปี 2565 มีรายได้รวม 978 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายปี 2569 เพิ่มเป็น 1,026 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจปุ๋ยคาดว่าจะเติบโตได้ 100% ในปี 2565 ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เราอาจจะหาโปรดักต์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับสมุนไพรมาสร้างมูลค่าของตัวผลิตภัณฑ์ และขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ตลาดภายนอกมากขึ้น คาดการณ์ปี 2565 มีรายได้รวม 198 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายปี 2569 เพิ่มเป็น 636 ล้านบาท

ธุรกิจโลจิสติกส์ นอกจากขนส่งน้ำตาล จะหารายได้จากการขนส่งสินค้าภายนอก โดยคาดการณ์รายได้ปี 2565 ประมาณ 24 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2569 จะมีรายได้ประมาณ 41 ล้านบาท

ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ วางเป้าหมายรายได้จะเติบโตถึง 100% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยปี 2565 คาดการณ์มีรายได้ประมาณ 224 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2569 มีรายได้ประมาณ 513 ล้านบาท

โดยแผนการขยายแต่ละเฟสจะยึดตัวสัญญาระยะยาวกับลูกค้าเป็นหลัก เน้นการส่งออก 90% เนื่องจากตลาดต่างประเทศค่อนข้างใหญ่ มูลค่าตลาดรวม 50,000-60,000 ล้านบาท

เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญในส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีอัตราการเติบโตปีละ 6-7% ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเท่านั้นเอง เรายังมีรูมที่จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ

ในส่วนธุรกิจวู้ดพาเลต ทางประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีก็เริ่มลดการใช้พลังงานตัวเชื้อเพลิงถ่านหินมาเน้นเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากรัฐบาลออกนโยบายต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในญี่ปุ่นมีความต้องการ คาดว่าจะเติบโตบวกถึง 58% ในปี 2568 อีกประมาณ 4 ปีข้างหน้าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่ง หรือ Feed-in Tariff หรือ FiT ตรงนี้ตอบโจทย์ของเรา เรามีการทำสัญญากับลูกค้าญี่ปุ่นไว้แล้ว ซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมทุนและผู้รับซื้อ ซึ่งถือเป็นกุญแจความสำเร็จของเรา ขณะเดียวกันจึงตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทน (IRR) ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมากกว่า 15%

Q : ราคาน้ำตาลดี รายได้อาจทะลุ 7 พันล้านบาทก่อน 5 ปี

แนวโน้มคงเป็นอย่างนั้น แต่ยังตอบไม่ได้ว่าภายในกี่ปี เพราะรายได้หลักจากน้ำตาลปรับขึ้นในอัตราส่วนที่มากพอสมควร ซึ่งอาจจะถึงเป้าหมาย 7 พันล้านบาทก่อนกำหนด ธุรกิจต่อเนื่องอาจจะขยับได้เร็วกว่าที่วางแผนไว้ ถ้ามีปริมาณและจำนวนลูกค้าที่ทำสัญญาระยะยาวเข้ามาเร็ว เราก็คงต้องขยับเร็ว ขึ้นกับดีมานด์เป็นหลัก แต่แนวโน้มไปในทิศทางที่เร็วขึ้น ทั้งบรรจุภัณฑ์และวู้ดพาเลต เราได้คุยโปรเจ็กต์ต่อเนื่องไปแล้ว เพียงแต่เราจะเร่งได้ขนาดไหนก็คงต้องรอดู

Q : โอกาสตั้งโรงงานวู้ดพาเลตในไทย

เรื่องการลงทุนในประเทศไทยมีการคุยกัน เนื่องจากเรามีบริษัทลูกที่รับผลิตเครื่องจักรวู้ดพาเลต มีการดูเรื่องการหาวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งอาจจะต้องซื้อวัตถุดิบจากคนอื่นมาเติม เป็นความยากของธุรกิจ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่อยากพูดออกไป เครื่องผลิตไม้วู้ดพาเลตทำได้ทั้งไม้สับ ซังข้าวโพด อยู่ในเทรนด์คาร์บอนฟุตพรินต์พวกนี้จะเคลมได้หมด

Q : ขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่

มี 2 ใบ ที่ จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ กำลังการผลิตแห่งละ 2 หมื่นตัน ตอนนี้ยังไม่มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลใหม่

Q : อยากฝากอะไรภาครัฐ

รัฐควรต้องมาดูเป็นสินค้าเกษตร เป็นบายโปรดักต์ของสินค้าเกษตรที่ไปทำต่อเนื่องได้ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนเกษตรกร เราสามารถเป็น zero waste และไปในทิศทางเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ รัฐควรต้องหันมาเอาใจใส่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง