เศรษฐกิจภาคเหนือ Q2/65 ทิศทางบวก ท่องเที่ยวเร่งตัว คาดดีต่อเนื่องถึง Q3

ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจภาคเหนือ Q2/65 ทิศทางบวก ภาคท่องเที่ยวเร่งตัว คาดดีต่อเนื่องถึง Q3 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว เช่นเดียวกับการบริโภคทยอยฟื้นตัวภายใต้แรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2565 เริ่มมีทิศทางบวก และผ่อนคลายดีขึ้นจากมาตรการควบคุมโรค โดยภาคการท่องเที่ยวเร่งตัวดี คาดแนวโน้มไตรมาส 3 ยังดีต่อเนื่อง

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เร่งขึ้น ขณะที่การบริโภคทยอยฟื้นตัวภายใต้แรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรและตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น ทั้งการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้าง ขณะที่การผลิตชะลอตัว ส่วนหนึ่งจากผลของนโยบาย Zero-Covid ของจีน

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาสที่ 2/2565 มี 5 ตัวชี้วัดสำคัญที่ทำให้เห็นถึงเศรษฐกิจของภาคเหนือมีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นคือ 1.การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวไทยเร่งขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และมีช่วงวันหยุดยาว 2.การบริโภคมีการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายในหมวดบริการและหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับดีขึ้น 3.การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น ตามการลงทุนเพื่อการผลิต และการก่อสร้างที่ขยายตัว 4.รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวมากขึ้น ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และราคาปรับดีขึ้น 5.การค้าชายแดนที่กลับมาขยายตัวมากขึ้น ตามการค้ากับจีนตอนใต้ที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่การค้าชายแดนด้านเมียนมาและสปป.ลาว ก็ขยายตัวต่อเนื่อง

โดยหากมองที่ภาคการท่องเที่ยว ค่อนข้างมีความชัดเจนมากถึงทิศทางที่มีแนวโน้มเป็นบวก นักท่องเที่ยวชาวไทยปรับดีขึ้น ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ส่งผลให้การเดินทางเพิ่มขึ้นทั้งทางบกและทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นหลังมาตรการเดินทางเข้าประเทศ

นายธาริฑธิ์กล่าวต่อว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือไตรมาส 2/2565 มีทิศทางที่ดี แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนือถือว่าสูงกว่าไตรมาสก่อน ตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด แนวโน้มราคาสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าพลังงานและอาหารเป็นหลัก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 คาดว่าปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพราะประชาชนสามารถปรับตัวอยู่กับ COVID-19 ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรายได้เกษตรกรยังคงขยายตัว ตลาดแรงงานที่ทยอยปรับดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ มีส่วนช่วยพยุงการบริโภค แม้จะมีปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อจะยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/2565 ที่จะส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น จากราคาสินค้าที่แพงขึ้น แม้รายได้เกษตรกรดีขึ้นและตลาดแรงงานที่เริ่มทยอยปรับดีขึ้น แต่ก็จะซื้อสินค้าได้น้อยลงและราคาแพงขึ้น ส่วนภาคธุรกิจยังคงมีแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง จากอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน