ก้าวย่าง “ชาระมิงค์” ช้าแต่ชัวร์ บุกตลาดออนไลน์ ลุยออร์แกนิกเพิ่มมูลค่า

สัมภาษณ์

“ชาระมิงค์” ชาในตำนาน ที่ทำใบชา black tea แบบอังกฤษ “ชาฝรั่ง” แห่งเดียวในประเทศไทย ธุรกิจของทุนท้องถิ่นเชียงใหม่ ที่ก้าวย่างเติบโตมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นถึง 76 ปี

แม้วันนี้ตลาดชาจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา แต่การปรับตัวถือเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งไม่ได้ ในปี 2561 จึงเป็นปีที่ “ชาระมิงค์” จะเริ่มขยับตัวอีกครั้ง  “จักริน วังวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งไร่ชาระมิงค์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

ย้อนไปราวปี 2552 เป็นปีที่ “ชาระมิงค์” เริ่มปรับตัวครั้งใหญ่ โดยปรับโครงสร้างการผลิตสู่การทำไร่ชาแบบเกษตรอินทรีย์ (organic) ซึ่งใช้เวลาราว 7-8 ปีในการพัฒนาจนได้รับรองมาตรฐานระดับสากลเมื่อปี 2558 และถือเป็นปีแรกที่ผลผลิตชาเกรดคุณภาพไร้สารเคมี 100% พื้นที่ปลูกแหล่งใหญ่นับพันไร่บนภูเขาสูง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทยอยออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จักรินบอกว่า ปัจจุบันชาระมิงค์มีพื้นที่ปลูกชาราว 1,000 ไร่ และอีก 1,000 ไร่ปลูกกาแฟอราบิก้า เป็นการปลูกแบบออร์แกนิกเช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้สารเคมีจะส่งผลเสียหลายด้าน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ สารเคมีจะไหลลงไปตามแม่น้ำปิง สภาพดินจะเสีย ทำลายป่าและจะเสื่อมโทรมในระยะยาว ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่เอาสารเคมี

“เราดูแลป่าให้เหมือนเดิมทุกอย่าง เป็นป่าอนุรักษ์ที่คงสภาพความอุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำดี และชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ตลาดชาไม่หวือหวา

จักรินยอมรับว่า ตลาดชาไม่ค่อยโต แต่ไปได้เรื่อย ๆ ไม่หวือหวา ต่างจากตลาดกาแฟที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่า การที่ชาระมิงค์ได้มาตรฐานชาออร์แกนิกก็ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างมาก โดยเฉพาะสามารถขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น โดยมีตลาดหลักคือ อเมริกาและยุโรป (เยอรมนี) ปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออก 50% และขายในประเทศ 50% มีกำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 1.5 ตัน

ทั้งนี้ ไม่มีแผนเพิ่มหรือขยายพื้นที่ปลูก เนื่องจากพื้นที่ชา 1,000 ไร่ที่ทำอยู่ เป็นสัดส่วนที่กำลังพอดี ดูแลรักษาง่าย การเพิ่มพื้นที่ปลูกทำได้ค่อนข้างยาก เพราะติดปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ ด้วยเพราะการทำไร่ชาต้องใช้เวลา ใช้น้ำ ซึ่งการปลูกชาต้องอาศัยน้ำฝน ใช้น้ำห้วยจากภูเขา ไม่มีอ่างเก็บน้ำ มีฝายน้ำล้น หน้าแล้งก็ต้องปั่นน้ำมาใช้ ในการเริ่มต้นปลูก 7 ปีถึงจะเก็บชาได้ มีระยะเวลาการเก็บอยู่ที่ราว 30 ปี ประกอบกับแรงงานในพื้นที่ไม่พอ แรงงานที่มีอยู่ถือว่าเพียงพอต่อสัดส่วนไร่ชาที่มีอยู่

“ตอนนี้เราก็คงเก็บชาไปเรื่อย ๆ แต่ราคาจะไม่หวือหวาเหมือนเดิม ได้แต่ประคองไปให้สามารถเลี้ยงชุมชนได้ และรักษาป่า เพราะชุมชนชาวเขาเผ่าลาหู่-มูเซอกว่า 200 หลังคาเรือน อยู่ได้ด้วยการทำชาและกาแฟ”

ปี”61 รุกตลาดออนไลน์

จักรินบอกว่า ปี 2561 “ชาระมิงค์” จะรุกตลาดชาอีกครั้ง แต่จะมุ่งสู่ตลาด “ออนไลน์” อย่างจริงจังเต็มรูปแบบ เพราะเป็นช่องทางตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้โดยตรงและรวดเร็ว โดยวางเป้าหมายที่ตลาดส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะนำเรื่องราว (story) ของชาจากแหล่งกำเนิดสู่ตลาด เจาะฐานตลาดในกลุ่มประเทศแถบเอเชียเป็นหลัก รสชาติ แพ็กเกจจิ้ง รูปแบบการส่งเป็นสิ่งสำคัญมาก แหล่งปลูกชาแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ชาในเมืองไทยมีค่อนข้างจำกัด แต่สามารถสร้างมูลค่า (val-ue) มากกว่าการขายเป็นล้าน ๆ กิโลกรัมเหมือนจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย

ฉะนั้นการที่ “ชาระมิงค์” นำเอาชาไทยไปขายในเอเชีย จะมีโอกาสสูงที่จะทำตลาดได้ดี ด้วยความแตกต่างของแหล่งกำเนิดชา เรื่องราวของป่า ชุมชนชาวเขาและเกษตรแบบออร์แกนิก โดยเฉพาะการปลูกชาใต้ร่มไม้ (under shade tree) ต้นชาที่อยู่ภายใต้เงาไม้จะมีสารแอนตี้ออกซิแดนต์ (antioxidant) สูง เทียบกับชาของอินเดีย ศรีลังกาคือสวนชาที่ไม่มีต้นไม้เลย ขณะที่รสชาติก็จะแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ดิน ทำให้เอนไซม์ในชาเปลี่ยน ถ้าปลูกในร่ม กาเฟอีนจะไม่มากเหมือนกลางแดด สารแอนตี้ออกซิแดนต์กับเอทานินก็จะแตกต่างกัน

ปั้นแบรนด์ใหม่

จักรินกล่าวว่า การทำตลาดชาออนไลน์ เป็นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เข้าถึงสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยในปี 2561 เตรียมแผนทำแบรนด์ใหม่เพื่อรองรับการทำตลาดออนไลน์ ที่จะนำเอาชาจากแหล่งกำเนิดสู่ตลาด ซึ่งจะ blending เป็นชาเฉพาะตัว ส่งไปขายทั่วเอเชีย ซึ่งหลาย ๆ ประเทศมีไลฟ์สไตล์ในการดื่มชา

ปัจจุบันมูลค่าตลาดของชาระมิงค์อยู่ที่ราว 100 ล้านบาทต่อปี แบ่งสัดส่วนเป็นตลาดส่งออก 50 ล้านบาท และในประเทศ 50 ล้านบาท แผนในปี 2561 จะรุกตลาดส่งออกมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้สัดส่วนของตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยตั้งเป้ายอดขายรวมจะเติบโตราว 4-5%

“ชาระมิงค์” การเติบโตที่ก้าวไปอย่างช้า ๆ แต่ยั่งยืน