อย.แนะวิธีจับพิรุธ ATK ปลอม ทลายแหล่งผลิต พบยี่ห้อดังถูกปลอมเพียบ

ATK ปลอม

ผู้ต้องสงสัยผลิตชุดตรวจ ATK เลียนแบบยี่ห้อดัง อาทิ Singclean, TESTSEALABS, HIP, Humasis ฯลฯ โดยการพิมพ์กล่องเลียนแบบของจริง แต่ภายในเป็นชุดตรวจไม่มียี่ห้อที่นำเข้าจากจีน

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับตำรวจสอบสวนกลาง เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและจัดเก็บชุดตรวจ ATK ปลอม 2 จุด ที่ จ.นครปฐม และจ.นนทบุรี พบชุดตรวจ ATK ปลอมแปลงเลียนแบบชุดตรวจยี่ห้อดังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น TESTSEALABS, GreenSpring, Singclean, Seinofy, HIP, DEEPBLUE, Bioteke, Humasis, Ustar

และยังมีหน้ากากอนามัยยี่ห้อ HURS, เครื่องวัดออกซิเจน, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร LIANHUA QINGWEN JIAONANG รวมมูลค่าของกลางกว่า 2,000,000 บาท

โดยผู้ผลิตรายนี้ใช้วิธีลักลอบนำเข้าอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 แยกชิ้นส่วน (ตลับตรวจโควิด, น้ำยาตรวจโควิด, ไม้แยงจมูก, หลอดหยด, หลอดเก็บตัวอย่าง และกระดาษเก็บตัวอย่างน้ำลาย) มาจากประเทศจีน

จากนั้นสั่งกล่องบรรจุภัณฑ์และคู่มือภาษาไทยโดยเลียนแบบชุดตรวจ ATK ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด แล้วนำมาบรรจุลงกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นชุดตรวจ ATK สำเร็จรูปปลอมเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป

นายแพทย์ไพศาลแนะนำว่า จุดสังเกตของชุดตรวจ ATK ปลอมในครั้งนี้ อยู่ที่การแสดงรุ่นการผลิต วันที่ผลิต และวันหมดอายุที่ซองบรรจุชุดตรวจภายในกล่อง ไม่ตรงกับที่ระบุไว้บนกล่องผลิตภัณฑ์

ต่างจากชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าที่จะมีรุ่นการผลิต วันที่ผลิต และวันหมดอายุ ตรงกันทั้งที่ซองบรรจุ และกล่องบรรจุภัณฑ์

พร้อมเตือนประชาชนให้เลือกซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง จากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เช่น ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป หรือสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าถูกต้องจาก อย.

โดยตรวจสอบฉลากต้องแสดงเป็นภาษาไทย พร้อมข้อความ “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้” และมีเลขประเมินเทคโนโลยีระบุไว้บนฉลาก

ซึ่งขณะนี้ชุดตรวจ ATK (Home use) ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ทั้งหมด มี 355 รายการ สามารถตรวจสอบรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx

อย.เช็คชุดตรวจ ATK

ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ [email protected]

ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1.ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิต มาตรา 15 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม มาตรา 46 (1) ประกอบ ม. 47 (1)(2) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่จดแจ้ง มาตรา 19 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ
ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ฉลากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 44 วรรค 2 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

5.ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม มาตรา 46 (1) ประกอบมาตรา 47 (1) ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด มาตรา 46/1 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7.ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับจดแจ้ง มาตรา 46/1 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ดังนี้

8.ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 91 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

9.ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ไม่ได้แจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้จดแจ้ง มาตรา 58 (4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พร้อมเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวได้รับความเสี่ยงจากการแปลผลที่ผิดพลาด เสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค