ประธานลุ่มน้ำวังโตนด ปันน้ำ EEC ดึงเงินกองทุนอุ้มคนจันท์

ผศ.เจริญ ปิยารมย์
สัมภาษณ์

การลงพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เพื่อเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด พร้อมยืนยันกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชนว่า ได้ก่อสร้างตามแผนแน่นอนถ้าตนเองยังเป็นรัฐบาล

โดยที่ผ่านมาโครงการได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน (EHIA) ตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2564 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากติดขัดการขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนช่องนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ผศ.เจริญ ปิยารมย์” ประธานคณะทำงานลุ่มแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ถึงโอกาสและความเป็นไปได้

Q : ลุ้นสร้างอ่างวังโตนดมา 30 ปี

ความจำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนดมีมาตลอด เริ่มจาก “กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองวังโตนด” ที่ก่อตั้งขึ้นมากันเอง เป็นการรวมตัวกันจากกลุ่มผู้ใช้ท่อน้ำดิบ 7 สาย ตอนล่างของลุ่มน้ำวังโตนด ที่ต้องการกั้นน้ำเค็มและเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตรกว่า 10,000 ไร่ แรก ๆ ระดมเงินทุนจากชาวสวน ตอนนั้นยังไม่คิดเรื่องอ่างเก็บน้ำปี 2532 ชลประทานได้มาจัดตั้ง มาปี 2548 จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขาดน้ำอย่างรุนแรง

กรมชลประทานจึงว่าจ้างบริษัทมาทำการศึกษาพบว่า แหล่งน้ำที่เหมาะสมที่สุดที่จะไปช่วย จ.ระยองได้ คือ ลุ่มน้ำวังโตนด โดยเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งรองรับน้ำฝนปริมาณมากที่ตกลงมาในพื้นที่จันทบุรี คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ เพื่อสูบน้ำจากคลองวังโตนดไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง พร้อมกรมทรัพยากรน้ำได้แต่งตั้ง “คณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด” ขึ้น

ทางคณะทำงานเห็นว่า คลองวังโตนดยังไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน จึงต่อรองกรมชลประทานไปขอทบทวนมติ ครม.ผลักดันการสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง พร้อมทั้งระบบฝายทดน้ำในลำน้ำวังโตนด ก่อนที่จะผันน้ำไปเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อความเป็นธรรมของชาวจังหวัดจันทบุรี เพราะตอนนั้นน้ำในคลองวังโตนดช่วงฤดูแล้งขาดแคลนมาก ชาวสวนใน อ.นายายอาม และ อ.ท่าใหม่ เดือดร้อนแทบทุกปี

ผลการต่อรองในปี 2553 จึงได้สร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกดขึ้นเป็นอ่างแรก ต่อมาในปี 2559 ได้รับอนุมัติสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ พร้อม ๆ กัน ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดติดปัญหาเรื่องพื้นที่อุทยานและป่าสงวนจึงล่าช้ามาถึงปัจจุบัน

Q : พื้นที่ป่าสงวนที่จะสร้างอ่างเป็นที่ตั้งชุมชน

“อ่างเก็บน้ำวังโตนด” แม้ว่าทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2548 แต่มีปัญหาการขอใช้พื้นที่จากกรมอุทยานฯ เพราะปี 2553 กรมป่าไม้ได้ยกพื้นที่ป่าสงวนให้เป็นพื้นที่กรมอุทยานฯ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ป่าสงวนได้ทำสัมปทานป่าไม้ไปแล้ว เป็นป่าไม้ชั้น 2 และพื้นที่ป่าสงวนส่วนใหญ่กลายเป็นแหล่งชุมชน ที่ตั้งสถานที่ราชการ และชาวบ้านเข้าไปทำสวนยาง ปลูกพืชไร่ สิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่ป่าที่อุดมสมบูรณ์

แต่ความยุ่งยากของกฎหมายกรมอุทยานฯ ทำให้ต้องตั้ง “คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ” ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรอิสระ NGO พิจารณาการขอใช้พื้นที่ จึงถูกต่อต้านจากกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า

แต่มติ ครม.กำหนดให้มีการผันน้ำไปช่วยใน EEC ได้ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 3 อ่างให้ครบ คือ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ซึ่งถ้าไม่สร้างจะผันน้ำไป EEC ไม่ได้ เพราะโครงการเครือข่ายอ่างประแสร์ที่จะนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดไปใช้ หลายโครงการยังไม่ได้สร้าง เช่น โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างหนองคล้า-อ่างบางพระ อ่างเก็บน้ำวังโตนดจึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงของน้ำ

Q : ยังมีน้ำฝนทิ้งทะเล 700 ล้าน ลบ.ม.

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็นเวลา 1 ปีเศษ โครงการเดินหน้าต่อไป คือ เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และ ครม. เพื่อให้ได้รับอนุมัติเหมือนอีกก้าวเดียว โดยกรมชลประทานเสนองบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 6,400 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2567-2572

โครงการนี้มีความสำคัญต่อพี่น้องในพื้นที่รับน้ำ คือ อ.แก่งหางแมวตอนบน และการผันน้ำไปช่วยเสริมน้ำต้นทุนลุ่มน้ำอื่น ๆ ในจังหวัดจันทบุรี การแบ่งปันไปช่วยพื้นที่ EEC ที่แนวโน้มความต้องการน้ำในเขตพื้นที่ EEC ปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นงานนโยบายของรัฐที่จะช่วยสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ เป็นงานต้นน้ำของโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการที่สำคัญ หากมองประโยชน์ของชาติ ประชาชน เป็นหลัก ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดเดินต่อไม่ได้ ที่สำคัญ

ล่าสุด พลเอกประวิตรได้ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี และมอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งดำเนินงานให้เข้าสู่การพิจารณาของ กนช. และเข้า ครม. และยืนยันที่จะผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว แสดงถึงรัฐบาลมีความตั้งใจ จริงใจ หากได้รับอนุมัติจาก ครม. จึงจะมั่นใจได้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สร้างอ่างคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร เสร็จเพียงอ่างเดียว หากก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 อ่างในลุ่มน้ำวังโตนดแล้วเสร็จ รวมกันเก็บน้ำได้เพียง 308.56 ล้าน ลบ.ม. เราส่งให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง 10% คิดจากปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จันทบุรีเฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. เก็บไว้ที่อ่าง 300 ล้าน ลบ.ม.

เราแบ่งปันน้ำไปให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพียง 70 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับเรายังต้องปล่อยน้ำฝนทิ้งทะเลอีก 700 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นควรวางท่อโครงข่ายผันน้ำกระจายไปยังพื้นที่ขาดแคลนแห้งแล้งทั่วจันทบุรี

Q : หากอ่างสร้างเสร็จมีอะไรต้องกังวลอีก

ปัญหาโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดที่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและช้างนั้น นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า กรมชลประทานได้ปรับลดพื้นที่กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้จาก 14,600 ไร่ เหลือ 11,982 ไร่ และได้สำรวจและปรับแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ระยะ 15 ปี งบประมาณ 200 ล้านบาท ดูแลช้าง ทำฝายชะลอน้ำให้ตกตะกอนเป็นแหล่งน้ำ อาหาร ทำแนวรั้วแนวเขื่อน 60 กิโลเมตร เพิ่มศูนย์ดูแลช้าง

ส่วนประชาชนเห็นด้วยกับการสร้างอ่างและจัดเงินชดเชย ดูแลเยียวยาให้ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2532 โดยกรมชลประทานตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 6,400 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2567-2572

“ผมเห็นตรงกับกรมอุทยานฯว่า ในฤดูน้ำแล้ง พื้นที่หลายพันไร่จะเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำของช้าง เหมือนอ่างเก็บน้ำประแกดในปัจจุบันที่มีช้างมากินน้ำ อาหาร 30-40 ตัว ส่วนชาวบ้านเองได้เปลี่ยนจากปลูกพืชไร่ ยางพาราที่ใช้น้ำน้อย มาปลูกไม้ผลที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่า”

หลังจากอ่างที่สร้างในลุ่มน้ำวังโตนดครบ 4 อ่าง สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการพร่องน้ำไม่ให้เกิดอุทกภัยการกระจายน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ไม่ให้ขาดแคลน ทั้งด้านเกษตรกรรม น้ำอุปโภค-บริโภค และการแบ่งปันน้ำที่เหลือในฤดูฝนไปอ่างประแสร์ เพื่อใช้ในพื้นที่ EEC และกลุ่มลุ่มน้ำวังโตนดต้องการเรียกร้องเงินกองทุนที่ภาคอุตสาหกรรมต้องคืนให้กับสังคมควรจะมากกว่า 10 สตางค์ต่อลบ.ม. กลับมาทำ CSR โดยตรงจากน้ำที่ผันไปช่วย EEC แทนที่จะต้องขอไปจากกองทุนส่วนกลางแต่ละครั้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้หรือไม่