อุบลฯชูโคพรีเมี่ยม “นิลอุบล” ดันราคาสูงกว่าปกติเท่าตัว

โคนิลอุบล

อุบลฯโชว์ศักยภาพแหล่งเลี้ยงโคอันดับ 1 ในไทย ชูโคพรีเมี่ยม “นิลอุบล” ลูกผสมสายพันธุ์แองกัส-โคพื้นถิ่นสร้างอัตลักษณ์จังหวัด ดันราคาขายสูงกว่าเนื้อโคปกติกว่าเท่าตัว แถมเลี้ยงง่ายโตเร็ว เผยความต้องการตลาดสูงต่อเนื่อง เลี้ยงไม่พอขาย

นายประมอน เขียวขำ รองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดอุบลราชธานีกำลังพัฒนาโครงการโคขุน “นิลอุบล” ซึ่งเป็นโคสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์แองกัสจากออสเตรเลีย กับสายพันธุ์พื้นถิ่นที่มีอยู่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค โดยข้อดีของสายพันธุ์แองกัสสามารถผลิตเนื้อคุณภาพสูง ให้เนื้อนุ่มมีสีแดงสวยและมีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อแบบลายหินอ่อน ให้รสชาติที่ดีกว่าวัวสายพันธุ์อื่น สามารถขุนให้ได้น้ำหนักที่ต้องการได้เร็ว

สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีออกไปได้มากเมื่อผสมกับโคพันธุ์อื่น ซึ่งเนื้อโคนิลอุบลถือเป็นเนื้อระดับพรีเมี่ยม ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการสูง หากเทียบด้านราคาเนื้อโคปกติขายอยู่ที่ 90-100 บาท/กก. หรือประเมินราคาขายตามน้ำหนักตัวและใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า 3 ปีจึงให้ผลผลิต แต่หากเป็นโคนิลอุบล ซึ่งเป็นเนื้อพรีเมี่ยมขายได้ราคาสูงมากกว่า 200 บาท/กก. และใช้เวลาเลี้ยงเพียง 1 ปี

“ตอนนี้ชื่อโคสายพันธุ์นิลอุบลเริ่มติดตลาด การเลี้ยงโคปกติเรามีคำพูดติดปากว่า 3 ปีแรก คนเลี้ยงโค 3 ปีหลังโคเลี้ยงคน แต่โคนิลอุบลใช้เวลาเลี้ยง 1 ปี เริ่มให้ผลผลิตและกำไรแล้ว โดยนำโคอายุ 15-18 เดือน น้ำหนักประมาณ 300-400 กก./ตัว นำมาขุนภายใน 1 ปี จะให้น้ำหนักเพิ่ม 600-700 กก./ตัว อายุมากที่สุดจะไม่เกิน 4 ปี

จังหวัดอุบลฯใช้สายพันธุ์แองกัสมาเป็นตัวเอก เพราะเลี้ยงง่ายได้ราคาดี เราซื้อพ่อพันธุ์มาจากออสเตรเลียในราคา 4 แสนกว่าบาท น้ำหนัก 1,200 กก. ภายในปีนี้คาดว่าจะกระจายน้ำเชื้อได้ 3,000 หลอด ไปผสมกับสายพันธุ์พื้นถิ่น และคาดหวังให้แม่พันธุ์ออกลูก ซึ่งมีสายเลือดเป็นนิลอุบล 40%”

โครงการนี้เริ่มต้นจากวิสาหกิจชุมชน 4-5 แห่ง ที่มารวมตัวกันเป็นสหกรณ์โคกระบือและแกะจังหวัดอุบลราชธานี มีสมาชิก 700 กว่าคน ขึ้นทะเบียนเลี้ยงโคไปแล้วประมาณ 160 ตัว และกำลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะสมาชิกอีกหลายรายในสหกรณ์ก็เลี้ยงแพะและแกะปะปนกันไปด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลผู้ลงทะเบียนเลี้ยงโคจากปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2565 มีจำนวนโคในพื้นที่สูงถึง 5 แสนตัว เป็นยอดการเลี้ยงโคสูงสุดอันดับ 1 ของประเทศ มีหลายสายพันธุ์

ไม่ว่าจะเป็นบราห์มัน, ชาร์โรเล่ส์, แองกัส และวัวไทยพื้นบ้าน เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯได้เซ็นรับรองสายพันธุ์นิลอุบล ที่เกิดจากการผสมสายพันธุ์แองกัสกับสายพันธุ์พื้นถิ่น ให้เป็นโคเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ปศุสัตว์จังหวัดและหอการค้าจังหวัดมีแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มสายเลือดให้คงที่ ซึ่งยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นโครงการ กว่าจะได้เลือดนิลอุบล 100% อย่างน้อยอาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี

นายประมอนบอกว่า ตลาดโคเนื้อพรีเมี่ยมแทบไม่มีคู่แข่ง เพราะมีปริมาณไม่พอขาย ความต้องการของผู้บริโภคสูงมาก ในภาคอีสานจะมีหลากหลายแบรนด์ เช่น โคขุนสุรินทร์วากิว จังหวัดสุรินทร์ โคขุนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ขณะที่โคขุนนิลอุบล ของจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นโครงการมาได้เพียง 1-2 ปี ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อทำอาหารข้นสำหรับเลี้ยงโคขุนโดยเฉพาะ นอกจากนี้เกษตรกรเพิ่งเริ่มเลี้ยงเพียง 10-50 ตัว/ราย มากที่สุดไม่เกิน 100 ตัว/ราย

ด้านการซื้อขายสำหรับโคขุนนิลอุบลจะส่งไปโรงเชือดหลักที่ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ก่อนส่งต่อไปยัง Max beef (แม็กบีฟ) สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จ.นครปฐม ที่เป็นสมาชิกอยู่เพื่อกระจายชิ้นส่วนต่าง ๆ สู่ท้องตลาด ดำเนินการมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในจังหวัดก็รับรู้โครงการนี้เกินกว่าครึ่ง ทุกคนพร้อมพัฒนาตัวเอง ติดปัญหาหลักเพียง 2 อย่าง คือ 1.เงินลงทุนค่อนข้างสูง 2.ยังเลี้ยงแบบโคสายพันธุ์ปกติที่ไม่มีตลาดมารองรับ

“ต้นทุนการเลี้ยงวัวพรีเมี่ยมจะสูงทั้งค่าอาหารข้นและค่าหญ้า ในแต่ละวัน 1 ตัวจะกินอาหารข้นประมาณ 5 กก./ตัว ราคา 10 บาท/กก. รวมทั้งหญ้าเนเปียร์สดอีก 1 บาท/กก. แต่พอขายก็ได้ราคาสูงเช่นกัน เฉลี่ย 7-8 หมื่นบาท/ตัว มีตลาดที่แน่นอน ซื้อขายสบาย ส่วนสายพันธุ์พื้นบ้านธรรมดาจะเลี้ยงตามสภาพไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง เชือดแล้วซื้อขายกันตามหมู่บ้าน ตามตลาดนัด ขายได้ราคาถูก ไม่รู้ว่าจะได้ราคาเท่าไหร่หรือขายวันไหน เสียเปรียบพ่อค้า ไม่มีตลาดที่แน่นอน”

นายมงคล จุลทรรศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตอนนี้ทางหอการค้ากำลังพัฒนาโครงการโคขุนพรีเมี่ยมนิลอุบลอย่างเต็มที่ และกำลังศึกษาช่องทางลดต้นทุนการผลิต มองหาโรงงานมันสำปะหลังที่จะนำมาทำอาหารข้น ซึ่งหลายฝ่ายกำลังร่วมกันผลักดันและมองหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรไปพร้อมกัน เชื่อว่าในอนาคตจะมีเกษตรกรเลี้ยงโคมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงโคน้ำหนักถึง 1,000 กก./ตัว และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น