พบอีกซากพะยูน ทช.เร่งหาสาเหตุก่อนสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.61 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ได้รับแจ้งจากนายยอดชาย พันธ์ครุฑ ชาวประมงในพื้นที่ ว่าพบซากพะยูนเกยตื้นอยู่ บริเวณหาดหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์กุ้ง หมู่ที่ 4 ตำบลตะกรบ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพะยูน เพศผู้ ยาวประมาณ 3 เมตร หนักประมาณ 200 กิโลกรัม สภาพซากสด ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ได้เข้าตรวจสอบและขนย้ายซากมายังศูนย์วิจัยฯ เพื่อดำเนินการผ่าพิสูจน์ซากหาสาเหตุการตายต่อไป

ถึงแม้พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 อดีตประชากรพะยูนในทะเลไทยได้ลดจำนวนลงอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมและการล่าพะยูนเพื่อเป็นอาหาร ตลอดจนการล่าเพื่อนำอวัยวะพะยูนไปเป็นเครื่องรางของขลังตามความเชื่อ ทำให้พะยูนลดจำน้อยลงอย่างรวดเร็ว จนถือได้ว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แม้ในปัจจุบัน การล่าพะยูนเพื่อเป็นอาหารได้หมดไปจากทะเลไทยแล้ว แต่การตายของพะยูนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและสาเหตุที่พบมากที่สุดคือการตายเนื่องจากติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ

ด้วยจำนวนที่เหลืออยู่ไม่มากของพะยูนนี้ ทำให้คนไทยเริ่มเห็นความจำเป็นในการอนุรักษ์พะยูนมากขึ้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการวางแผนและจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์พะยูน รวมทั้งได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์พะยูน และระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพะยูนอย่างจริงจังแล้ว